×

อาชญากรเด็ก รัฐคือจำเลยร่วม

15.02.2024
  • LOADING...
อาชญากรเด็ก

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง ‘อาชญากรเด็กเป็นเองไม่ได้ : ใครต้องรับผิดชอบ?’ ที่ห้องประชุม 402 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต 

 

วิทยากรประกอบด้วย 

 

– รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

– ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก

 

– ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

– สิริลักษณ์ วิริยะดี รองอัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดชลบุรี

 

– อุกฤษฏ์  ศรพรหม ผู้จัดการโครงการ กลุ่มงานด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมฯ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ)

 

– ผศ.ดร.นงลักษณ์ อานี อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

 

– อภิญญา ช้างสีทา นิติกร ฝ่ายกฎหมาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

▪ โอกาสจากกฎหมาย ต้องไม่กลายเป็นการบ่มเพาะอาชญากร

 

รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรามาคุยกันว่าในมิติกฎหมายไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์การดูแลเด็กอย่างไร และจะทำอย่างไรไม่ทำให้การที่กฎหมายให้โอกาสจะไม่กลายเป็นการบ่มเพาะอาชญากรเสียเอง การอยู่ในสถานพินิจแม้จะไม่ใช่เรือนจำ แต่ก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นกัน ซึ่งหากเป็นประโยชน์ก็จำเป็นต้องควบคุมให้คิดได้ สำนึกเป็น เห็นในสิ่งที่ตัวเองทำถูกหรือผิดตรงไหน เพื่อปรับตัวให้เหมาะสม

 

▪ บาดเจ็บที่ไหนรักษาที่นั่น 

 

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกขัดใจตอนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ออกมาบอกว่า เราจะทำกฎหมายเพื่อให้เด็กอายุน้อยรับผิดเร็วขึ้น ติดคุกนานขึ้น การพูดอย่างนี้แสดงว่าไม่เข้าใจว่าการที่เด็ก 1 คนจะเดินทางมาถึงวันที่ก่ออาชญากรรมมีที่มามีที่ไป ซึ่งที่มาคือครอบครัว โดยมีจำนวนมหาศาล เป็นความล้มเหลวของผู้ใหญ่ ล้มเหลวเชิงระบบเชิงนโยบายของประเทศ เมื่อเด็กก่ออาชญากรรมก็เข้ามาอยู่ในสถานควบคุม บ้านกาญจนาภิเษก ใช้วิธีโอบกอด ใช้วินัยเชิงบวก เมื่อเด็กๆ เปลี่ยนแปลงก็เกิดแรงจูงใจให้มีการเดินทางต่อ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีแรกมีสงครามทางความคิด เพราะมีคนไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ 

 

เด็กบ้านกาญจนาภิเษกขณะนี้จำนวนหนึ่งเป็นวิทยากร เป็นประจักษ์พยานของผู้รอด ไปพูดคุยกับผู้คนในสังคม 

 

สำหรับบ้านกาญจนาภิเษกใช้หลักการบาดเจ็บที่ไหนรักษาที่นั่น คือ บาดเจ็บที่ใจ เยียวยาที่ความรู้สึกมีคุณค่า กลับไปใช้ชีวิตได้เพราะเขารู้สึกมีค่า 

 

ถ้าประเทศนี้มีครอบครัวที่แข็งแรง มีระบบสนับสนุนครอบครัวที่ดี มีระบบนิเวศที่ไม่ใช่อุดมไปด้วยหลุมดำ กัญชา กระท่อมเสรี อาชญากรเด็กจะไม่เกิด เด็กเป็นผลลัพธ์และผลผลิตของประเทศ ไม่ใช่จำเลยตัวจริงของสังคม แต่จำเลยร่วมสำคัญคือรัฐบาล นโยบายสาธารณะของรัฐที่ไม่ยอมลงทุน

 

เรื่องราวของ ‘เด็กที่สระแก้วหรือเด็กที่พารากอน’ อาจจะกลับมาอีก เพราะโรงงานผลิตผู้ไร้ค่ายังทำงานอยู่ การเฝ้าระวังเราต้องพูดระดับนโยบายสาธารณะของรัฐที่มีวิสัยทัศน์ ถ้าไม่มีวิสัยทัศน์ รัฐคือจำเลยร่วมกับเด็กๆ 

 

▪ เด็กบางคนเป็นเหยื่อมาก่อนเป็นผู้ต้องหา

 

