ในขณะที่ ‘สิงคโปร์’ กำลังเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการเป็นเจ้าภาพคอนเสิร์ต The Eras Tour ของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ซึ่งถูกชี้ว่าเป็นเกียรติยศที่แลกมาด้วยต้นทุนสูงลิ่ว
เบื้องต้นมีรายงานว่าค่าใช้จ่ายในการดึงให้คอนเสิร์ตทั้ง 6 รอบจัดขึ้นเฉพาะในสิงคโปร์อาจสูงถึง 24 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 618 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม เอ็ดวิน ตง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชนของสิงคโปร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานี CNA ของทางการว่า ตัวเลขจริง ‘ไม่ได้สูงขนาดนั้น’ แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยยอดเงินที่ใช้ไป
ขณะที่ CNA ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะอยู่ที่ราวๆ 2-3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 67-100 ล้านบาท) สำหรับการแสดงทั้ง 6 รอบ ซึ่งในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวยังได้ระบุว่า “เริ่มต้นเราวางแผนไว้ 3 รอบ เมื่อเปิดขายตั๋วก็ได้รับความนิยมอย่างเห็นได้ชัด เราก็เลยใช้ทางเลือกเพิ่มอีก 3 รอบ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมถึงได้จัดที่สิงคโปร์ 6 รอบ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สิงคโปร์มีดีตรงไหนนะ? ล้วงเหตุผลที่ Taylor Swift, Coldplay และลิเวอร์พูล เลือกพวกเขาก่อนประเทศอื่น
- สส. ฟิลิปปินส์ ร้องรัฐบาลประท้วงสิงคโปร์ทุ่มเงินผูกขาดคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์
- จับตา ‘Concert Economics’ เครื่องจักร (ใหม่) ดัน GDP สิงคโปร์โตเข้าเป้า
ประเด็นเงินที่ใช้สนับสนุนการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้ถูกเปิดเผยหลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าได้รับข้อมูลจาก AEG ผู้จัดคอนเสิร์ต ว่ารัฐบาลสิงคโปร์เสนอเงินสนับสนุนสูงสุด 100 ล้านบาทต่อคอนเสิร์ต 1 รอบ (รวมแล้ว 500 ล้านบาท) แลกกับเงื่อนไขที่ว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะไม่ไปแสดงที่อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสิงคโปร์นับเป็นจุดหมายปลายทางเดียวของเธอในเอเชียนอกเหนือจากประเทศญี่ปุ่น
คำพูดดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งแฟนคลับหรือหน่วยงานรัฐบาล อย่างในฟิลิปปินส์มีสมาชิกรัฐสภาออกมาตำหนิการกระทำนี้ และระบุว่า ‘เพื่อนบ้านที่ดีไม่ทำแบบนี้’ พร้อมเรียกร้องให้มีการประท้วงอย่างเป็นทางการ
หาตั๋วให้ได้ ใช้เงินเท่าไรก็ยอม
ชื่อของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นที่รู้จักดีทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรราว 700 ล้านคน ดังนั้นการที่ทัวร์ทั้งหมดจัดในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องค่าครองชีพสูงจึงสร้างความผิดหวังให้แฟนคลับทั่วภูมิภาค
ค่าเงินที่แข็งแกร่งของสิงคโปร์เป็นอุปสรรคหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยว แต่หลายคนก็กัดฟันทนเพื่อโอกาสได้ชมศิลปินที่รัก ซึ่งแฟนคลับหลายคนโดยเฉพาะจากจีนและเขตปกครองต่างๆ ทยอยบินมาถึงสนามบินชางงีของสิงคโปร์ตลอดทั้งสัปดาห์ เนื่องจากไม่มีการแสดงในจีน สิงคโปร์จึงเป็นทางเลือกที่ใกล้เคียงที่สุด
แฟนคลับหญิงคนหนึ่งที่เดินทางมาจากเซินเจิ้นบอกกับ BBC ว่าเธอและเพื่อนจ่ายค่าตั๋วไปคนละ 1,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 31,000 บาท) และต้องประหยัดด้วยการไปพักที่บ้านเพื่อนแทนที่จะพักโรงแรมซึ่งราคาพุ่งกระฉูด
