ธนาคารโลก (World Bank) เตรียมปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทย ปี 2567 อีกครั้งในรายงานที่จะเผยแพร่ช่วงเดือนเมษายนนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.2% มีแนวโน้มจะเติบโตลดลง โดยมีสาเหตุสำคัญจากทั้งงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้ากว่าคาด รวมทั้งตัวเลขการส่งออกที่ต่ำกว่าคาด
ย้อนไปเมื่อปี 2566 ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยลงต่อเนื่อง จากเดือนเมษายนที่เคยประเมินไว้ 3.6% มาเหลือ 3.5% ในเดือนตุลาคม และล่าสุดเหลือ 3.2% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก เปิดเผยว่า “ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสำหรับรายงานที่จะเปิดเผยช่วงก่อนกลางเดือนเมษายนนี้ ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นการปรับประมาณการลง”
อย่างไรก็ตาม เกียรติพงศ์ยังไม่ได้เปิดเผยชัดเจนว่าการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2567 จะทำให้ตัวเลขลดลงมาต่ำกว่า 3% หรือไม่ เพียงแต่ให้เหตุผลของแนวโน้มในการปรับลงว่าเกิดจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก
ปัจจัยภายในที่กดดันการเติบโตคือเรื่องของงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้ากว่าที่คาดไว้ รวมทั้งการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ ส่วนปัจจัยภายนอกคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกช้ากว่าที่คาด ทำให้ตัวเลขการส่งออกย่ำแย่กว่าที่ประเมินไว้
การทบทวนประมาณการครั้งนี้ไม่ได้เป็นผลจากการที่โครงการ Digital Wallet อาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้รวมไว้ในสมมติฐานตั้งแต่ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกแนะนำให้รัฐบาลมองหาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยระยะยาวมีแนวโน้มจะเติบโตเฉลี่ย 3% ต่อปี แต่สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งทำคือมองหาการเติบโตใหม่ๆ
“แม้ไทยจะเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่อย่าง EV แต่เพียงแค่นี้ไม่พอที่จะทำให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง”
ปัญหาหนึ่งของการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในมุมมองของ ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มองว่า “ผมยังไม่เห็นการปฏิรูปขนานใหญ่เกิดขึ้นในไทย ไม่ใช่แค่เรื่องของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ แต่เป็นการปฏิรูปในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา นวัตกรรม หรือทุนมนุษย์ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาเพิ่ม”
การจะเป็นประเทศรายได้สูงไม่ใช่แค่การมี GDP สูงกว่าประเทศอื่นๆ แต่เป็นเรื่องของสิ่งที่เป็น สิ่งที่มี สภาพสังคม รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาการเติบโตของไทยพึ่งพิงการท่องเที่ยวและปัจจัยอื่นๆ อีกเพียงไม่กี่ปัจจัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไทยเจอวิกฤตขาดแคลนทักษะ World Bank ประเมินความเสียหายสูงถึง 20% ของ GDP
- หนี้ท่วมไทย! สัดส่วนหนี้ทุกภาคส่วนทะลุ 264% ต่อ GDP สูงสุดในอาเซียน