สิริลักษณ์ วิริยะดี รองอัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เด็กอายุ 15-18 ปี จะเป็นช่วงอายุที่กระทำความผิดเยอะที่สุด ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด บางครั้งก่อนเด็กเป็นผู้ต้องหาเขาเคยเป็นเหยื่อมาก่อนในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เด็กถูกจูงใจง่ายอยู่แล้ว บางครั้งถูกผู้ใหญ่หลอกให้ไปกระทำความผิด ถ้าจะแก้ปัญหาการกระทำความผิดของเด็กต้องดูว่าก่อนกระทำความผิดเกิดอะไรขึ้นกับเขา เพื่อให้ปัจจัยทางสังคมไปยับยั้งก่อนเขาเป็นผู้ต้องหา เราไม่อยากให้เด็กเป็นทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหาย 

 

เด็กบางคนยังไม่เป็นผู้ต้องหา แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ต้องหาในอนาคต สภาพความเป็นจริงของสังคมส่วนหนึ่ง พ่อแม่บางคนเงินไม่พร้อม เด็กบางคนไม่รู้ว่าพ่อแม่รักเขา เพราะพ่อแม่ต้องใช้เวลาหาเงิน ไม่ได้มีเวลาให้ลูก

 

▪ พ่อแม่คือทรัพยากรที่มีจำนวนน้อยลง 

 

ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ครอบครัวกับสังคมมีผลต่อเด็ก ทุกสังคมและทุกประเทศพยายามออกแบบกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา สำหรับกฎหมายครอบครัวกำหนดบทบาทให้บิดามารดามีความรับผิดชอบดูแลบุตร ถ้าบุตรไปสร้างความเสียหายให้บุคคลภายนอก พ่อแม่ต้องรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ได้รับความเสียหาย โครงสร้างกฎหมายไทยพยายามกำหนดขอบเขตกรอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดบางประการของพ่อแม่ 

 

แต่การศึกษาจากหลายประเทศ การลงโทษพ่อแม่ไม่ได้ทำให้สถิติการที่เด็กเป็นอาชญากรลดลงเลย มีข้อถกเถียงว่า มีปัจจัยมากมายที่รัฐไม่สนับสนุนพ่อแม่ในการดูแลลูกหรือไม่ การกำหนดความรับผิดทางอาญาของพ่อแม่ถ้าใช้ได้จริงคงจะลดปัญหาหรือแก้ปัญหาได้ แต่บริบทที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถลดปัญหาในประเทศที่พยายามออกกฎหมายลงโทษพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกไม่ดี 

 

จึงมีการตั้งคำถามว่า อะไรจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ พ่อแม่ต้องรับผิดชอบหรือต้องมีปัจจัยอื่นร่วมรับผิดชอบ ถ้าจะออกแบบกฎหมายเพื่อลงโทษพ่อแม่ แล้วพ่อแม่เป็นต้นเหตุเท่านั้นหรือไม่ พ่อแม่ก็คือทรัพยากรซึ่งปัจจุบันมีน้อยมาก ขณะที่ความกดดันทางสังคมค่อนข้างสูง พ่อแม่ต้องออกไปทำงานกันทั้งคู่ ไม่มีคนที่มีเวลาดูแลเด็ก ในสังคมที่กดดันขนาดนี้ ต้องมาพิจารณาขอบเขตการรับผิดชอบของพ่อแม่ต่อเด็ก ต้องทบทวนหากอยากได้ทรัพยากรเด็กที่มีคุณภาพและไม่เป็นอาชญากร

 

▪ มาตรฐานระหว่างประเทศเป็นเข็มทิศ-เป็นตัวนำ

 

อุกฤษฏ์  ศรพรหม ผู้จัดการโครงการ กลุ่มงานด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมฯ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ) กล่าวว่า ได้ศึกษากลุ่มเด็กพบว่า เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีความแตกแยกเป็นภูมิหลัง เด็กจะถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายมาก่อน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในฐานะอาชญากรเด็ก มีการใช้อาวุธ จากสภาพแวดล้อมที่สามารถใช้อาวุธทำร้ายตัวเองและทำร้ายคนอื่น ความรุนแรงที่ใกล้ตัวเด็กที่สุดเกิดขึ้นในบ้าน ในโรงเรียน มีภูมิหลังก่อนกระทำผิดอาญาหรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจำนวนมากที่สุด มีพฤติกรรมพึ่งพายาเสพติดเพื่อบรรเทาความเครียด มีเพื่อนนำไปสู่วงจรยาเสพติด และสร้างพื้นที่ที่มีตัวตน เนื่องจากถูกปฏิเสธจากพ่อแม่หรือคุณครู 

