×

ปรากฏการณ์แรงงานต่างด้าว เมื่อเมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ทะลักไทย กำลังบอกอะไร ทำไมคนในถึงอยากออก คนนอกถึงอยากเข้า?

07.03.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 min read
  • ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวในไทยมีจำนวนถึง 3.4 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 93% ล้วนมาจากเพื่อนบ้านอาเซียน โดย 4 อันดับสูงสุดคือ เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว และฟิลิปปินส์
  • ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤตโครงสร้างประชากรโลกที่เปลี่ยน เมื่อสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและอัตราการเกิดต่ำลงต่อเนื่อง
  • สภาพัฒน์ระบุ เศรษฐกิจไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานรุนแรง โดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. 
  • รูปแบบแรงงานเมียนมาเข้ามาไทยเปลี่ยนแปลงจากอดีต เน้นเข้ามาทำงานอุตสาหกรรมหนัก สู่ปัจจุบันกลับเป็นกลุ่มวัยหนุ่มสาวคุณภาพเข้ามาทำงานและเรียนในไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมองว่าเป็นโอกาสสมองไหลเข้าไทย

ปัจจุบันสถิติแรงงานต่างด้าวมากกว่า 93% ในไทยเป็นแรงงานเพื่อนบ้านอาเซียน ภาคเอกชนต่างเห็นพ้องว่าการรักษาแรงงานต่างด้าวเป็นเสมือนเป็นสมบัติ (Asset) ท่ามกลางภาวะที่โครงสร้างประชากรทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยและอัตราการเกิดต่ำ 

 

ขณะเดียวกันในอดีตไทยมักจะพึ่งพาในภาคผลิตและบริการป้อนอุตสาหกรรมหนัก แต่ระยะหลังคนหนุ่มสาวคุณภาพทักษะสูงอย่างเมียนมาก็เข้ามาศึกษาในไทยมากขึ้น นี่อาจเป็นโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตหรือไม่ 

 

 

“ต้องยอมรับความจริงว่า แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย รัฐบาลไทยจึงควรรีบเสาะแสวงหาความมั่นคงด้านแรงงาน เพราะแรงงานต่างด้าวเป็นเสมือนขุมทรัพย์ (Asset) ที่ต้องรักษาไว้ให้ได้”

 

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH

 

ตามข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงแรงงาน (ณ วันที่ 30 มกราคม 2567) แสดงให้เห็นว่า  ไทยมีต่างด้าวที่ ‘ได้รับอนุญาต’ ให้ทำงาน คงเหลือทั่วประเทศอยู่ที่ 3.41 ล้านคน โดยจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นอาเซียนกว่า 3.18 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 93.3% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด โดยแบ่งเป็น

 

  • เมียนมา 2,387,461 คน
  • กัมพูชา 501,617 คน
  • สปป.ลาว 265,971 คน
  • ฟิลิปปินส์ 20,498 คน
  • เวียดนาม 5,837 คน
  • มาเลเซีย 2,924 คน
  • อินโดนีเซีย 2,322 คน
  • สิงคโปร์ 1,616 คน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

แรงงานต่างด้าว 3.4 ล้านคน ถือว่ามากหรือยังน้อยไป?

 

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าจำนวนดังกล่าวถือว่า ‘ไม่เยอะ และไม่ผิดปกติ’ เนื่องจากช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ที่ลดลงไปเป็นผลมาจากการระบาดของโควิดที่ทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับถิ่นฐาน

 

 

ดังนั้น แรงงานจำนวน 3.4 ล้านคน ถือเป็นจำนวนไม่เยอะ เนื่องจากวันนี้ภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังฟื้นตัว และภาคบริการก็ยังต้องการกำลังแรงงานอีกมาก ขณะที่ภาคเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน (Labour Shortage) อย่างหนัก ท่ามกลางการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ของประเทศไทย และอัตราการเกิดที่น้อยลง

 

เปิดสถิติแรงงานต่างด้าวย้อนหลัง 10 ปี

 

