ไทยขาดดุลการค้ากับโลก 2 ปีติด นักวิเคราะห์ประเมินในปี 2567 ไทยมีแนวโน้มขาดดุลการค้า ‘ต่อเนื่อง’ และ ‘เพิ่มขึ้น’ ท่ามกลางภาวะสินค้าจีนทะลักเข้าประเทศ ทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงเป็นประวัติการณ์
ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้าโลก (หรือนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกสินค้า) ถึง 302,925 ล้านบาท (หรือ 5,192 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และถือเป็นการขาดดุลการค้าปีที่ 2 ติดต่อกัน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การขาดดุลการค้าของไทยนับว่าดีขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (2565) ซึ่งเคยขาดดุลการค้าถึง 612,569 ล้านบาท
หลังจากปี 2564 และปี 2563 ดุลการค้าของไทยยังเป็นบวก หรือ ‘เกินดุล’ อยู่ที่ 43,355 ล้านบาท และ 707,300 ล้านบาทตามลำดับ ท่ามกลางความต้องการสินค้าทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ในช่วงที่รัฐบาลทั่วโลกบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ไทยเกินดุล-ขาดดุลการค้ากับประเทศใดมากที่สุดในปี 2566
- ส่งออกไทยทั้งปี 2566 ‘ติดลบ’ 1% พาณิชย์เผยเป้าปีนี้โต 1-2% เตรียมรุกตลาดอินเดีย-แอฟริกาใต้ ลดเสี่ยงจีน-ทะเลแดง
- ห่วงวิกฤต ‘ทะเลแดง’ เขย่าส่งออกซัพพลายเชนยานยนต์ไทย
เมื่อแยกเป็นรายประเทศพบว่า ไทยขาดดุลการค้า ‘จีน’ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ในปี 2556 ของไทยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ (นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าส่งออกไปจีน) โดยขาดดุลการค้าถึง 1,295,895 ล้านบาท (จำนวนนี้แยกเป็นการส่งออก 1.17 ล้านล้านบาท และนำเข้า 2.47 ล้านล้านบาท)
ขณะที่ดุลการค้าไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในปี 2556 พบว่าไทยเกินดุลการค้าสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1,005,418 ล้านล้านบาท
ประเทศไทยขาดดุลการค้า 2 ปีติดต่อกันน่ากังวลหรือไม่
Krungthai COMPASS เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การขาดดุลการค้าในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ถีบตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมัน ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยเผชิญข้อจำกัดที่มากขึ้น ทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการสูญเสียความสามารถเชิงแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ในเชิงเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทย ถือว่ายังคงเข้มแข็ง จากข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดล่าสุดในไตรมาสที่ 3/66 ไทยเกินดุลที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์ จากแรงหนุนของการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดุลการชำระเงินเกินดุลที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินทุนสำรองของไทยยังคงเพียงพอโดยอยู่ในระดับ 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
แนวโน้มดุลการค้าไทยในปี 2567 เป็นอย่างไร?
สำหรับในปี 2567 Krungthai COMPASS ประเมินว่า ไทยมีแนวโน้มที่จะขาดดุลการค้า ‘ต่อเนื่อง’ และมูลค่าการขาดดุลการค้าก็อาจ ‘เพิ่มขึ้น’ เนื่องจากการนำเข้าจะกลับมาขยายตัวที่ 3.7% สูงกว่าการส่งออกที่จะโตประมาณ 3.1%
ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีน ‘เป็นประวัติการณ์’ จากปัจจัยใด?
Krungthai COMPASS ระบุว่า การนำเข้าสินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาดในไทย เป็นหนึ่งในสาเหตุ โดยจากข้อมูลช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการค้าขาดดุลต่อจีนมาตลอดเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 7.9 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้ากับจีน 36,635 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.0 แสนล้านบาทต่อเดือน
หากพิจารณาในรายการสินค้านำเข้าจากจีนเพื่ออุปโภคบริโภคภายในประเทศของไทย จะพบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าบางรายการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสินค้าทั้งสองกลุ่มนี้จะใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อจูงใจผู้บริโภคในการแข่งขันกับผู้ผลิตไทย
ผู้ประกอบการแห่นำเข้าสินค้าจากจีนน่ากังวลหรือไม่
Krungthai COMPASS กล่าวอีกว่า ภาวะดังกล่าวถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนยังต้องเผชิญภาวะการแข่งขันกับจีน ทั้งกลุ่มที่ส่งออกไปยังตลาดอาเซียน เช่น อาหารแปรรูป พลาสติก อัญมณี และยานยนต์ เป็นต้น รวมถึงกลุ่มที่ถูกสินค้านำเข้าจากจีนตีตลาดในไทย เช่น เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ท่ามกลางภาวะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้จำกัด ส่งผลให้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าระดับเดิมที่เคยทำได้ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดเมื่อปี 2562
โดยปัญหาดังกล่าว (การผลิตภาคอุตสาหกรรมและระดับการใช้กำลังการผลิตที่ยังคงต่ำกว่าปกติเหล่านี้) อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องชะลอแผนขยายการผลิตออกไป และกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน