ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้มีบทบาทต่อการเมืองไทยในห่วงสองทศวรรษ ต้องใช้ชีวิตในต่างแดนนับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2549
แม้เขาจะกลับมาเหยียบแผ่นดินมาตุภูมิได้หนแรก หลังผ่านการรัฐประหารไปแล้วกว่าปีครึ่ง คือปี 2551 ที่ปรากฏภาพอมตะทางการเมืองด้วยการก้มกราบแผ่นดินทันทีที่ถึงเมืองไทย จากนั้นไม่กี่วันต้องเดินทางออกไปจากประเทศไทย และเป็นเวลาเกือบ 15 ปีที่เขาได้กลับมาเหยียบแผ่นดินแม่อีกหน ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ในวันที่รัฐบาลเพื่อไทยอันมีต้นรากมาจากไทยรักไทยได้ครองอำนาจทางการเมือง
ทักษิณมีคดีที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฟ้องจำนวน 3 คดี โดยตัดสินให้รับโทษจำคุกรวมระยะเวลา 8 ปี และได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษเหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 คือหลังจากกลับประเทศไทยได้ 9 วัน
อย่างไรก็ตาม เขาไม่เคยอยู่ในเรือนจำที่เป็นสถานที่คุมขังนักโทษนับแต่กลับมา เพราะมีอาการป่วยจนกรมราชทัณฑ์ต้องส่งมารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนจะเข้าเกณฑ์ ‘พักโทษ’ ตามที่กรมราชทัณฑ์ประกาศลิสต์ เนื่องจาก
- มีเหตุพิเศษ เจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
- จำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ
- ทักษิณเป็นนักโทษใหม่ (นักโทษชั้นกลาง) แต่อาจเลื่อนชั้นได้เร็ว เพราะมีความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ
THE STANDARD ชวนย้อนดูไทม์ไลน์นับตั้งแต่ทักษิณกลับไทยเมื่อปีที่แล้ว กระทั่งถึงห้วงเวลาที่เขากำลังจะได้ ‘พักโทษ’ ว่ามีเส้นทางอย่างไร ก่อนที่จะต้องจับตาต่อไปในอนาคตว่า ชื่อ ‘ทักษิณ’ ที่แปลว่า ‘ใต้’ แต่เป็นคน ‘เหนือ’ จะขึ้นมา ‘นำ’ การเมืองในอนาคตหรือไม่