“กระบวนการทำงานตรวจคัดกรองชาวต่างประเทศเข้าราชอาณาจักรของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีเวลาเพียง 45 วินาทีเท่านั้น ซึ่งไม่อาจตัดสินได้เลยว่าบุคคลที่ผ่านด่านไปแล้วจะเข้าไปทำสิ่งไม่ดีหรือไม่”
ไม่ว่าจะเป็นกรณีชายต่างชาติที่จังหวัดภูเก็ตสร้างความเดือดร้อนให้แพทย์สาวจนนำไปสู่การไล่รื้อที่พัก หรือจะเป็นกรณียกพวกรุมทำร้าย LGBTQIA+ ชาวไทยที่ย่านท่องเที่ยวกลางเมืองกรุงเทพฯ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วเหล่านี้ เมื่อไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชาติ เราจะจัดการไม่ได้จริงหรือ?
THE STANDARD พูดคุยกับ พ.ต.อ. ปริญญา กลิ่นเกษร รองผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ถึงวิธีการคัดกรองบุคคลต่างประเทศเข้าไทย ไปจนถึงมาตรการจัดการขั้นเด็ดขาดเมื่อคนต่างชาติเหล่านั้นเข้าข่ายเป็นภัยกับคนในชาติ
‘45 วินาที’ เงื่อนไขการทำงานตำรวจ
พ.ต.อ. ปริญญา อธิบายถึงวิธีการคัดกรองบุคคลเข้าราชอาณาจักรว่า ตามหลักสากลของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทั่วโลก เมื่อบุคคลใดก็ตามเดินทางถึงประเทศปลายทางแล้วผ่านขั้นตอนตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบตัวบุคคลนั้นเทียบกับหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ เดินทางเข้ามาด้วยวีซ่าประเภทใด เป็นบุคคลตามหมายจับหรือไม่ และติดแบล็กลิสต์หรือไม่
ถ้าไม่มีเงื่อนไขตามที่กล่าวในข้างต้นเจ้าหน้าที่ต้องให้บุคคลนั้นเข้าประเทศได้ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาเพียง 45 วินาทีเท่านั้นที่จะต้องตรวจสอบและอนุญาตให้เสร็จ
ถือวีซ่าท่องเที่ยวอย่างไรให้ติดแบล็กลิสต์
พ.ต.อ. ปริญญา กล่าวต่อว่า หากเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่าท่องเที่ยวจะไม่สามารถประกอบกิจการและทำงานใดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ได้ ซึ่งเรื่องนี้มีความผิดถึงขั้นเพิกถอนวีซ่าและส่งตัวกลับประเทศทันที เพราะถือว่าเป็นการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
และขณะเดียวกัน หากงานนั้นเข้าข่ายเป็น ‘การทำงานที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้’ นอกจากการถูกเพิกถอนวีซ่าแล้ว จะถูกเพิ่มรายชื่อในแบล็กลิสต์ของประเทศด้วย
FYI:
งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ตามบัญชีที่ 1 ของประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ได้แก่
- งานแกะสลักไม้
- งานขับขี่ยานยนต์ที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกลในประเทศ ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ งานขับรถยก (Forklift)
- งานขายทอดตลาด
- งานเจียระไนเพชร, พลอย
- งานตัดผม, เสริมสวย
- งานทอผ้าด้วยมือ
- งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ
- งานทำกระดาษสาด้วยมือ
- งานทำเครื่องเขิน
- งานทำเครื่องดนตรีไทย
- งานทำเครื่องถม
- งานทำเครื่องทอง, เงิน, นาก
- งานทำเครื่องลงหิน
- งานทำตุ๊กตาไทย
- งานทำบาตร
- งานทำผ้าไหมด้วยมือ
- งานทำพระพุทธรูป
- ทำร่มกระดาษ, ผ้า
- งานนายหน้า, ตัวแทน ยกเว้นในธุรกิจการค้าหรือการลงทุนต่างประเทศ
- งานนวดไทย
- งานมวนบุหรี่ด้วยมือ
- งานมัคคุเทศก์
- งานเร่ขายสินค้า
- งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ
- งานสาวบิดเกลียวไหม
- งานเลขานุการ
- งานบริการทางกฎหมาย
ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 กำหนดว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ
วีซ่าเมื่อถูกถอน ไม่มีโอกาสที่สองให้กู้กลับ
เมื่อถามถึงกรณีบุคคลที่ถูกเพิกถอนวีซ่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป พ.ต.อ. ปริญญา อธิบายว่า บุคคลนั้นจะจัดอยู่ในสถานะผู้ต้องกักทันที เพื่อรอเข้าสู่การส่งตัวกลับประเทศต้นทาง ตามหมวด 6 การส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะถูกควบคุมตัวไปอยู่ในสถานที่พักชั่วคราวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ทั้งนี้ ขณะที่บุคคลนั้นถูกกักตัวอยู่ยังมีสิทธิที่จะขอยื่นประกันตัวเพื่อไปสู้คดีที่ถูกดำเนินอยู่ได้
แต่เมื่อการเพิกถอนวีซ่าสำเร็จบริบูรณ์แล้ว คนคนนั้นจะไม่สามารถยุติการเพิกถอนได้ จะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทางทันที ไม่ว่าบุคคลนั้นทำธุรกรรมหรือธุรกิจใดไว้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องบริหารจัดการภายในบริษัทให้ได้
พ.ต.อ. ปริญญา กล่าวต่อว่า การจะเพิกถอนวีซ่าของบุคคลหนึ่งคดีความจะต้องดำเนินให้ถึงที่สุดก่อน ต้องเป็นการลงโทษจำคุกเท่านั้น ไม่ใช่แค่การรอลงอาญาหรือโทษปรับ แต่อีกเงื่อนไขคือ ถ้าถูกตัดสินว่าเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ก็สามารถถูกเพิกถอนวีซ่าได้เช่นกัน
FYI:
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ระบุลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้
- ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและสมบูรณ์อยู่ หรือมีแต่มิได้รับการตรวจลงตราจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย
- ไม่มีปัจจัยยังชีพตามสมควรแก่กรณีที่เข้ามาในราชอาณาจักร
- เข้ามาเพื่อทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการคนต่างด้าว
- วิกลจริตหรือมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎกระทรวง
- ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีน
- เคยได้รับโทษจำคุก
- มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมหรือถูกรัฐบาลต่างประเทศออกหมายจับ
- มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก ค้ายาเสพติด ลักลอบหนีภาษีศุลกากร
- ไม่มีเงินติดตัวหรือไม่มีประกันตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
- รัฐมนตรีไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 16
- ถูกรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศเนรเทศหรือเพิกถอนสิทธิการอยู่ในราชอาณาจักร
บทเรียนเคสฝรั่งภูเก็ต – LGBTQIA+ ฟิลิปปินส์
เมื่อถามว่า เราสามารถป้องกันหรือทำอะไรได้บ้างเพื่อคัดกรองใครก็ตามที่เข้ามาในประเทศไทย พ.ต.อ. ปริญญา กล่าวย้ำกระบวนการทำงานตรวจคัดกรองชาวต่างประเทศเข้าราชอาณาจักรของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่า เจ้าหน้าที่มีเวลาเพียง 45 วินาทีเท่านั้น ซึ่งเวลาดังกล่าวไม่อาจตัดสินได้เลยว่าบุคคลที่ผ่านด่านไปแล้วจะเข้าไปทำสิ่งไม่ดีหรือไม่
“ที่ผ่านมาชาวฟิลิปปินส์ที่เข้ามาท่องเที่ยวและทำงานถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยมีจำนวนมาก กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น” พ.ต.อ. ปริญญา กล่าว
เมื่อถามว่า จากนี้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต้องเน้นย้ำการติดตามดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างไรบ้าง พ.ต.อ. ปริญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องการบูรณาการของหน่วยงานเพื่อตรวจสอบ เนื่องด้วยปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ เจ้าหน้าที่ต้องตรวจอนุญาตด้วยมาตรฐานพื้นฐาน ตม. สากลให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วินาที
แต่ทั้งนี้ ตำรวจต้องตามตรวจสอบต่อว่าบุคคลเหล่านั้นขณะอยู่ในราชอาณาจักรมีพฤติกรรมหรือพฤติการณ์อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีนโยบายมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ที่จะให้เจ้าหน้าที่วางกรอบพื้นที่เสี่ยงว่าจะมีต่างชาติกระทำผิดกฎหมาย รวมไปถึงเฝ้าระวังสัญชาติที่สุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมายก่ออาชญากรรม
รวมทั้งการตรวจสอบที่พักอาศัยทั้งแบบโรงแรมและที่พักทั่วไปว่าให้ที่พำนักแก่บุคคลใดบ้าง ทำตามกฎหมายหรือไม่ และสั่งการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ลงเก็บข้อมูลในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับชาวต่างประเทศในประเทศไทยสามารถแจ้งเรื่องได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานีตำรวจในพื้นที่ ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้ทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ศาลแขวงฯ สั่งปรับชาวฟิลิปปินส์ 10,000 บาท คดีรุมทำร้าย 6 คนไทย รับสารภาพเหลือปรับ 5,000 บาท
- จังหวัดภูเก็ต ส่งหนังสือถึง ตม. ขอให้เพิกถอนหนังสือเดินทางฝรั่งเตะหมอ โดยด่วน