ตั้งแต่วันนี้ หรือ 9 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จะเริ่มใช้ระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องเดินรถในเขตห้าม (Lane Change Camera System) โดยในระยะเริ่มต้นได้ดำเนินการติดตั้งระบบตรวจจับดังกล่าว จำนวน 15 จุด ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 14,387,220 บาท ว่าจ้าง บริษัท นิวซีโน่ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ติดตั้งระบบตรวจจับฯ และพัฒนาระบบร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยเริ่มดำเนินการติดตั้งมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งทั้ง 15 จุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่
- สะพานข้ามแยกบางเขน ถนนงามวงศ์วาน ขาเข้า
- สะพานข้ามแยกศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ขาออก
- ทางลอดแยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า
- สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี ถนนบรมราชชนนี ขาออก
- สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน ถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้า
- สะพานข้ามแยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ขาออก
- แยกสามเหลี่ยมดินแดง ถนนราชวิถี ขาเข้า
- สะพานข้ามแยกประชานุกูล ถนนรัชดาภิเษก ขาออก
- สะพานศิริราชด้านอรุณอมรินทร์ ถนนอรุณอมรินทร์ ขาออก
- สะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ขาเข้า
- สะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ขาออก
- สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง ถนนรัชดาภิเษก ขาออก
- สะพานข้ามแยกพระราม 4 ถนนรัชดาภิเษก ขาออก
- สะพานพุทธ ถนนประชาธิปก ขาเข้า
- สะพานข้ามแยกกำนันแม้น ถนนกัลปพฤกษ์ ขาออก
โดยแต่ละจุดจะมีป้ายแจ้งเตือน 3 ระยะคือ ในระยะ 100 เมตร, 50 เมตร และ 30 เมตร ก่อนถึงจุดตรวจจับ ในส่วนของระบบการตรวจจับในแต่ละจุดประกอบไปด้วยกล้อง 4 ตัว ทำงานอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง มีความคมชัดและละเอียดสูง 2 ล้านเมกะพิกเซล สามารถตรวจจับได้ทั้งกลางวัน กลางคืน และทุกสภาพอากาศ สามารถบันทึกข้อมูลเก็บไว้ได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี ระบบจะดำเนินการตรวจจับ เมื่อพบการกระทำความผิด กล้องจะทำการบันทึกข้อมูลทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวผ่านระบบ ATS (Automated Ticketing System) และส่งภาพข้อมูลดังกล่าวกลับมายังศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทะเบียนรถ, ยี่ห้อ, รุ่น และสีของรถ หากถูกต้องครบถ้วนจะดำเนินการออกใบสั่งและส่งไปยังระบบ PTM (Police Ticket Management) ของธนาคารกรุงไทยเพื่อได้บาร์โค้ดกลับมา จากนั้นจะยืนยันความถูกต้องเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการออกใบสั่งส่งไปยังผู้ครอบครองหรือเจ้าของรถภายใน 7 วัน สามารถตรวจสอบความผิดย้อนหลังผ่านเว็บไซต์ URL หรือทางเว็บไซต์ www.trafficpolice.go.th ด้วยรหัสผ่านที่ระบุท้ายใบสั่งได้
ขณะที่สถิติการทดลองตรวจจับตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2561 ที่ผ่านมาพบผู้ฝ่าฝืนจำนวนทั้งสิ้น 226,257 รายต่อเดือน เฉลี่ย 7,542 รายต่อวัน
สำหรับความผิดดังกล่าวเป็นข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายบนพื้นที่ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ประกอบมาตรา 152 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในเบื้องต้น บก.จร. จะทำการเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 500 บาท โดยสามารถชำระค่าปรับผ่านเคาน์เตอร์และตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ หรือผ่านบริการ KTB netbank หรือสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่ง