×

กู้เรือหลวงสุโขทัย มีอะไรซ่อนอยู่ ทำไมสหรัฐฯ อาสาช่วยหาสาเหตุการจม เกินความสามารถกองทัพเรือจริงหรือ

15.02.2024
  • LOADING...
เรือหลวงสุโขทัย

ผ่านไปเกินกว่าหนึ่งปีแล้วที่กองทัพเรือไทยประสบกับภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นคือการจมของ ‘เรือหลวงสุโขทัย’ ในอ่าวไทย

 

ในอดีตมักเกิดเหตุการณ์ขึ้นกับเรือคอร์เวตต์ของกองทัพเรือที่มักตั้งชื่อเรือตามยุคสมัยของชาติไทย จนหลายคนเชื่อไปถึงว่ามีอาถรรพ์ เช่น กรณีเกิดเหตุกับเรือหลวงธนบุรี ซึ่งจมลงจากกระสุนของเรือรบฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีน หรือลำอื่นที่เกิดเหตุแบบไม่คาดคิดอย่างเรือหลวงศรีอยุธยา ซึ่งจมลงจากความขัดแย้งทางการเมืองเพราะถูกกองทัพอากาศไทยทิ้งระเบิดใส่ และกรณีล่าสุด เรือหลวงสุโขทัยที่จมลงจากคลื่นลม คงเหลือแต่เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือแฝดของเรือหลวงสุโขทัย ที่ยังลอยลำอยู่

 

สำหรับเรือหลวงสุโขทัยนั้น มีความพยายามกู้เรือขึ้นมาจากใต้ทะเลอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการประมูล การล้มการประมูลและต้องประมูลใหม่ ไปจนถึงการทักท้วงของสหรัฐอเมริกาว่า กองทัพเรือไทยอาจทำผิดเงื่อนไขการจัดหาอาวุธ ขณะที่คนไทยในฐานะเจ้าของเรือตัวจริงจากภาษีประชาชนยังไม่ทราบแม้แต่ผลการสอบสวนเบื้องต้นเลยว่าเรือจมได้อย่างไร

 

อันที่จริงกองทัพเรือยืนกรานมาเสมอว่า การกู้เรือจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของการหาสาเหตุการจมของเรือ โดยยืนยันว่านอกจากเรือที่จมจะขวางทางเดินเรือแล้ว การกู้เรือทั้งลำขึ้นมาตรวจสอบจะเป็นหนทางเดียวที่จะวิเคราะห์สาเหตุได้ เพราะไม่สามารถส่งคนดำน้ำลงไปตรวจสอบได้เนื่องจากอันตราย และแม้ว่าจะดำลงไปได้ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 

 

มีการสอบถามหลายครั้ง โดยเฉพาะในกรรมาธิการทหารของสภาผู้แทนราษฎรว่า สามารถถ่ายรูปมาวิเคราะห์สาเหตุได้ไหม กองทัพเรือก็ยืนยันว่า “ไม่ได้”

 

การประมูลเพื่อหาผู้ชนะจึงเดินหน้าต่อไป แต่เป็นการเดินหน้าแล้วถอยหลัง เพราะการประมูลครั้งแรกล้มลง พร้อมข้อครหาว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม จนการประมูลครั้งที่สองก็เกิดขึ้น แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถประกาศผู้ชนะได้ ซึ่งมาพร้อมข่าวลือว่าบริษัทจีนจะเป็นผู้ชนะในการประมูล

 

แต่หลายวันก่อนผู้บัญชาการทหารเรือให้สัมภาษณ์ว่า อาจไม่ต้องกู้แล้ว เพราะสหรัฐอเมริกาจะมาดำน้ำถ่ายรูปให้ ซึ่งจะนำมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุต่อไป ต่อมามีการตอกย้ำกับผู้แทนของกองทัพเรือที่ตอบคำถามในระหว่างการแถลงข่าวการฝึก Cobra Gold 2024 ว่า การกู้เรือแบบจำกัด หรือ Light Salvage จะเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก Cobra Gold 2024 ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะมาช่วยสนับสนุนการกู้พร้อมกับนักดำน้ำของกองทัพเรือ โดยจะดำเนินการ 4 กิจกรรมคือ

 

  1. การดำน้ำลงไปค้นหาผู้สูญหาย 5 คน 
  2. การหาหลักฐานการจมของเรือ 
  3. นำอาวุธและกระสุน หรือความลับทางทหารของสหรัฐอเมริกาขึ้นมา 
  4. การนำอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์บางรายการขึ้นมาจากน้ำ

 

ส่วนการประมูลนั้นคาดว่าจะยุติแล้ว และอาจปล่อยให้เรือจมอยู่อย่างนั้นตลอดไป ที่จริงแล้วประเด็นการกู้เรือมีจุดเปลี่ยนสำคัญจากการที่ ชยพล สท้อนดี สส. จากพรรคก้าวไกล เอาเอกสารมาเปิดเผยว่า คณะที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย หรือ JUSMAGTHAI ส่งหนังสือมาทวงกองทัพเรือถึงสองครั้งว่า กองทัพเรือมีข้อผูกพันที่จะต้องรักษาความลับของอาวุธของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจะให้บริษัทใดกู้เรือก็ต้องให้สหรัฐอเมริการับรองก่อน ซึ่งกองทัพเรือไม่ตอบเอกสารต่อสหรัฐอเมริกา

 

