×

ก้าวไกลรับหนังสือผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค้านฉลากคำเตือนแบบใหม่ แนะหาจุดสมดุลสุขภาพ-พัฒนาเศรษฐกิจ

โดย THE STANDARD TEAM
28.02.2024
  • LOADING...
พรรคก้าวไกล

วันนี้ (28 กุมภาพันธ์) เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส. กรุงเทพฯ เขต 24 พรรคก้าวไกล และ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสุรา นักวิชาการ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และผู้ผลิตไวน์ภายในประเทศ แสดงจุดยืนคัดค้านร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน

 

สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. ที่จะกำหนดให้มีข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนภาชนะบรรจุและหีบห่อบรรจุของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยปัจจุบันร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น 

 

เท่าพิภพกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสืบเนื่องจากที่ตนโพสต์เฟซบุ๊ก จึงขอขอบคุณสื่อมวลชนที่นำไปขยายต่อ ทำให้ประชาชนได้ส่งเสียง ตนเห็นว่ากรณี ‘ฉลากน่ากลัว’ มีนัยความสำคัญหลายอย่าง ทั้งในแง่ผลกระทบต่อการทำธุรกิจและในมุมการเมืองเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ล่าสุดทราบมาว่าสุดท้ายร่างประกาศนี้อาจไม่ผ่าน น่าจะเป็นข่าวดีของคนในวงการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

 

โดยประมาณต้นเดือนมีนาคมจะครบ 2 เดือนที่ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เคยเข้าสภา และรัฐบาลขออุ้มไป 60 วัน จะกลับเข้าสภาอีกครั้ง ร่างกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับร่างประกาศฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการออกประกาศ ซึ่งตนและพรรคก้าวไกลได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกคณะกรรมการนี้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนและสื่อมวลชนติดตามเรื่องนี้ต่อไป

 

ด้านสิทธิพลกล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบติดตามผลกระทบของนโยบายต่างๆ ต่อปากท้องของพี่น้องประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยขอฝากไปยังรัฐบาลว่า อุตสาหกรรมเหล้า เบียร์ สุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศอย่างน้อยใน 3 มิติ 

 

มิติที่ 1 คือ ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจกลางคืน ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ การออกนโยบายจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ 

 

มิติที่ 2 คือ ผลิตภัณฑ์เหล้า เบียร์ และสุรา จำนวนมากเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ในขณะที่รัฐบาลบอกว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก การออกนโยบายลักษณะนี้ต้องดูว่ากระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน เป็นข้อกีดกันทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยแข่งขันยากขึ้น นำเสนอสินค้าได้ยากขึ้นหรือไม่ 

 

และมิติที่ 3 รัฐบาลชุดนี้บอกว่าให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ การมีฉลากแบบนี้จะเป็นการสื่อสารในลักษณะตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลพยายามผลักดันซอฟต์พาวเวอร์หรือไม่ 

 

สิทธิพลกล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะนำเรื่องเข้าสู่การประชุมกรรมาธิการ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้ประกอบการ เชื่อว่าถ้าเรามีเหตุผลที่ดีพอ ทางรัฐบาลก็น่าจะพร้อมรับฟังและนำไปปรับปรุง เพื่อทำให้ข้อบังคับที่จะออกมาสามารถรักษาสมดุลระหว่างการดูแลสุขภาพประชาชน การส่งเสริมผู้ประกอบการ และการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X