วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปลาทูที่พร้อมสืบพันธุ์และมีไข่แก่ให้สามารถวางไข่และแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้ อีกทั้งยังเป็นการคุ้มครองลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนให้สามารถเจริญเติบโตเพื่อทดแทนสัตว์น้ำที่ถูกจับไป อันจะเป็นการสานต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน และเป็นมาตรการที่กรมประมงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 โดยได้มีการปรับปรุงประกาศฯ ให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากผลจับปลาทูภายหลังการดำเนินมาตราการปิดอ่าวในปี 2566 พบว่า ปริมาณปลาทูที่จับได้ฝั่งอ่าวไทยมีจำนวน 41,310 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,316.57 ล้านบาท มากกว่าปริมาณที่จับได้ในปี 2565 (จำนวน 35,708 ตัน) ถึง 5,602 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16) คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 659.08 ล้านบาท จึงกล่าวได้ว่าการใช้มาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางใน 2 ช่วงเวลาในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นประจำทุกปีนั้น ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ในพื้นที่อ่าวไทยอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ กรมประมงใช้ประกาศ ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดพื้นที่ และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยแบ่งการใช้มาตรการออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2567 ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมเป็นระยะเวลา 90 วัน โดยห้ามใช้เครื่องมือที่มีผลกระทบต่อพ่อแม่พันธุ์และลูกพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน
อย่างไรก็ตาม อนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มเรือประมงขนาดเล็กที่ไม่กระทบต่อมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง
- เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืนและทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
- เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป โดยการทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ความยาวอวนที่ใช้จะต้องไม่เกิน 2,500 เมตรต่อเรือประมง 1 ลำ
- เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง
- เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
- ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
- ลอบหมึกทุกชนิด
- ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน สามารถทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง
- คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
- อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ
- จั่น, ยอ, แร้ว, สวิง, แห, เบ็ด, สับปะนก, ขอ, ลอบ, ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
- เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือประมง ซึ่งได้แก่
-
- อวนลากคู่ อวนล้อมจับ (มีสายมาน) อวนล้อมจับปลากะตัก คราดทุกชนิดประกอบเรือกล และเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ)
- เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตักที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ)
- เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2567 อาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- อนุญาตให้เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง ไม่ได้จำกัดความยาวของเรือที่ใช้ทำการประมง และเวลาในการทำการประมง ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งของพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี แต่ในพื้นที่บริเวณเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อนุญาตให้เฉพาะเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืนและทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
- เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ประกอบเรือกลที่มีขนาด 10 ตันกรอส อนุญาตให้ทำการประมงได้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เฉพาะบริเวณเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
บัญชา กล่าวขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตลอดมา และเพิ่มความระมัดระวังให้การทำการประมงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางในแต่ละห้วงเวลานั้นก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ และการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงตลอดไป