สหรัฐฯ จุดชนวนความขัดแย้งกับโลกอาหรับระลอกใหม่ หลังทำพิธีเปิดสถานทูตที่นครเยรูซาเลมของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ โดยเมืองแห่งนี้ถือเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของทั้งศาสนาอิสลาม คริสต์ และยูดาห์ ขณะที่ปาเลสไตน์ซึ่งตั้งรกรากในดินแดนเยรูซาเลมตะวันออกมาช้านานต้องการสถาปนาดินแดนแห่งนี้เป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์เช่นกัน
พิธีเปิดสถานทูตจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันก่อตั้งประเทศอิสราเอล และวันครบรอบ 70 ปีที่สหรัฐฯ ให้การรับรองรัฐอิสราเอล โดยงานนี้มีแขกรับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐฯ หลายคน ได้แก่ อิวองกา ทรัมป์ บุตรสาวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์, จาเร็ด คุชเนอร์ บุตรเขยและที่ปรึกษาระดับสูงของทรัมป์, สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และจอห์น ซัลลิแวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
เยรูซาเลมสำคัญอย่างไร
ทั้งชาวคริสต์ ชาวมุสลิม และชาวฮิบรู หรือชาวยิว ต่างถือว่าเยรูซาเลมเป็นนครศักดิ์สิทธิ์แห่งศาสนาของพวกเขา โดยชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูถูกตรึงไม้กางเขนที่นครแห่งนี้ ส่วนชาวมุสลิมเชื่อว่านบีมูฮัมมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม ได้เดินทางสู่ฟากฟ้าจากมัสยิดอัล-อักซอ ในนครเยรูซาเลม ขณะที่ชาวยิวเชื่อว่าดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งพันธสัญญาที่พระยาห์เวห์ พระผู้เป็นเจ้า ทรงประทานให้แก่ชาวอิสราเอล
ความศรัทธาอันแรงกล้าทางศาสนาได้นำไปสู่การทำสงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม หรือสงครามครูเสดนับสิบครั้ง รวมระยะเวลานานกว่า 2 ศตวรรษ เพื่อแย่งชิงและครอบครองนครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
ผลกระทบจากสงครามครูเสดทำให้ชาวยิวในยุโรปและเยรูซาเลมล้มตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางส่วนซึ่งตั้งชุมชนอยู่ในปาเลสไตน์ต้องพลัดถิ่นฐานและระหกระเหินเร่ร่อนเหมือนเมื่อครั้งที่เผชิญกับการรุกรานของกองทัพแห่งอาณาจักรบาบิโลน จักรวรรดิเปอร์เซีย และจักรวรรดิโรมันในอดีตกาล
ต่อมาชนชาติยิวมาถึงจุดพลิกผันครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อชาวยิวจำนวนมากเดินทางกลับมายังดินแดนปาเลสไตน์อีกครั้งภายใต้ความเห็นชอบจากอังกฤษ ซึ่งปกครองดินแดนปาเลสไตน์ในเวลานั้น
สหประชาชาติได้มีมติให้อิสราเอลก่อตั้งรัฐขึ้นได้บนดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยปาเลสไตน์เหลือดินแดนเพียงฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ (ซึ่งรวมพื้นที่เยรูซาเลมตะวันออก) มติดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ชนพื้นเมืองชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับในประเทศใกล้เคียง
จากนั้น เดวิด เบนกูเรียน นายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล ได้ประกาศสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 และได้ครอบครองดินแดนเยรูซาเลมตะวันตกนับตั้งแต่นั้นมา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์และโลกอาหรับในยุคสมัยใหม่
และหลังจากสิ้นสุด ‘สงคราม 6 วัน’ เมื่อปี 1967 อิสราเอลสามารถผนวกรวมดินแดนเยรูซาเลมตะวันออกจากประเทศจอร์แดนกับดินแดนฝั่งตะวันตกที่มีอยู่เดิม และประกาศสถาปนาเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประชาคมโลกยังไม่เคยยอมรับการประกาศอ้างเพียงฝ่ายเดียวของอิสราเอลในครั้งนั้น ซึ่งรวมถึงพันธมิตรที่ใกล้ชิดของอิสราเอลอย่างสหรัฐฯ ด้วย จนกระทั่งทรัมป์ได้ตัดสินใจกลับจุดยืนของสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้วเพื่อทำตามคำมั่นสัญญาที่เขาหาเสียงไว้ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง
การย้ายสถานทูตไปเยรูซาเลมมีนัยอะไร
อย่างที่ทราบกันว่าเยรูซาเลมเป็นที่ตั้งของศาสนสถานโบราณหลายแห่งของชาวคริสต์ ชาวมุสลิม และชาวยิว ซึ่งรวมถึงโดมแห่งศิลา (Dome of Rock) ของศาสนาอิสลามในเขตนครโบราณ (Old City) ดังนั้นจึงเป็นดินแดนที่ต่างฝ่ายต่างต้องการอ้างกรรมสิทธิ์เพื่อที่จะครอบครอง
แต่การย้ายสถานทูตครั้งนี้สะท้อนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยอมรับในทางพฤตินัยว่านครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลแต่เพียงผู้เดียว หลังจากเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทรัมป์ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนทั่วโลกโดยการประกาศรับรองสถานะของเยรูซาเลมอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการฉีกธรรมเนียมปฏิบัติและนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่มีลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้และยอมรับเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ตามมติของนานาชาติ
ถึงแม้ในปี 1995 สภาคองเกรสของสหรัฐฯ จะผ่านกฎหมายให้สหรัฐฯ ดำเนินการย้ายสถานทูตจากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม แต่ที่ผ่านมาประธานาธิบดีในอดีตหลายคนต่างก็ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากเกรงว่าการตัดสินใจย้ายสถานทูตไปเยรูซาเลมอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลทรัมป์เท่ากับปิดประตูทางการทูตของตน จากเดิมที่สหรัฐฯ คอยดำรงบทบาทเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาพิพาทระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มาโดยตลอด
เดวิด ฟรีดแมน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอิสราเอล กล่าวว่า “ในระยะยาว เราเชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะสร้างโอกาสและเวทีในการผลักดันกระบวนการสันติภาพบนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่ความเพ้อฝันหรือจินตนาการ”
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เน้นย้ำว่าการตัดสินใจย้ายสถานทูตครั้งนี้ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงที่ว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล นอกจากนี้ยังสะท้อนความจริงใหม่ที่ว่าตะวันออกกลางกำลังถูกรุมเร้าจากปัญหาสงครามกลางเมืองในซีเรีย เยเมน และอิรัก ซึ่งทำให้อิสราเอล สหรัฐฯ และชาติอาหรับต้องผนึกกำลังเพื่อเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์เดียวกัน นั่นก็คือการปิดล้อมศัตรูตัวฉกาจอย่างอิหร่านที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วุ่นวายใน 3 ประเทศข้างต้น
“เราต่างก็มองในแง่บวกว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับภูมิภาคตะวันออกกลางในบั้นปลาย” ฟรีดแมนกล่าวทิ้งท้าย
แรงผลักดันทางการเมืองของทรัมป์
นอกเหนือจากนโยบายปฏิรูประบบภาษีขนานใหญ่และโครงการสร้างกำแพงยักษ์ป้องกันการไหลทะลักเข้าเมืองของผู้อพยพจากเม็กซิโกแล้ว การย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปยังนครเยรูซาเลมยังถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ดังนั้นจึงถือเป็นพันธกิจจำเป็นที่เขาต้องทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
แต่การย้ายสถานทูตยังถูกมองเป็นการหวังผลทางการเมืองของทรัมป์ด้วย เพราะในช่วงปลายปีนี้สหรัฐฯ จะจัดการเลือกตั้งกลางเทอม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทรัมป์จะต้องรักษาฐานเสียงของตน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าการตัดสินใจของสหรัฐฯ อาจเปรียบเสมือนการราดน้ำมันในกองเพลิง เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและโลกอาหรับได้ฝังรากลึกจนยากแก่การแก้ไข และมีชนวนให้เกิดการกระทบกระทั่งอยู่เนืองๆ
นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวของวอชิงตันยังทำให้กระบวนการเจรจาทางการทูตมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ จะขาดความชอบธรรมในการช่วยประนีประนอมในปัญหาพิพาทระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ไปโดยปริยาย
บรูซ รีเดล อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง CIA ซึ่งปัจจุบันทำงานด้านโครงการข่าวกรองให้กับสถาบัน Brookings Institution กล่าวเตือนว่าเวลานี้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านในประเทศซีเรียกำลังทวีความตึงเครียดขึ้น แต่ทรัมป์กลับราดน้ำมันในกองไฟด้วยการย้ายสถานทูตไปเยรูซาเลม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่อันตรายมาก
ท่าทีของนานาชาติ
หนึ่งในผู้ที่ต่อต้านนโยบายของสหรัฐฯ อย่างแข็งกร้าวคือ ประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ ซึ่งระบุว่าการตัดสินใจของทรัมป์เปรียบเหมือนการตบหน้าฉาดใหญ่แห่งศตวรรษ
นอกจากนี้อับบาสยังเรียกร้องให้คณะมนตรีแห่งสันนิบาตอาหรับจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน
ขณะที่ ดิยาบ อัลลูห์ ทูตอียิปต์และผู้แทนถาวรประจำองค์การสันนิบาตอาหรับ ระบุว่าทางคณะมนตรีแห่งสันนิบาตอาหรับจำเป็นต้องออกมาตรการรับมือและส่งสารที่แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติอาหรับเพื่อบีบให้สหรัฐฯ เปลี่ยนใจ
ทั้งนี้ปาเลสไตน์และชาติอาหรับต่างหวั่นวิตกว่าประเทศอื่นๆ จะย้ายสถานทูตตามสหรัฐฯ ภายหลังจาก เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินการตามสหรัฐฯ
ชาติยุโรปส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
สหภาพยุโรปแสดงจุดยืนคัดค้านแนวคิดการย้ายสถานทูตของสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้น และมีทูตจากหลายประเทศที่ปฏิเสธเข้าร่วมพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ รวมถึงเยอรมนี โปรตุเกส สวีเดน โปแลนด์ และไอร์แลนด์ โดยนับเป็นอีกครั้งที่สะท้อนถึงความไม่ลงรอยในนโยบายต่างประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป
สำหรับทูตยุโรปที่ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมพิธีครั้งนี้มีเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย และโรมาเนีย
นอกจากยุโรปแล้วยังมีทูตจากรัสเซีย อียิปต์ และเม็กซิโก ที่ปฏิเสธร่วมพิธีเปิดครั้งนี้เช่นกัน
จับตาสถานการณ์อาจบานปลาย
ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนได้ชุมนุมประท้วงตลอดแนวรั้วที่แบ่งแยกดินแดนระหว่างอิสราเอลกับฉนวนกาซา โดยก่อนหน้าพิธีเปิดสถานทูตเพียงไม่กี่ชั่วโมง มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากการถูกทหารอิสราเอลโจมตีแล้วอย่างน้อย 55 คน และบาดเจ็บอีกราว 2,700 คน
ก่อนหน้านี้ เซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน ผู้อำนวยการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามอิสราเอลว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุจนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี อิสราเอลอ้างว่าพวกเขาทำตามกฎหมายในการปกป้องชีวิตพลเรือนจากกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ (ฮามาส) ที่พยายามจะรุกรานเข้ามาในอาณาเขตของอิสราเอล
ล่าสุดกลุ่มรัฐอิสลามได้ถือโอกาสนี้ปลุกระดมมวลชนชาวมุสลิมให้ลุกขึ้นต่อต้านอิสราเอลด้วย
จึงน่าจับตาว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แต่หลายคนเชื่อว่าการตัดสินใจของสหรัฐฯ อาจสร้างความร้าวฉานระหว่างอิสราเอลกับโลกอาหรับมากยิ่งขึ้น ขณะที่ความพยายามคลี่คลายปมขัดแย้งของสหรัฐฯ อาจกลับกลายเป็นการผูกเงื่อนทับซ้อนขึ้นอีกหลายชั้นจนยากแก่การแก้ไข
อ้างอิง: