วันนี้ (30 มกราคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่ามีการตบทรัพย์ข้าราชการมีอยู่ในทุกกระทรวงนั้น ตนคิดว่าคนธรรมดา หากแพ้ใจตัวเองโอกาสที่จะเกิดคอร์รัปชันก็เกิดขึ้นได้ จึงควรระวังและจัดการให้เด็ดขาดตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้
ภูมิธรรมกล่าวต่อว่า ในกรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกระทรวง แต่จะมีหรือไม่มี หรือมากน้อยเพียงใด ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริงด้วย ฉะนั้นเมื่อประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ถือเป็นอุทาหรณ์ สะท้อนให้เห็นว่าไม่ควรเกิดขึ้นเด็ดขาด เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นการทำลายรากฐานสังคมไทย และรัฐมนตรีทุกคนมีหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่แล้ว และเมื่อรับทราบความผิดปกติก็จะเร่งดำเนินการแก้ไข ซึ่งต้องมีการกำชับว่าเรื่องในลักษณะนี้ไม่สามารถทำได้
ส่วนที่มีข่าวว่าเกิดลักษณะนี้ในหลายกรมเป็นไปตามที่ ร.อ. ธรรมนัสกล่าวอ้างหรือไม่นั้น ภูมิธรรมกล่าวว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งรัฐมนตรีทุกกระทรวงต้องกวดขันเรื่องนี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มีข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์มาแจ้งว่าถูกตบทรัพย์หลังจากเกิดเหตุการณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือไม่ ภูมิธรรมระบุว่า ปัญหาที่ผ่านมาก็รับรู้กันอยู่แล้ว อย่างเช่นกรณีที่เกิดเหตุกับองค์การคลังสินค้า และถูกอภิปรายในสภา ฉะนั้นหากพบปัญหาก็จะดำเนินการเด็ดขาดแม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนก็ตาม
ธรรมนัสป้องลูกน้อง ชี้อย่าทำให้คนถูกรังแกเป็น ‘ผู้ร้าย’
ขณะที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงกรณีที่มีการพาดพิงที่ปรึกษามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตบทรัพย์อธิบดีกรมการข้าว โดยถามสื่อมวลชนกลับว่า ขอให้หลับตานึกว่ากระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้เสียหาย ตนในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา และมีความสนิทสนมกับอธิบดีกรมการข้าวรวมถึงภรรยา เนื่องจากรู้จักกันมาก่อน ทุกเรื่องที่ผู้ใต้บังคับบัญชามีความทุกข์ก็จะมารายงาน ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายเรื่อง ตนรับรู้มาตลอดแต่ไม่อยากพูดมาก เนื่องจากเกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์ และจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการ
ร.อ. ธรรมนัสกล่าวยืนยันว่า สารตั้งต้นทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนถึงการนำจับ ตนทราบทุกอย่าง ตนจึงแนะนำให้ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ซึ่งตนเองมีฝ่ายกฎหมายกว่า 20 คน และอธิบดีมีการปรึกษามาโดยตลอด
“ขออย่ามองกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ร้าย เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ถูกกระทำ ผมจึงฝากไปยังสื่อมวลชนและนักร้องเรียน เวลาจะพูดอะไร รวมถึงการเปิดคลิป ขอให้เปิดให้หมด อย่าโจมตีกระทรวงเกษตรฯ เราเป็นผู้เสียหาย โดยเฉพาะอธิบดีกรมการข้าวถูกกระทำ ตอกย้ำว่าในเมื่อลูกน้องถูกกระทำ จะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์อะไรเลยเถิด” ร.อ. ธรรมนัสกล่าว
ร.อ. ธรรมนัสยังกล่าวอีกว่า เมื่อพูดคุยกันแล้ว ให้ตัวแทนไปคุยแล้ว แต่ไม่จบก็ไม่ต้องคุยกัน พร้อมกับกล่าวย้ำว่าอย่าไปสงสัยที่ปรึกษาตน ตนมั่นใจว่าที่ปรึกษาเวลาจะทำอะไร ไม่ทำโดยพลการ ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย มีแต่จะจัดการกับผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เรากำลังช่วยกันปัดกวาดบ้านเมืองให้สะอาด อย่าปล่อยให้มันเลอะเทอะเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้ตนรายงานต่อนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากกรมการข้าวยังมีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ก็ถูกกระทำในลักษณะเดียวกันใช่หรือไม่ ร.อ. ธรรมนัสกล่าวว่า เป็นไปตามที่รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางให้ข้อมูล ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงเกษตรฯ แต่ขึ้นอยู่กับกรม แต่ละกรมที่จะขึ้นมาต่อสู้กับขบวนการดังกล่าวหรือไม่ ที่ผ่านมาทำให้สังคมวุ่นวาย ทำให้สังคมเกิดความสับสน และจากการนำเสนอข่าวที่ผิดประเด็นในหลายๆ เรื่อง ในฐานะที่เป็นผู้บริหารบ้านเมือง โดยเฉพาะในกระทรวงเกษตรฯ ต้องกล้านำเสนอในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าที่จะปกป้องลูกน้องตัวเองหากไม่ผิด
ร.อ. ธรรมนัสยังฝากไปถึงบุคคลที่ชอบโหนกระแสหรือหิวแสง ขอให้พึงระวัง เพราะตนบอกแล้วว่าจะเอาจริงเอาจัง พร้อมกับกล่าวย้ำว่า กระทรวงเกษตรฯ มีเบ็ดติดรอบ เบ็ดตัวไหนที่เอาเหยื่อไปล่อปลา ระวังจะตายเพราะปาก
เมื่อถามว่าวงจรปิดที่จะตรวจสอบมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้เมื่อใดนั้น ร.อ. ธรรมนัสระบุว่า ไม่ใช่เรื่องยาก หากไม่มีใครไปไล่ลบข้อมูล และหากใครลบข้อมูลโดน ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ไปหาใคร ไปแล้วไปพูดเรื่อยเปื่อย ทำให้เสียหายหมด ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและกรรมาธิการต่างๆ เขาไปรับรู้อะไรกับคุณ
ดังนั้นการนำเสนอข่าว ขอให้นำเสนอให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่เช่นนั้นสื่อเองจะถูกมองว่าเป็นสื่อที่ไร้สาระ ไม่ยอมนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง และที่ผ่านมาตนเองเข้ามาปัดกวาด ทำงานในกระทรวงเกษตรระยะเวลา 4 เดือน สิ่งดีๆ ที่ทำมากลับไม่นำเสนอ แต่พอเป็นประเด็นมาหน่อยกลับนำไปแฉ หรือขยายต่อในทางที่ผิด ขออย่าไปทำระหว่างเดือดร้อน
อนุทิน ไม่คบ ‘คนไม่ดี’
ส่วน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีกระบวนการตบทรัพย์ที่เกิดขึ้นในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเมื่อวานนี้ (29 มกราคม) ร.อ. ธรรมนัสระบุว่า เรื่องตบทรัพย์มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ทุกกระทรวงว่า กระทรวงมหาดไทยในยุคตนยังไม่มี เพราะไม่มีอะไรให้มาตบ
ส่วนจากเหตุการณ์ของศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เคยร้องเรียนกระทรวงมหาดไทยบ้างหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า คนพวกนี้เป็นคนที่กระทรวงมหาดไทยไม่ให้ความสนใจอยู่แล้ว พร้อมย้ำว่าเราเป็นข้าราชการก็ต้องทำตามหน้าที่ และหากยึดตามหลักกฎหมายก็ไม่ต้องมีอะไรต้องกังวล
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่าหลังจากเกิดกรณีนี้ได้กำชับในกระทรวงอย่างไรบ้าง อนุทินกล่าวว่า ไม่ได้พูดถึงเลย มันไม่มีความสำคัญ ไม่มีอะไรที่ต้องไปใส่ใจกับคนเหล่านี้ และสุดท้ายก็อย่างที่เห็น แต่ตนเองนั้นเห็นด้วยกับชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่โพสต์ข้อความว่า ของปลอมอย่างไรก็ของปลอม ก็แค่นั้นแหละ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ศรีสุวรรณเคยพยายามเข้าไปร้องเรียนที่กระทรวงมหาดไทยใช่ไหม อนุทินกล่าวว่า หน้าที่ร้องเขามีสิทธิ์อยู่แล้ว และกระทรวงมหาดไทยก็เป็นกระทรวงที่มีคนร้องเรียนเยอะที่สุด เพราะเรามีศูนย์ดำรงธรรม ฉะนั้นเรื่องอะไรก็ตามที่เข้าสู่ศูนย์ดำรงธรรม เขาก็จะต้องแจกจ่ายไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เราก็ต้องแก้ไขในทุกๆ เรื่อง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า คดีที่ศรีสุวรรณเคยร้องเรื่องยุบพรรคภูมิใจไทย หลังจากนี้จะทำให้โล่งใจขึ้นหรือไม่ และถือเป็นเรื่องดีหรือไม่ที่จะทำให้คนรู้ว่าจริงหรือไม่จริง อนุทินกล่าวกลับว่า พรรคภูมิใจไทยจะถูกยุบหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่คนร้อง แต่อยู่ที่ว่ากฎหมายเป็นอย่างไร พรรคคือพรรค เวลาเราส่ง สส. ลงเลือกตั้งเราก็ต้องทำตามกฎหมายพรรคการเมืองทุกอย่าง
“จะบอกว่าดีหรือไม่ดี แต่ถ้าเขาร้องด้วยเจตนารักษาประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชนจริงๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ แต่ถ้าร้องไปหมด มาตบทรัพย์เพื่อมาคุกคาม แบบนี้ก็เป็นอย่างที่เห็น “บางทีก็ทำจนเพลิน ไม่ได้รู้สี่รู้แปด”
ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า เคยโดนเข้ามาลักษณะนี้บ้างหรือไม่ อนุทินกล่าวว่า “ผมไม่คุยกับคนพวกนี้ เราเลือกคบคนดี โจรจะไปคบทำไม”
พีระพันธุ์ ‘ไม่รู้’ ไม่ขอยุ่ง
ขณะที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีการลงนามในเอกสารคำสั่งให้ยศวริศออกจากคณะทำงานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ส่วนความชัดเจนเป็นอย่างไร และสามารถระบุวันที่ให้ออกจากตำแหน่งได้หรือไม่ว่า “ผมไม่รู้เรื่อง เรื่องนี้ไม่ยุ่ง”