เอาจริงๆ สหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่คนอื่นไกล เพราะ JUSMAGTHAI ก็มีสำนักงานอยู่แถวๆ สวนลุมพินีนี้เอง การที่พวกเขาจะทราบความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก และยิ่งมีข่าวว่าบริษัทจีนอาจจะเป็นผู้ชนะ JUSMAGTHAI ก็คงอยู่เฉยไม่ได้ จนในช่วงที่ผ่านมา พลเรือเอก จอห์น อาควิลิโน นายทหารคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา ได้มาเยือนไทยระหว่างวันที่ 17-20 มกราคม และได้เข้าพบ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยด้วยเช่นกัน พอหลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวความร่วมมือนี้ออกมาจากปากผู้บัญชาการทหารเรือ

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องส่งหนังสือมาทวง จนถึงกับขอลุยช่วยกู้เรือเองแบบให้ทำฟรีก็ยอม เป็นเพราะเรือลำนี้ต่อในสหรัฐอเมริกา มีเทคโนโลยีทางทหารของสหรัฐอเมริกาเต็มลำเรือ ซึ่งผู้ซื้ออาวุธจะต้องยอมรับข้อตกลงที่เรียกว่า ข้อตกลงของผู้ใช้รายสุดท้าย คือ End User Agreement ที่แม้ไม่ได้มีเงื่อนไขจำกัดการใช้งาน แต่จะต้องรักษาความลับทางทหารของสหรัฐอเมริกา ไม่ให้บุคคลที่สามเข้าถึงได้ ซึ่งการละเมิด End User Agreement นั้น แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่สามารถจับคนไทยคนไหนขึ้นศาลได้ แต่สหรัฐอเมริกาสามารถแบนการขายอาวุธหรืออะไหล่ในอนาคตต่อไทยได้ทั้งหมดเนื่องจากไทยผิดข้อตกลงนี้ และอาจจะไม่ได้แบนเฉพาะเหล่า แต่เป็นการแบนทั้งประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงรถเกราะ Stryker ของสหรัฐอเมริกาในกองทัพบกไทยอาจไม่ได้รับอะไหล่ หรือแม้แต่อาจไม่ขายเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่กองทัพอากาศไทยสนใจให้ด้วยซ้ำ

 

นอกจากสหรัฐอเมริกาจะต้องการทราบว่ากองทัพเรือไทยดูแลรักษาเรือที่เขาต่อได้ดีหรือไม่หลังจากทำเรือจม เขายังต้องการความมั่นใจด้วยว่า กองทัพเรือจะไม่จ้างบริษัทจีนมากู้เรือ ที่ไม่รู้ว่าจะกู้เรือไปแอบเรียนรู้เทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาด้วยหรือไม่

 

ที่จริงไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาที่มี End User Agreement บังคับต่อผู้ซื้อเท่านั้น แต่แทบทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นยุโรป รัสเซีย จีน หรือเกาหลีใต้ ก็มี End User Agreement คล้ายๆ กัน ซึ่งเป็นการบังคับต่อผู้ซื้ออาวุธอย่างไทยเช่นกัน และจากข้อเท็จจริงที่ว่ากองทัพเรือไทยซื้ออาวุธค่อนข้างเก่งเพราะซื้อจากหลายประเทศ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่กองทัพเรือไทยจะไม่ตระหนักถึงข้อนี้ หรือว่าไม่ได้ตระหนักจริงๆ หรือเพราะลืม กองทัพเรือไทยจึงไม่ได้สื่อสารกับ JUSMAGTHAI จนเขาต้องส่งหนังสือมาทวงถึงสองรอบ เพื่อถามว่าสรุปรู้หรือยังว่าเรือจมเพราะอะไร และจะให้ใครกู้ จนท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ทนไม่ไหว ต้องมาเสนอว่าจะช่วยกู้เอง ไม่ต้องไปจ้างจีนแล้วนะ ซึ่งถือว่าเขาทำเพราะไม่อยากจะมาแบนไทยให้เสียเพื่อนด้วยซ้ำ

 

ทั้งหมดนี้จึงน่าสงสัยว่า มาตรฐานในการปฏิบัติงานตกต่ำลงหรือไม่ เพราะเรือก็จม การสอบสวนก็ช้า กู้เรือก็มีปัญหา End User Agreement ก็เหมือนจะลืม มันแปลว่ามีปัญหาทุกมิติจริงๆ และนี่ไม่ใช่โปรเจกต์เดียว เพราะยังมีโปรเจกต์ค้างคาอย่างเรือดำน้ำที่ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไรอีก

 

เอาเป็นว่าไม่ว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร สิ่งที่กองทัพเรือต้องทำก็คือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกองทัพเรือ ซึ่งต้องทำมากกว่าการแถลงข่าวขอให้ประชาชนเชื่อมั่น แต่ต้องแสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือตั้งใจที่จะปรับปรุงการทำงาน จริงใจที่จะสอบสวนหาสาเหตุของเรือล่มอย่างเป็นกลาง โดยไม่เอื้อให้นายพลบางคนที่วันที่เรือจมก็เป็นคนสั่งการ แต่พอมาวันนี้กลับมานั่งคุมการสอบสวนเสียเอง รวมถึงเปิดเผยผลการสอบสวนให้ประชาชนทราบโดยไม่ปกปิด

 

มิเช่นนั้นคำขวัญที่ติดอยู่ที่ประตูของกองบัญชาการกองทัพเรือที่ว่า กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ จะกลายเป็นแค่คำโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีประชาชนคนไทยเชื่อเลย

 

ภาพ: ROYAL THAI NAVY / AFP PHOTO

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X