×

7 บลจ. เตรียมยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการฟ้อง STARK

14.02.2024
  • LOADING...

สมาคม บลจ. ออกโรงชี้แจงกรณี 7 บลจ. เป็นผู้เสียหาย หลังลงทุนซื้อหุ้น PP ของ STARK แล้วนำเงินไปลงทุนผิดวัตถุประสงค์-ปลอมงบการเงิน เตรียมยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมฟ้องบอร์ด-ผู้บริหาร

 

ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies: AIMC) ในฐานะตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการกรณีการลงทุนใน บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK มั่นใจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยึดมั่นในความรับผิดชอบสูงสุดต่อผู้ถือหน่วยลงทุน

 

ตามที่ บลจ. จำนวน 7 แห่ง ได้มีการลงทุนใน STARK ผ่านการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement: PP) และ STARK นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีการเปิดเผยงบการเงินอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้กองทุนภายใต้การจัดการของ บลจ. ได้รับความเสียหายนั้น โดย บลจ. ทั้ง 7 แห่งภายใต้ AIMC ได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อรักษาและติดตามผลประโยชน์ของกองทุนอย่างเต็มความสามารถ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้วดังนี้

 

  1. การแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สำหรับทุกกองทุนที่ได้รับความเสียหาย
  2. การยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายสำหรับทุกกองทุน
  3. การเข้าพบกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้การในฐานะพยานและนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีต่อ STARK
  4. การเข้าพบผู้บริหารสำนักงาน ก.ล.ต. และผู้บริหาร DSI เพื่อหารือแนวทางในการดำเนินคดีกับ STARK เพื่อเอาผิดและติดตามให้ได้มาซึ่งการชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนของกองทุน

 

7 บลจ. ขอเป็นโจทย์ร่วมฟ้องบอร์ด-ผู้บริหาร STARK

 

ทั้งนี้ ต่อมา DSI ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่มีการกล่าวหา กรรมการผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของ STARK อันเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกันกระทำการลงข้อความเท็จในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท ร่วมกันทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง จัดการทรัพย์สินของนิติบุคคลโดยมิชอบ เบียดบังทรัพย์สินเป็นของตนเองหรือผู้อื่น แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 41, 343 ไปยังอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษและพนักงานอัยการ 

 

สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวแล้วมีคำสั่งฟ้องกรรมการผู้บริหารบริษัท STARK กระทำการทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

 

ตามที่ปรากฏข่าวแล้วนั้น AIMC ได้เข้าพบพนักงานอัยการเพื่อหารือแนวทางการดำเนินคดีและเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในการฟ้องกรรมการ ผู้บริหารบริษัท STARK และบุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าพิจารณาการลงทุนของผู้จัดการกองทุนของทุก บลจ. ในหุ้น PP ขอยืนยันว่ามีความโปร่งใส ปฏิบัติตามหน้าที่ด้วยความบริษัทสุทธิ์ใจ โดยคดีการฟ้องร้อง STARK ถือเป็นคดีแรกที่ บลจ. จะดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องด้านตราสารทุน

 

“อุตสาหกรรมให้ความสำคัญในเรื่องความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจที่ได้รับจากผู้ถือหน่วยลงทุน และมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบสูงสุด เชื่อมั่นว่าการทำหน้าที่ของทุก บลจ. ในกรณีนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ”

 

เปิดชื่อ 12 สถาบันร่วมซื้อหุ้น PP มูลค่ากว่า 5 พันล้าน

 

ก่อนหน้านี้ช่วงกลางปี 2566 บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานการจัดสรรหุ้น PP จำนวน 1.5 พันล้านหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ 3.72 บาท มูลค่ารวม 5.58 พันล้านบาท พบว่ามีผู้ลงทุนได้รับการจัดสรรหุ้น PP ดังกล่าวในช่วงปี 2565 จำนวนรวม 12 ราย ดังนี้ 

 

  • Credit Suisse (Singapore) Limited จำนวน 74.40 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 276.77 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้นภายหลังการเพิ่มทุน 0.56% 
  • The Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited จำนวน 353 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 1,313.16 ล้านบาท สัดส่วน 2.64%
  • UOB Kay Hian Private Limited จำนวน 58.50 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 217.62 ล้านบาท สัดส่วน 0.46%
  • บลจ.บัวหลวง จำนวน 320 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 1,190.40 ล้านบาท สัดส่วน 6.51%
  • บลจ.กสิกรไทย จำนวน 268.82 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท สัดส่วน 2.52%
  • บริษัท เอสซีบี แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ จำกัด จำนวน 182 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 677.04 ล้านบาท สัดส่วน 1.36%
  • บลจ.เกียรตินาคินภัทร จำนวน 53.76 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 200 ล้านบาท สัดส่วน 0.87%
  • บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS จำนวน 51 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 189.72 ล้านบาท สัดส่วน 0.87%
  • บลจ.วรรณ จำกัด จำนวน 47.03 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 174.95 ล้านบาท สัดส่วน 0.35%
  • บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 30 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 111.60 ล้านบาท สัดส่วน 0.22%
  • บลจ.กรุงไทย จำนวน 29 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 107.88 ล้านบาท สัดส่วน 0.22%
  • บลจ.อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำนวน 32.49 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 120.86 ล้านบาท สัดส่วน 0.24%

 

ทั้งนี้ จากผลการสอบสวนของ DSI พบพยานหลักฐานมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้ต้องหาที่กระทำผิดในคดี STARK ได้ร่วมกันลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีและงบการเงิน เพื่อให้ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น มีผลประกอบการที่ดี และมีการนำงบการเงินที่มีการตกแต่งดังกล่าวมาใช้สำหรับการออกหุ้นกู้เพื่อเสนอขายแก่ประชาชนจำนวน 3 ชุด ในปี 2564-2565 รวมเป็นเงิน 9,198 ล้านบาท รวมทั้งยังใช้ดำเนินการเสนอขายหุ้น PP ในปี 2565 อีกจำนวน 5,580 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง รวมเป็นความเสียหายรวมจำนวน 14,778 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X