เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์และบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตหลายแห่ง ประกาศการเตรียมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทเพิ่มเติม
รายละเอียดสำคัญของการประกาศในครั้งนี้คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 รายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต Visa กับ Mastercard ในการซื้อสินค้า และ/หรือ บริการด้วยสกุลเงินบาท ที่ร้านค้าและร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ รวมทั้งการกดเงินสดด้วยสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ ‘ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท’ ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย/ยอดกดเงินสด
การประกาศครั้งนี้มาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่านี่เป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคที่ต้องจ่ายมากขึ้นหรือไม่? เพราะในประกาศไม่ได้ระบุถึงเหตุผลที่ชัดเจนที่ต้องการจัดเก็บ โดยคาดว่า บริการต่างๆ ที่ลูกค้าต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจะมีทั้งแพลตฟอร์มอย่าง Netflix, Spotify, Facebook, Google และ Apple เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ถึง ‘อัลกอริทึม’ จะเดาใจไม่ได้ แต่ Facebook และ Instagram ยังครองแชมป์งบโฆษณาดิจิทัลของไทยกว่า 8,183 ล้านบาท แม้ลดลงจากปีก่อนหน้า 6%
- ‘MI GROUP’ เผย 6 ธุรกิจเทงบไม่หยุด เน้นลงสื่อออนไลน์มากกว่า TV แต่เม็ดเงินโฆษณาปี 2024 โตเล็กน้อย 4% ผลพวงหนี้ครัวเรือน-กำลังซื้อซบ
- ธุรกิจ SME ต้องระวัง! บูสต์โพสต์ Facebook หรือ Instagram ผ่าน iOS จะต้องจ่ายเพิ่ม 30% แถมหักเงินล่วงหน้าด้วย
- ‘สรรพากร’ เผยเก็บภาษี e-Service จากแพลตฟอร์มต่างชาติ 5 เดือนได้แล้วกว่า 3 พันล้าน
หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจสำหรับ THE STANDARD WEALTH คือ 1% ของยอดใช้จ่ายที่ว่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อบรรดาแบรนด์และเอเจนซีที่ใช้เงินสำหรับซื้อโฆษณาในแพลตฟอร์มดิจิทัลบ้าง
“ผมคิดว่า สำหรับแบรนด์และเอเจนซีใหญ่ๆ น่าจะไม่กระทบเท่าไร เพราะส่วนใหญ่เป็นระบบวางบิลอยู่แล้ว” ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH พร้อมเสริมว่า “ผลกระทบจริงๆ น่าจะเกิดขึ้นกับธุรกิจ SMEs มากกว่า”
ความคิดเห็นของภวัตเป็นไปในทิศทางเดียวกับแหล่งข่าวที่อยู่ในดิจิทัลเอเจนซีรายหนึ่งที่บอกว่า เบื้องต้นนั้นบริษัทน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากค่ายิง Ads เพราะใช้การตัดจากบัตร AMEX (American Express) อยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในประกาศที่จะถูกเก็บ 1% ขณะเดียวกันการเป็นเอเจนซีขนาดใหญ่ก็จะใช้ระบบวางบิลกับแพลตฟอร์มโดยตรงอยู่แล้ว
“คนที่กระทบจริงๆ น่าจะเป็นธุรกิจ SMEs ที่ยิง Ads เองมากกว่า เพราะหากใช้ 1 ล้านบาทก็ต้องจ่ายเพิ่ม 10,000 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถนำไปใช้กับการยิงโฆษณาได้ไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่ามีเป้าหมายเพื่ออะไร” แหล่งข่าวกล่าว
ภวัตให้ความเห็นเพิ่มว่า สำหรับ 1% ที่เพิ่มขึ้นมานั้น แม้จะดูไม่เยอะ แต่ก็มีนัยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับธุรกิจ SMEs ที่ต้องยิง Ads ด้วยตัวเอง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเก็บต้นทุนนี้ไว้กับตัวเองหรือผลักไปสู่ผู้บริโภค
กลางปีที่แล้ว สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ประเมินว่า ในปี 2566 แพลตฟอร์มและสื่อดิจิทัลในประเทศไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านโฆษณามากถึง 28,999 ล้านบาท โดยตัวเลขที่เติบโตขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 13% โดยช่องทางที่นักการตลาดลงทุนในโฆษณาดิจิทัลสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- Meta (Facebook และ Instagram) 8,183 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 6%
