วานนี้ (29 กุมภาพันธ์) สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ วันที่ 91 โดยสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานผลการลงทะเบียนพบว่า มีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 151,175 ราย มูลหนี้รวม 11,732.506 ล้านบาท เป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 125,081 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 27,348 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 125,302 ราย
มีพื้นที่/จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
- กรุงเทพมหานคร ผู้ลงทะเบียน 10,091 ราย เจ้าหนี้ 9,047 ราย มูลหนี้ 1,065.464 ล้านบาท
- จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ลงทะเบียน 6,115 ราย เจ้าหนี้ 5,887 ราย มูลหนี้ 425.187 ล้านบาท
- จังหวัดสงขลา ผู้ลงทะเบียน 5,570 ราย เจ้าหนี้ 4,589 ราย มูลหนี้ 383.455 ล้านบาท
- จังหวัดนครราชสีมา ผู้ลงทะเบียน 5,273 ราย เจ้าหนี้ 4,443 ราย มูลหนี้ 489.563 ล้านบาท
- จังหวัดสุรินทร์ ผู้ลงทะเบียน 4,412 ราย เจ้าหนี้ 3,364 ราย มูลหนี้ 438.838 ล้านบาท
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ลงทะเบียน 250 ราย เจ้าหนี้ 251 ราย มูลหนี้ 16.274 ล้านบาท
- จังหวัดระนอง ผู้ลงทะเบียน 351 ราย เจ้าหนี้ 267 ราย มูลหนี้ 24.415 ล้านบาท
- จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ลงทะเบียน 406 ราย เจ้าหนี้ 316 ราย มูลหนี้ 18.819 ล้านบาท
- จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 474 ราย เจ้าหนี้ 383 ราย มูลหนี้ 28.483 ล้านบาท
- จังหวัดตราด ผู้ลงทะเบียน 479 ราย เจ้าหนี้ 364 ราย มูลหนี้ 21.487 ล้านบาท
สำหรับข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบทั่วประเทศพบว่า มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 28,725 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 18,509 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนการไกล่เกลี่ย 2,626.784 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 1,855.474 ล้านบาท มูลหนี้ลดลง 771.309 ล้านบาท
จังหวัดที่สามารถนำลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้มากที่สุด คือ จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 3,373 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 518 ราย มูลหนี้ของลูกหนี้ก่อนไกล่เกลี่ย 287.587 ล้านบาท หลังการไกล่เกลี่ย 53.511 ล้านบาท ทำให้มูลหนี้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ลดลง 234.076 ล้านบาท
สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือกระทั่งไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ เจ้าหนี้และลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่แล้ว 310 คดี ใน 43 จังหวัด
สุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า การเปิดรับลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ข้อมูลของประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนจะเป็นฐานข้อมูลของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ในฐานะหัวหน้าศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจังหวัด/อำเภอ จะได้บูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งอัยการ, ทหาร, ตำรวจ, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด, สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือในเรื่องหนี้นอกระบบ อำนวยความสะดวกทำให้ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ในอัตราที่เป็นธรรม และเข้าสู่ระบบของสถาบันการเงินของรัฐ โดยมีการชำระเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้พี่น้องประชาชนได้มีแหล่งเงินทุนในการชำระหนี้ และมีเงินไปเลี้ยงดูครอบครัวได้
ในส่วนของกระบวนการไกล่เกลี่ย จากการดำเนินการมากว่า 3 เดือน แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งมาตรการในระยะสั้นได้เชิญลูกหนี้และเจ้าหนี้มาพูดคุยตกลงกัน สามารถลดต้นลดดอกของหนี้ได้ ทำให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบกลุ่มแรกได้สำเร็จ ในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการต่อไป อาจต้องใช้เวลาในการนำลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้ง 2 ฝ่ายมาพูดคุยกัน ในส่วนของข้อมูลเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ ในการทวงหนี้ จำนวนกว่า 5 หมื่นราย กระทรวงมหาดไทยได้ส่งข้อมูลให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีต่อไป
สุทธิพงษ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการระยะยาว อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับลูกหนี้นอกระบบ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ โดยบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมแนวทางให้ลูกหนี้สามารถลดรายจ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวและการเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
โดยน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และ ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ตลอดจนส่งเสริมแนวทางจัดทำบัญชีครัวเรือน ลดความฟุ่มเฟือย หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การเล่นพนัน และรวมไปถึงการขยายโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพต่อไป
โดยหลังจากที่ปิดรับลงทะเบียนแล้ว หากมีประชาชนผู้ที่เดือดร้อนจากหนี้นอกระบบประสงค์จะขอความช่วยเหลือ สามารถโทรสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถเดินทางไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ เพื่อให้ทางราชการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้