 

ใครต้องรับผิดชอบเมื่อเด็กก่ออาชญากรรม ประกอบด้วย ตัวเด็ก พ่อแม่ บุคคลแวดล้อม และสังคมชุมชน รวมถึงรัฐด้วยที่ต้องมีกลไกเอื้อต่อการเจริญเติบโตในภาวะที่เป็นปกติ 

 

สำหรับประเทศไทย เด็กอายุ 12 ปีไม่ต้องรับโทษอาญา แต่จะมีมาตรการพิเศษอื่นๆ ถ้าเราพัฒนากลไกภาครัฐที่พร้อมจะสนับสนุนได้ เด็กจะไปสู่พัฒนาการที่สมบูรณ์ พร้อมเป็นผู้ใหญ่พึงประสงค์ในอนาคต โดยใช้กฎหมายระหว่างประเทศ มาตรฐานระหว่างประเทศเป็นเข็มทิศ เป็นตัวนำ เนื่องจากมาตรฐานระหว่างประเทศบางประการสามารถใช้กำหนดนโยบายมาตรฐานการปฏิบัติได้เช่นกัน ในเมืองไทยมีจุดไหนที่ยังพัฒนาต่อได้ เพื่อส่งเสริมให้ไปถึงมาตรฐานระหว่างประเทศได้ 

 

สำหรับเป้าหมายการเยียวยาความเสียหาย ต้องเยียวยาผู้เสียหาย ฟื้นฟูพฤติกรรม และป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งสังคมมีส่วนสำคัญ 

 

โซเชียลมีเดียกระพือข่าวเวลาเด็กกระทำความผิด แต่เมื่อเด็กถูกดำเนินคดีก็ไม่สามารถนำเสนอข่าวได้ เพราะกฎหมายไม่ให้นำเสนอข่าวที่เป็นผลเสียต่อเด็ก สังคมจึงไม่ได้รับทราบว่าหลังจากเขากระทำผิดแล้วเขาไปไหนต่อ ขณะที่การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเป็นภาวะที่เอื้อต่อการเติบโตของเด็ก ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาพฤติกรรมและความคิดควบคู่ไปด้วย

 

▪ สังคมและเหยื่อต้องได้รับความคุ้มครอง 

 

ผศ.ดร.นงลักษณ์ อานี อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ กล่าวว่า มีเด็กจำนวนไม่มากที่กระทำความผิดอันตรายร้ายแรง โหดร้าย จากการดูกฎหมายแต่ละประเทศมีเกณฑ์อายุประกอบกับฐานความผิดคู่กันทั้งสองส่วน หากเอาอายุเป็นเกณฑ์อย่างเดียว จะเป็นการดูแลเด็กจนกระทั่งลืมปกป้องสังคม ลืมปกป้องเหยื่อ ดังนั้นกรณีเด็กซึ่งไม่ได้มีจำนวนไม่มากที่กระทำความผิดต่อชีวิต ต่อร่างกาย เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือกระทำความผิดซ้ำในฐานความผิดโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไป ให้ดุลพินิจศาลจะไม่ลดโทษความผิดก็ได้ เพื่อให้มีช่องทางที่สังคมและเหยื่อได้รับความคุ้มครอง 

 

▪ หน้าที่พ่อแม่ 

 

อภิญญา ช้างสีทา นิติกร ฝ่ายกฎหมาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ศึกษากฎหมายในต่างประเทศ เขาก็มีแนวคิดเรื่องพ่อแม่ไม่ทำหน้าที่ จนทำให้เด็กมีแนวโน้มจะทำความผิดอาญา ก็มีความรับผิดอาญาเช่นกัน แต่อาจจะมีการละเว้นตามกฎหมาย

 

ทั้งนี้เสนอแนวคิดว่า พ่อแม่มีหน้าที่พิสูจน์ว่าเมื่อรู้ว่าลูกกระทำความผิดหรือมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมไม่ดี หากพิสูจน์ได้ว่าอบรมสั่งสอน ลงโทษ ห้ามปรามพอสมควรแล้ว รวมถึงไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กเข้าสู่สนามยิงปืนหรือทำให้เด็กยอมรับพฤติกรรมไม่ดี หากพิสูจน์ได้ พ่อแม่ก็สบายใจได้ว่าไม่มีความผิด แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่นำเสนอ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X