- YouTube 4,751 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 34%
- วิดีโอออนไลน์ 2,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4%
- การลงทุนทางด้านการสร้างสรรค์ผลงานหรือ Creative 2,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 32%
- TikTok 2,048 ล้านบาท เติบโตขึ้น 95%
“ตัวเลข 28,999 ล้านบาท เป็นเพียงการเก็บข้อมูลจากเอเจนซีขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ถ้าให้ประเมินจริงๆ คิดว่าเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลจริงๆ จะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว ซึ่งทั้งหมดมาจากธุรกิจ SMEs และแบรนด์เล็กๆ ทั้งนั้น”
อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจ SMEs นั้น ความท้าทายในการที่จะยิง Ads ด้วยตัวเองยังไม่หมดเท่านั้น เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Meta ได้ออกมาเตือนธุรกิจขนาดเล็กที่ลงโฆษณาบน Facebook และ Instagram ผ่าน iOS ว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 30% ซึ่งเป็นกฎของ Apple
“เราจึงแนะนำให้ธุรกิจขนาดเล็กซื้อโฆษณาผ่านเว็บเบราว์เซอร์แทนที่จะซื้อผ่านแอปมือถือ” Meta กล่าว โดยนโยบายใหม่ของ Apple กำหนดให้ผู้ลงโฆษณาต้องใช้ฟีเจอร์ In-App Purchase เมื่อใดก็ตามที่มีการชำระเงินเพื่อ ‘บูสต์โพสต์’ บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการเพิ่มการมองเห็นเนื้อหานั้นๆ
นโยบายใหม่ของ Apple จะมีผลบังคับใช้ในสหรัฐอเมริกาก่อน จากนั้นจึงขยายไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่กฎนี้เมื่อไร ซึ่งหากมาถึงแน่นอนว่าจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจ SMEs ที่ยังไม่เชี่ยวชาญการซื้อโฆษณามากพอ
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของภาครัฐนั้น ที่ผ่านมาก็พยายามดึงให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนในไทย แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลมากนั้น จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service: VES)
ภาษี e-Service ซึ่งหมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จัดเก็บจากการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) จากต่างประเทศ รวมไปถึงผู้ประกอบการหรือแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่มีรายได้จากบริการ e-Service ในไทย 1.8 ล้านบาทขึ้นไป
สำหรับตัวอย่างบริการ e-Service รวมไปถึง โฆษณาออนไลน์, การขายสินค้าออนไลน์, บริการสมาชิกเพลง-หนัง-เกมส์, บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง, แพลตฟอร์มจองที่พัก-ตั๋วเดินทาง เป็นต้น
กรมสรรพากรให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH โดยระบุว่า นับตั้งแต่ ภาษี e-Service มีผลบังคับใช้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีดังกล่าว (รวมภาษีท้องถิ่น) ไปได้แล้วรวม 17,199 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น
- ปีงบประมาณ 2567 (4 เดือนแรก: ตุลาคม 2566 – มกราคม 2567) อยู่ที่ 2,591 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – มิถุนายน 2566) อยู่ที่ 7,475 ล้านบาท
- ปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) อยู่ที่ 7,133 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ภาษี e-Service ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 แต่กรมสรรพากรระบุว่า มีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการออนไลน์จากต่างประเทศ เริ่มชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรใน ‘เดือนตุลาคม 2564 เป็นเดือนแรก’