วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส. กระบี่ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมด้วย สส. พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .… ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และ สส. พรรคภูมิใจไทยร่วมกันเข้าชื่อ โดยมี อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือแทน
สฤษฏ์พงษ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ ศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย และทีมกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย ไปศึกษาว่าประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่ผ่านมามีปัญหาต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และได้รับการร้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กร จึงเป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
สฤษฏ์พงษ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีทั้งหมด 240 ประกาศและคำสั่งรวมกัน โดยออกเป็นกฎหมาย 71 ฉบับ ซึ่งคำสั่งของคณะรัฐประหารเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ ก็จะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติในการยกเลิกเช่นกัน จึงมีการศึกษาว่าเนื้อหามีสาระสำคัญที่ยังใช้บังคับได้ 37 เรื่อง จะสามารถนำมาใช้โดยเปลี่ยนเป็นคำสั่งหรือประกาศให้เป็นพระราชบัญญัติ ส่วนประกาศหรืออย่างอื่นที่ต่ำกว่าคำสั่ง สามารถยกเลิกได้ โดยการทำเป็นพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวงอย่างละ 2 ฉบับ ส่วนสิ่งที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ ที่เทียบเท่ามติ ครม. มีทั้งหมด 55 เรื่อง โดยมีการยกร่างผ่าน 7 มาตรา
สำหรับ ‘พระราชบัญญัติพ่วง’ ที่เป็นการรวมประกาศและคำสั่งที่จะมาแก้ไขด้วยกัน ซึ่งมีทั้งหมด 240 ฉบับนั้น มีเรื่องที่จะต้องแก้ไข 71 เรื่อง จึงนำเรื่องที่จะต้องแก้ไขมาใช้ในแนบท้ายร่างประกาศ ส่วนก่อนหน้านี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 25 ที่ผ่านมาเคยมีการทบทวนคล้ายกับการสังคายนากฎหมาย และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
สฤษฏ์พงษ์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยในวันนี้มีประกาศคณะรัฐประหารที่บังคับใช้อยู่ตั้งแต่ตอนต้นรวมกว่า 1,000 ฉบับ ซึ่งก่อนครบวาระสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 มีการพยายามทำกฎหมาย โดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดทำประมวลกฎหมายและกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก แต่ กมธ.ชุดดังกล่าวดำเนินการไปเพียง 12 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ตนเองจึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ได้ตำหนิคำประกาศของคณะรัฐประหารแต่อย่างใด บางฉบับก็มีความจำเป็นในการปกครองประเทศ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อจากคำประกาศคณะรัฐประหารมาให้เป็นกฎหมายชื่อพระราชบัญญัติหรืออย่างอื่นที่จะดูดีในสายตาของชาวต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย
เปิดกฎหมาย 71 ฉบับที่ต้องยกเลิก
ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ผู้เสนอได้ให้เหตุผลและความจำเป็นว่า การออกประกาศและคำสั่ง คสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน โดยอ้างความจำเป็นเพื่อควบคุมสถานการณ์และความสงบเรียบร้อยในระหว่างการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง
สิทธิเสรีภาพที่ถูกจำกัด เช่น เสรีภาพในการชุมนุมหรือสมาคม เสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะนำเสนอข่าวสารอย่างเป็นอิสระ สิทธิในร่างกายและเสรีภาพในการเดินทางที่ถูกจำกัดด้วยการเรียกไปรายงานตัว การกักตัว และให้ทำข้อตกลงที่จะงดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิชุมนุมที่จะมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของรัฐ และสิทธิในการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งทั้ง 71 ฉบับ ดังนี้
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2557 เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/2557 เรื่อง ให้มารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2557 เรื่อง การดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 35/2557 เรื่อง อำนาจในการอนุมัติงบประมาณของปลัดกระทรวง
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2557 เรื่อง ความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 86/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2559 เรื่อง การกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2561 เรื่อง การกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พุทธศักราช 2559
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2562 เรื่อง การกำหนดรายชื่อบุคคลสำรองสำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
- ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2562 เรื่อง ประกาศรายชื่อบุคคลสำรองสำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวม
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2558
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในการเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 36/2558 เรื่อง แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2558
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเป็นการชั่วคราว
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2559 เรื่อง การประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2559 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 25/2559 เรื่อง ยกเลิกการห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2559 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 32/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันการลักลอบนำสารเคมี วัสดุ หรือเครื่องมือบางประเภทไปใช้ผลิตยาเสพติด
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 35/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิกในท้องที่ตำบลวังบาล และตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2559 เรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 51/2559 เรื่อง การดำเนินการกับของที่เก็บในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี และของที่ใช้เป็นยุทธภัณฑ์เพื่อบรรเทาสาธารณภัย
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 54/2559 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2559 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 61/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาบุคลากรด้านการบิน
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 62/2559 เรื่อง การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 69/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายการประมง
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 75/2559 เรื่อง ระงับการคัดเลือกบุคคลและการสรรหาเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 78/2559 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 5/2560 เรื่อง มาตรการให้อำนาจกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2560 เรื่อง การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 27/2560 เรื่อง การพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 32/2560 เรื่อง การบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 40/2560 เรื่อง มาตรการรองรับเพื่อให้การดำเนินการเดินอากาศเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2560 เรื่อง การบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2561 เรื่อง การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2561 เรื่อง การจัดสรรภารกิจและบุคลากรของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2561 เรื่อง การยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
60.คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 14/2561 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม)
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2561 เรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณี
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2561 เรื่อง การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 19/2561 เรื่อง กลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 20/2561 เรื่อง มาตรการสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความต่อเนื่อง
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ
ภูมิใจไทยจะทำอย่างไร
ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ผู้เสนอได้ระบุถึงสาระสำคัญจำนวน 3 ข้อ ดังนี้
- กำหนดให้มีการจำหน่ายคดีตามความผิดตามประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมด ให้ถือว่าจำเลยที่เคยต้องคำพิพากษาตามประกาศและคำสั่งที่ถูกยกเลิกไม่มีความผิด
นอกจากนี้ ให้ปล่อยจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก ยกเว้นจำเลยที่ถูกคุมขังตามกฎหมายอื่นที่ไม่ถูกยกเลิกตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย (ร่างมาตรา 4)
- กำหนดให้บุคคลพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหาร ซึ่งศาลทหารมีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว หากต้องการให้ศาลยุติธรรมพิจารณาคดีของตนใหม่ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจภายใน 30 วันนับจากวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากไม่ยื่นให้ถือว่าคำพิพากษาของศาลทหารเป็นที่สุด (ร่างมาตรา 5)
- กำหนดให้บุคคลพลเรือนที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร ให้โอนย้ายคดีมาอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรมที่เขตอำนาจเหนือคดีดังกล่าว โดยให้กระบวนการพิจารณาคดีภายใต้ศาลทหารที่ได้ทำไปแล้วไม่เสียไป เว้นแต่จำเลยจะร้องขอให้ศาลยุติธรรมเริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่ทั้งหมด (ร่างมาตรา 6)
คำสั่ง คสช. พิเศษอย่างไร
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือเกือบ 10 ปีที่แล้ว คสช. นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งรักษาการแทน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังเกิดวิกฤตการณ์การเมือง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ
จากนั้น คสช. ได้ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง จากนั้นประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ก่อนจะได้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และมาตรา 279 ได้บัญญัติให้ “บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้…ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ”
นั่นหมายความว่าจะต้องมีการเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณา และหากพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศหรือคำสั่ง คสช. นั้นผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจนประกาศใช้กฎหมาย บรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินั้นๆ ก็จะเป็นอันยกเลิกไป
ก้าวไกลชี้เป็นนิมิตหมายที่ดี
กรุณพล เทียนสุวรรณ สส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยยื่นร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่ง คสช. ว่า ถ้าฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันว่าคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน เชื่อว่าน่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี เพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะยกเลิกคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมของ คสช. อยู่แล้ว ก็หวังว่ารัฐบาลจะเห็นด้วย เพราะพรรคก้าวไกลก็มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งฯ เช่นเดียวกัน
แต่อาจจะแตกต่างกันในเรื่องของรายละเอียด เพราะช่วงหาเสียงทุกพรรคการเมืองพูดตรงกันว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร และคำสั่งของ คสช. ไม่ได้ยึดเสรีภาพและสิทธิของพี่น้องประชาชน คิดว่าครั้งนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะได้กฎหมายที่เรียกว่าเป็นสากลโลก
เพื่อไทยเตรียมยื่นร่างประกบ นายกฯ มอบ ‘พิชิต’ ศึกษาเพิ่ม
ขณะที่ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส. สุรินทร์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยยื่นร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่ง คสช. ว่าในส่วนของพรรคเพื่อไทยจะมีการยื่นร่างฯ ประกบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะ ไปศึกษาคำสั่ง คสช. ทั้งหมด
ขณะที่รัฐสภานั้นมีฉบับของ ชูศักดิ์ ศิรินิล เรื่องการแก้ไขคำสั่งที่ 14 ให้ยกเลิกและเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คงออกมาเร็วๆ นี้ เพราะไม่ใช่เรื่องยาก ทางภูมิใจไทยยื่นมา เราก็เป็นวิปรัฐบาลร่วมกัน ก็ต้องนำมาดูและพูดคุยกันเพื่อทำให้กฎหมายดีที่สุด อะไรที่จะต้องยกเลิกก็ต้องยกเลิก อะไรที่ยังเป็นประโยชน์ก็นำมาปรับปรุงใหม่ โดยในวันพรุ่งนี้จะไปสอบถามเรื่องดังกล่าวในที่ประชุม สส. พรรค
อ้างอิง: