นักดาราศาสตร์ค้นพบเควซาร์สว่างแห่งใหม่ ที่ทำลายสถิติเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดในเอกภพ จากหลุมดำที่มีอัตราเติบโตรวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยถูกพบมา ด้วยการกลืนกินมวลเข้าไปเทียบเท่ากับมวลของดวงอาทิตย์ในแต่ละวัน
เควซาร์ J0529-4351 ที่ถูกพบโดยคณะนักดาราศาสตร์จากนานาประเทศ อยู่ห่างจากโลกมากเสียจนแสงต้องใช้เวลากว่า 12,000 ล้านปีเพื่อเดินทางมาถึง
คริสเตียน วูล์ฟ (Christian Wolf) หัวหน้าคณะวิจัยของการค้นพบครั้งนี้ ระบุว่า “เราได้ค้นพบหลุมดำที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด มันมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 17,000 ล้านเท่า และดูดกลืนมวลสารต่อวันเทียบเท่ามวลของดวงอาทิตย์ ทำให้เควซาร์นี้เป็นวัตถุที่สว่างที่สุดเท่าที่เรารู้จักในเอกภพ”
เควซาร์ย่อมาจาก Quasi-Stellar Radio Sources หรือแปลว่าแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุคล้ายดาวฤกษ์ คือนิวเคลียสของกาแล็กซีที่มีความสว่างสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการดึงดูดมวลสารปริมาณมหาศาลของหลุมดำมวลยวดยิ่ง จนเกิดการปลดปล่อยพลังงานและแผ่รังสีที่สว่างกว่าทั้งกาแล็กซีเสียอีก
งานวิจัยดังกล่าวได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope ของ ESO พบว่า เควซาร์ J0529-4351 มีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ 500 ล้านล้านเท่า และหลุมดำมวลยวดยิ่งแห่งนี้ที่กำลังดูดกลืนมวลสารเข้าไปอย่างรวดเร็ว มีขนาดของจานพอกพูนมวลยาว 7 ปีแสง หรือเทียบเท่า 15,000 เท่าของระยะวงโคจรดาวเนปจูนรอบดวงอาทิตย์
คริสโตเฟอร์ ออนเคน (Christopher Onken) นักดาราศาสตร์ของ ANU ผู้ร่วมคณะวิจัยในการค้นดังกล่าว เปิดเผยว่า “มันน่าทึ่งมากที่ยังไม่มีใครตรวจพบมันได้จนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งที่มันก็ปรากฏให้เรามองเห็นได้มาตั้งนานแล้ว” โดยเจ้าตัวระบุว่า เควซาร์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล Schmidt Southern Sky Survey มาตั้งแต่ปี 1980 แต่เพิ่งได้รับการตรวจพบว่าเป็นเควซาร์ในช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา
การค้นพบหลุมดำมวลยวดยิ่งที่อยู่ห่างไกลจากโลกอาจช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาและเข้าใจปริศนาต่างๆ ที่เรายังไม่ทราบเกี่ยวกับเอกภพยุคแรกเริ่ม เช่น หลุมดำและดาราจักรของวัตถุเหล่านี้ก่อตัวขึ้นมาอย่างไร รวมถึงวิวัฒนาการของเทหวัตถุต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว
งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Astronomy เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์
ภาพ: M. Kornmesser / ESO
อ้างอิง: