หลังเข้าสู่เดือนที่สองของปีนี้ จนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวมมูลค่า 7.9 พันล้านบาท หลังจากที่เป็นฝ่ายขายสุทธิราว 3 หมื่นล้านบาทเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติช่วยให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นราว 40 จุด กลับมาสู่ระดับ 1,400 จุด อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝ่ายขายสุทธิราว 2,000 ล้านบาท หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% อย่างไรก็ตาม มติการประชุมของ กนง. ในครั้งนี้ไม่เป็นเอกฉันท์ แบ่งเป็นมติคงดอกเบี้ย 5 เสียง และลดดอกเบี้ย 2 เสียง
หากไทยลดดอกเบี้ยก่อนสหรัฐฯ อาจทำให้ฟันด์โฟลวไหลออก
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การกลับเข้ามาของต่างชาติเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม หลังจากไทยประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท ไม่ว่าจะเป็นดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ออกมาดีกว่าคาดการณ์ค่อนข้างมาก
“เงินบาทแข็งค่าทันทีก่อนหน้านี้ จากนั้นจึงเห็นเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นตามมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นการเก็งกำไรค่าเงินบาท”
หากจะเห็นฟันด์โฟลวไหลเข้าหุ้นไทยต่อเนื่อง คงต้องเห็นกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4 ที่ผ่านมาออกมาในเชิงบวก และตามมาด้วยการปรับประมาณการกำไรขึ้น
ส่วนมติ กนง. ที่ไม่เป็นเอกฉันท์สำหรับการคงอัตราดอกเบี้ย ณัฐชาตมองว่า โดยรวมแล้วอาจเป็นปัจจัยกดดันให้ฟันด์โฟลวไหลออก
“ก่อนหน้านี้ที่ฟันด์โฟลวไหลออกจากหุ้นไทยค่อนข้างมาก เพราะจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ที่ต่างกันค่อนข้างมาก หากแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยก่อนหน้า Fed ส่วนต่างดอกเบี้ยจะกลับมากว้างขึ้นอีก อาจทำให้ฟันด์โฟลวไหลออกอีกครั้ง”
ตอนนี้จะเห็นว่าธนาคารกลางของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ระมัดระวังอย่างมากในการจะเป็น First Mover หรือนำหน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการลดดอกเบี้ย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย ความเชื่อมั่นนักลงทุนเริ่มฟื้น
ด้าน ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วง 4 วันทำการก่อนหน้านี้ เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยยังมีขนาดไม่มากนัก และเป็นการไหลเข้าทั้งภูมิภาค
“อาจต้องรอดูอีกสักหนึ่งเดือนว่านักลงทุนต่างชาติกลับเข้าสู่โหมด Risk-On จริงแล้วหรือไม่ ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือกำไรของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศในปีนี้”
อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเริ่มฟื้นกลับมากใกล้สู่ระดับเป็นกลาง (Neutral) มากขึ้น จากที่อยู่ในระดับเป็นลบ (Negative) และเป็นลบอย่างมาก (Highly Negative) ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนวิตกกังวล ก่อนที่ปัจจัยต่างๆ จะคลี่คลายไปมาก แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องระมัดระวัง เช่น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
“ตอนนี้ Sentiment ในตลาดดีขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยค่อยๆ ลดลงในตลาดโลก จะช่วยให้เงินทุนไหลกลับเข้ามาตลาดหุ้นมากขึ้น แต่การฟื้นตัวของหุ้นไทยแต่ละกลุ่มอาจไม่เท่ากัน และที่ผ่านมาจะเห็นว่าดัชนีหุ้นไทยจะสัมพันธ์กับการเติบโตของกำไรค่อนข้างมาก หากกำไรบริษัทจดทะเบียนกลับมาเติบโต ดัชนีหุ้นไทยก็มีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้”
ปัจจัยบวกสำคัญต่อหุ้นไทยตอนนี้คือ ประมาณการเศรษฐกิจไทยของแต่ละหน่วยงานที่มองว่า GDP ไทยจะเติบโตจากปีก่อน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตจากราว 85 บาทต่อหุ้น เป็น 96 บาทต่อหุ้นในปีนี้ นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า
ภาพ: John W Banagan / Getty Images