อย่างโรงแรม Marina Bay Sands ชื่อดังของสิงคโปร์ได้ขายแพ็กเกจคอนเสิร์ตซึ่งรวมถึงตั๋ว VIP 4 ใบ และที่พักในห้องสวีท 3 คืน ในราคา 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) แม้จะราคาแพงทว่าก็ขายจนหมดเกลี้ยง
ขณะที่ อัลเลน ดุงคา หนุ่มชาวฟิลิปปินส์ วัย 22 ปี ก็ใช้เงินเก็บของตนเองพาคุณแม่ไปชมคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์ โดยทั้งคู่จะใช้เวลา 4 ชั่วโมงนั่งรถบัสไปมะนิลา จากนั้นพักที่โมเทลใกล้สนามบินก่อนบินต่อไปยังสิงคโปร์ในวันรุ่งขึ้น
นักศึกษาหนุ่มคนนี้พยายามซื้อตั๋วจากช่องทางอย่างเป็นทางการที่เปิดขายในเดือนกรกฎาคม แต่สุดท้ายก็พลาดไป ก่อนที่จะสามารถหาซื้อตั๋วได้จากตลาดขายต่อหลังจากตามหาอย่างหนักหน่วงเป็นเดือน
“ผมโชคดีมาก” เขากล่าวถึงการใช้เงิน 400 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 10,300 บาท) สำหรับที่นั่งไกลสุดของคอนเสิร์ต “คนขายใจดี และไม่ใช่พวกขูดรีด”
เขาประเมินว่าการไปชมคอนเสิร์ตครั้งนี้ต้องใช้เงินประมาณ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 51,600 บาท) ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ต่อเดือนของครอบครัวชนชั้นกลางระดับบนในฟิลิปปินส์ ประเทศที่ประชากรหนึ่งในห้าอาศัยอยู่ใต้เส้นความยากจน
“ในตอนนี้ผมเป็นแค่นักศึกษาที่มีงานพาร์ตไทม์ มีเงินพอใช้ทั้งเรื่องจำเป็นและอยากได้ แต่ก็น่าเศร้า เพราะแฟนคลับของเทย์เลอร์อีกหลายคนในฟิลิปปินส์ไม่มีเงินพอจะไปดูเธอที่ต่างประเทศ ผมรู้ว่าสวิฟตี้ชาวฟิลิปปินส์รักเธอมาก”
ทำไม ‘ฟิลิปปินส์’ ถึงไม่ถูกเลือก
ฟิลิปปินส์น่าจะเป็นประเทศที่มีแฟนคลับของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ มากที่สุด จากข้อมูลของ Spotify พบว่า Quezon City เมืองที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ มียอดสตรีมของศิลปินรายนี้สูงที่สุดในปีที่ผ่านมา
แต่นักวิเคราะห์มองว่าถึงแม้ เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะเคยเปิดคอนเสิร์ตที่ฟิลิปปินส์มาก่อน แต่เงินที่สิงคโปร์เสนอให้ก็น่าดึงดูดใจกว่ามาก
ภาพลักษณ์ที่สะอาด หรูหรา และทันสมัยของสิงคโปร์ ทำให้ที่นี่เป็นที่ตั้งหลักในการจัดอีเวนต์ใหญ่ๆ ในภูมิภาคมาอย่างยาวนาน ไม่เพียงมีโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมที่ดีแล้ว ประชากรยังเป็นชาวต่างชาติที่มีรายได้สูงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นสิงคโปร์ยังเป็นที่เชื่อถือว่ามีความมั่นคงทางการเมืองมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคที่เกิดความปั่นป่วนและการประท้วงทางการเมืองบ่อยๆ เช่นเมื่อสิบปีก่อน เทย์เลอร์ สวิฟต์ เคยต้องยกเลิกคอนเสิร์ตที่ไทยเนื่องจากการรัฐประหาร
กระนั้นแม้จะเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่รัฐบาลจะมอบเงินอุดหนุนและลดหย่อนภาษีให้ผู้จัดงาน แต่เงินที่สิงคโปร์ใช้นั้นก็นับว่าสูงกว่ามาตรฐานที่เคยมีการเปิดเผยแพร่ต่อสาธารณะ
ซาเมอร์ ฮัจจาร์ อาจารย์ด้านการตลาดของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า จำนวนเงินที่ใช้ ‘สูงกว่าค่าเฉลี่ย’ แม้แต่สำหรับประเทศที่ใช้เงินเก่งอย่างสิงคโปร์
ด้านดุงคา แฟนคลับหนุ่มคนหนึ่งก็แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า “มันออกจะโลภนิดๆ แต่ก็ฉลาดดี… เพราะผลที่ได้กลับมาทางเศรษฐกิจจะมากมายกว่านี้”
คุ้มหรือไม่?
ฝั่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศก่อนหน้าสิงคโปร์ในการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐเปิดเผยว่า การแสดงที่ซิดนีย์และเมลเบิร์น 7 รอบนั้นสร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 145 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 3,200 ล้านบาท) โดยตั๋วขายได้มากกว่า 570,000 ใบ เกือบสองเท่าของที่ขายได้ในสิงคโปร์สำหรับการแสดง 6 รอบ
แต่นักเศรษฐศาสตร์กลับไม่ได้มองเป็นเรื่องที่ดีเลย
ดร.เบรนแดน รินน์ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ KPMG ประเมินว่า กว่า 90% ของผู้ชมคอนเสิร์ตที่ซิดนีย์และเมลเบิร์นน่าจะเป็นคนท้องถิ่น ดังนั้นการใช้เงินของพวกเขาจะเป็น ‘แค่การเปลี่ยนหมวดใช้เงิน’ พร้อมอธิบายต่อว่า เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศเท่านั้นที่นับเป็นเงินเข้าประเทศใหม่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าคิดเป็นเพียง 2% ของผู้ชมทั้งหมด
เขาคำนวณว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ น่าจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับ GDP ของออสเตรเลียเพียง 10 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 220 ล้านบาท) เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียไม่ได้ใช้เงินภาครัฐสนับสนุนการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่น อีกหนึ่งประเทศในเอเชียที่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ไปเปิดการแสดง
สิงคโปร์จะได้อะไร?
ทางการสิงคโปร์อ้างว่าทัวร์คอนเสิร์ตของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจำนวนเงินสุทธิจะอยู่ที่เท่าไร
BBC พยายามติดต่อสภาการท่องเที่ยวสิงคโปร์เพื่อขอข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่คาดว่าจะเข้ามาชมคอนเสิร์ต แต่ทางสภาปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูล (บทความของ BBC ลงเมื่อวันที่ 2 มีนาคม)
Maybank ธนาคารท้องถิ่น คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจแตะ 350 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 9,000 ล้านบาท) แต่ตัวเลขนี้คาดการณ์บนพื้นฐานสมมติฐานว่า 70% ของผู้ชมมาจากต่างประเทศ
ซึ่งหากเทียบกับ Formula One Grand Prix ของสิงคโปร์ พบว่าในปี 2022 มีผู้ชมจากต่างประเทศเพียง 49% จากจำนวนผู้ชมทั้งหมด 300,000 คน
เอริกา เทย์ นักเศรษฐศาสตร์ของ Maybank อธิบายว่า “คอนเสิร์ต 6 รอบอาจไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของชาติมากนัก แต่คุณค่าเชิงกลยุทธ์ของการที่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ การันตีว่าสิงคโปร์เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวนั้นมีค่ามากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น”
อย่างไรก็ตาม จูเลียน คายลา อาจารย์ด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่าการใช้เงินภาครัฐควรได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลถูกเปิดเผยโดยรัฐบาลต่างประเทศ
คายลากล่าวว่า สิงคโปร์ดึงดูด เทย์เลอร์ สวิฟต์ คล้ายกับวิธีดึงดูดบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในฐานะธุรกิจ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ พร้อมเสริมว่า “เธอเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของเด็กวัย 10-18 ปี ซึ่งรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ดูคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ หรือจาการ์ตา”