  • มกราคม ปี 2567: 3,415,774 คน
  • มกราคม ปี 2566: 3,310,090 คน
  • มกราคม ปี 2565: 2,352,063 คน
  • มกราคม ปี 2564: 2,181,344 คน
  • มกราคม ปี 2563: 3,002,817 คน
  • มกราคม ปี 2562: 3,288,079 คน
  • มกราคม ปี 2561: 2,149,328 คน
  • มกราคม ปี 2560: 1,470,225 คน
  • มกราคม ปี 2559: 1,451,817 คน
  • มกราคม ปี 2558: 1,355,258 คน

 

แรงงานต่างด้าว ‘แย่งงาน’ คนไทย?

 

พจน์ บอกอีกว่า สำหรับประเด็นที่ว่า แรงงานต่างด้าวกำลังแย่งงานคนไทยหรือไม่นั้น โดยพื้นฐานแล้วนายจ้างไทยต้องการจ้างแรงงานไทยเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่นายจ้างไทยพบตอนนี้คือ ‘ไม่สามารถหาแรงงานไทยได้’ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักที่แรงงานไทยไม่ชอบทำ

 

“ต้องยอมรับความจริงว่า แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย” พจน์กล่าว 

 

แนะรัฐบาลแสวงหาความมั่นคงด้านแรงงาน

 

เมื่อมองไประยะข้างหน้า ท่ามกลางอัตราการเกิดที่น้อยลงและการเข้าสู่สังคมสูงวัย พจน์แนะนำว่า รัฐบาลควรวางนโยบายระยะยาวว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดตอน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

“ตอนนี้ทุกประเทศกำลังประสบปัญหาเหมือนกัน คือการเข้าสู่สังคมผู้อายุและประชากรเกิดน้อยลง จึงต้องหาแรงงานต่างด้าวเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นในระยะต่อไปไทยก็จะถูกแย่งแรงงานต่อไปอีก รัฐบาลไทยจึงควรรีบเสาะแสวงหาความมั่นคงด้านแรงงานให้ได้ แรงงานต่างด้าวเหล่านี้เป็นเสมือนขุมทรัพย์ (Asset) ที่ต้องรักษาไว้ให้ได้ ”

 

เครดิตภาพ: Roberto Westbrook/Getty Images 

 

หนุ่มสาวปัญญาชนเมียนมาสมองไหลเข้าไทย 

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา และในขณะนี้เมียนมาใช้นโยบายการ Recruit (เกณฑ์ทหาร) เรียกเยาวชนกลับประเทศนับกว่าล้านคน ส่งผลให้กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ไม่อยากเข้าสู่การเกณฑ์ทหารหลบหนีและทะลักเข้ามาในไทยในเวลานี้มากพอสมควร ซึ่งไม่ใช่เพียงวัยแรงงาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะต้องมีมาตรการสกัดลักลอบการนำเข้า 

 

แต่ความน่าสนใจของแรงงานเมียนมาในวันนี้ที่ทะลักเข้าไทยเป็นรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป เยาวชนที่มีทุนทรัพย์อยากจะเข้ามาเรียนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้หารือพูดคุยกับมหาวิทยาลัยในไทยจำนวนมากพร้อมที่จะเปิดกว้างเพื่อเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมแรงงานและศึกษาในไทย

 

“ตรงนี้ผมมองเป็นโอกาสที่ดีที่แรงงานคุณภาพเข้ามาในไทย เรียกว่าสมองไหลเข้ามาในไทยบ้าง เพราะที่ผ่านมาเรามักจะพบภาวะสมองไหลออกจากไทย วันนี้เราจะได้คนเก่งๆ ดีๆ คนหนุ่มสาว ที่ไม่ใช่แรงงานในอุตสาหกรรมหนักอย่างในสมัยก่อนเข้ามาล้วนๆ”

 

อนาคตไทยประชากรวัยทำงานจะลดลงยิ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทย

 

อีกทั้งในอนาคตอันใกล้เนื่องจากประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง ปีที่แล้วเด็กเกิดใหม่ลดลง อัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เราเริ่มเห็นจำนวนประชากรที่ลดลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องในทุกๆ ปี ปีที่แล้ว 30,000 กว่าคน ถือว่าเยอะ

 

“ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อนาคตประชากรวัยทำงานจะแย่ ต่อไปจะยิ่งมีปัญหา เพราะยิ่งเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะยิ่งทำให้ขาดแคลน ดังนั้น เราต้องการแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว ไม่ต่างกับสหรัฐฯ เม็กซิโก แคนาดา ที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว เพื่อเสริมภาคการผลิตและภาคการบริการ ต่อไปนี้ไทยอาจได้รับแรงงานที่ไม่ใช่แบบเดิมๆ เราจะได้กลุ่มปัญญาชนเข้ามาเป็นมันสมองประเทศด้วย”

 

 

ทางด้าน จีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เมื่อเร็วๆ นี้หอการค้าจังหวัดกาญจนบุรีรายงานสถานการณ์แรงงานเมียนมาไปยังนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าวจากเมียนมาทะลักเข้ามายังประเทศไทยต่อเนื่อง ซึ่งได้ตั้งศูนย์ประสานหน่วยงานเพื่อสกัดกั้นลักลอบเข้ามายังราชอาณาจักรอย่างเข้มงวด 

 

อีกทั้งจำนวนแรงงานเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาครที่กำลังหมดสัญญาถึงกำหนดต้องกลับ แต่ยังมีตกค้างอยู่เพราะคนอยากอยู่ต่อ จึงอยู่ระหว่างการหาทางออกว่าจะบริหารจัดการอย่างไร 

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักศึกษาต่างด้าวที่เข้ามาศึกษาในไทยมีจำนวนมาก อยากอยู่ไทยต่อ ไม่อยากกลับไปเมียนมาอีกจำนวนมากด้วย

 

ไทยขาดแคลนแรงงานแค่ไหน ?

 

เมื่อเจาะเบื้องลึกถึงจำนวนแรงงานในไทยปัจจุบัน ข้อมูลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุดระบุว่า ไทยกำลังปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในระดับ ปวช. และ ปวส. 

 

จากสถิติความต้องการแรงงานของกรมการจัดหางานพบว่า ตำแหน่งงานว่างในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 1.79 แสนตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.2% แต่มีผู้สมัครงานเพียง 9,358 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างที่ 0.14% หรือตำแหน่งงาน 100 ตำแหน่ง มีผู้สมัครเพียง 14 คน 

 

โดยสัดส่วนดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งจากสถิติความต้องการแรงงานรายจังหวัดในเดือนธันวาคม 2566 พบผู้สมัครงานต่ำกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 และ 7.1 เท่า ตามลำดับ

 

หมายความว่า หากนายจ้างเปิดรับสมัครผู้ทำงานระดับ ปวช. 100 ตำแหน่ง จะมีคนสมัครเพียง 14.7 คนเท่านั้น และการเปิดรับสมัครผู้ทำงานระดับ ปวส. 100 ตำแหน่ง มีคนสมัครเพียง 14.06 คน

 

 

อย่างไรก็ตาม วันนี้แรงงานไทย (หมายถึง ประชากรที่อยู่ในวัยที่สามารถทำงานได้ และพร้อมที่จะทำงาน โดยไม่คำนึงว่าจะมีงานทำหรือไม่มีงานทำ แต่ละประเทศจะกำหนดอายุประชากรวันทำงานไว้แตกต่างกันตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคม สำหรับประเทศไทยกำหนดอายุไว้ตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป) มีอยู่ 40.7 ล้านคน อาจกำลังลดลงเรื่อยๆ เมื่อดูจากโครงสร้างของประชากรที่นับวันจะทยอยลดลงและสังคมผู้สูงอายุ แรงงานหนุ่มสาวอาจหายไปในอนาคต และความจริงของสังคมไทยไม่ใช่ทุกคนจะทำงานจริงๆ บ้างก็เรียนหนังสือ บางคนเกษียณแล้ว 

 

เศรษฐกิจไทยอาจต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากขึ้นหรือไม่ การวางนโยบายเหล่านี้จะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X