มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 นับเนื่องจนถึงปีนี้ ในเดือนหน้าก็จะมีอายุครบ 84 ปี หรือครบ 7 รอบ
ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงาน ‘วันปรีดี พนมยงค์’ ในวันนี้ เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณูปการของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย
THE STANDARD ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปสำรวจสัญลักษณ์ของคนธรรมศาสตร์ที่ตั้งตระหง่านอยู่คู่มหาวิทยาลัยยาวนานนับ 8 ทศวรรษ นั่นคือตึกโดม หรือที่ชาวธรรมศาสตร์ขนานนามว่า ‘แม่โดม’ นั่นเอง
ตามประวัติที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เผยแพร่ไว้ ตึกโดมถือเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ออกแบบโดย นายหมิว อภัยวงศ์ ตามคำแนะนำของบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย ปรับปรุงจากตึกเก่า 4 หลังของทหารโดยสร้างหลังคาเชื่อมแต่ละตึกจนกลายเป็นอาคารหลังเดียวกัน ส่วนกลางของตึกได้สร้างอาคาร 3 ชั้นขึ้นเพิ่มเติมโดยมี ‘โดม’ เป็นสัญลักษณ์ตรงกลาง รูปแบบของโดมนี้กล่าวอธิบายกันในภายหลังว่านำมาจากดินสอแปดเหลี่ยมที่เหลาจนแหลมคม เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาที่สูงส่งของการจัดการศึกษา
ภายในอาคารตึกโดม เมื่อเดินจากบันไดกลางขึ้นไปบนชั้น 2 ห้องแรกจะเป็นห้องทำงานของบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งห้องเดียวกันนี้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองคือ ศูนย์บัญชาการขบวนการเสรีไทย ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ โดยทำงานร่วมกับเสรีไทยสายอังกฤษและสายสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งตึกโดมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงมีสถานะพิเศษอย่างยิ่งสำหรับผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยและผู้รักชาติทั้งมวล แต่ในอีกทางหนึ่งก็ได้ส่งผลให้ฝ่ายกองทัพและผู้มีอำนาจทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามนายปรีดีมีความระแวงและหวาดกลัวมหาวิทยาลัยแห่งนี้
หลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 กองทัพบกได้เข้ายึดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองไว้ รวมทั้งเสนอขอซื้อที่ดินผืนนี้ด้วยเงินจำนวน 5 ล้านบาท แต่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยจำนวนกว่า 2,000 คน ได้รวมตัวกันเดินขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อเรียกร้องขอมหาวิทยาลัยคืนจากรัฐบาลทหารในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2494 จนประสบความสำเร็จและได้มหาวิทยาลัยคืนกลับมาอย่างสันติวิธี โดยมีนักศึกษาจำนวนกว่าพันคนบุกเข้ามายึดพื้นที่มหาวิทยาลัยคืนเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494
อย่างไรก็ตาม ในปีถัดต่อมาคือ พ.ศ. 2495 ชื่อของมหาวิทยาลัยก็ได้ถูกตัดคำว่า ‘การเมือง’ ออกไป และเหลือแต่เพียงชื่อ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ตราบจนปัจจุบัน
ในยุคปัจจุบัน ตึกโดมเป็นสถานที่ทำงานของอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัย มีเรื่องเล่าเป็นเกร็ดความเชื่อว่า หากนักศึกษาธรรมศาสตร์ไปถ่ายภาพคู่ตึกโดมแล้วจะเรียนไม่จบ แต่ความเชื่อเหล่านั้นก็ถูกท้าทายมานักต่อนักแล้ว จึงกล่าวได้ว่าโดมได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของมหาวิทยาลัย ดังเช่นที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เรียกตัวเองว่า ‘ลูกแม่โดม’ นั่นเอง