เหตุผลการทุ่มเงินดึงดูดคอนเสิร์ตใหญ่: รายได้จะถูกนำไปจัดกิจกรรมเพื่อสังคม
ล่าสุด เอ็ดวิน ตง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชนของสิงคโปร์ อธิบายในรัฐสภาในวันนี้ (4 มีนาคม) ว่ารายได้จากกิจกรรมใหญ่ระดับท็อปๆ ที่รัฐบาลร่วมจัด จะถูกนำกลับมาใช้สนับสนุน ‘กิจกรรมทางสังคมที่ไม่ได้สร้างรายได้ แต่มีผลกระทบสูง’
กิจกรรมระดับท็อปๆ เหล่านี้รวมถึงคอนเสิร์ตของศิลปินอย่าง Coldplay, เอ็ด ชีแรน, แจ็คกี้ จาง หรือคอนเสิร์ตปัจจุบันของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ เมกะสตาร์อเมริกัน ซึ่งจัดที่สิงคโปร์ทั้งหมด 6 รอบ และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใน The Eras Tour ของเธอ
ตงระบุว่า Kallang Alive Sport Management (KASM) ซึ่งเข้ามาบริหารจัดการ Sports Hub ไม่ได้พยายามทำข้อตกลงเพื่อ ‘ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างเดียว’ “สำหรับพวกเรา สิ่งที่สำคัญพอๆ กันคือผลตอบแทนทางสังคม” เขายืนยันกับสมาชิกรัฐสภา โดยตอบคำถามเกี่ยวกับข้อตกลงที่ทำให้สิงคโปร์ได้สิทธิ์ในการจัดคอนเสิร์ต The Eras Tour ของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ แต่เพียงผู้เดียว
สมาชิกรัฐสภายังตั้งข้อสังเกตถึงความไม่พอใจของประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้น หลังจากสิงคโปร์ทำข้อตกลงผูกขาดกับทีมของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ซึ่ง อูษา จันทราดาส สมาชิกรัฐสภา ได้ถามคำถามเสริมเกี่ยวกับข้อสัญญาที่ทำไว้กับทีมของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับความลับและการผูกขาดหรือไม่ และมีการละเมิดข้อตกลงเหล่านั้นหรือไม่
“ใช่ มีข้อตกลงที่เป็นความลับ และเราจะประเมินข้อตกลงต่างๆ และใช้มาตรการที่เหมาะสมตามคำแนะนำ” ตงตอบ
เขาย้ำว่าคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (STB) ได้ประเมินศักยภาพและผลประโยชน์ที่จะได้รับหากคอนเสิร์ตนี้มาจัดในสิงคโปร์ก่อนหน้าจะให้เงินสนับสนุนแก่ผู้จัดคอนเสิร์ต “STB จะประเมินว่าจะให้ทุนสนับสนุนหรือไม่เป็นกรณีๆ ไป พิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าจะมีผลประโยชน์อะไรบ้างต่อสิงคโปร์หากนำกิจกรรมนั้นมาจัด” เขาระบุ
แม้จะไม่สามารถเปิดเผยจำนวนเงินหรือเงื่อนไขที่แน่นอนได้ แต่ตงยืนยันกับสภาว่ามีการประเมินแล้วว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อสิงคโปร์นั้น ‘มีนัยสำคัญและมากกว่าจำนวนเงินที่สนับสนุน’
ผลประโยชน์โดยตรงรวมถึงการมาถึงของนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมและการใช้จ่ายในด้านตั๋วคอนเสิร์ต, ค่าเครื่องบิน, ค่าที่พัก และยังส่งผลต่อไปยังภาคส่วนบันเทิง, ค้าปลีกและร้านอาหารในสิงคโปร์
ตงยังชี้ให้เห็นด้วยว่าเมืองอื่นๆ ที่เป็นเจ้าภาพคอนเสิร์ตของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ก็รายงานว่าเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเช่นกัน และเราจะคาดหวังสิ่งเดียวกันในสิงคโปร์
ภาพปก: Ashok Kumar / TAS24 / Getty Images for TAS Rights Management
อ้างอิง: