เพราะชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป ถึงหัวใจของลิเวอร์พูลจะแหลกสลายหลังการประกาศอำลาทีมล่วงหน้าแบบไม่มีใครคาดคิดของ เจอร์เกน คล็อปป์ สุดยอดผู้จัดการทีมชาวเยอรมนี แต่กระบวนการสรรหาผู้จัดการทีมคนต่อไปได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว
ตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีชื่อของกุนซือทั้งที่ฝีมือดีและมีประสบการณ์มากมายที่ถูกจับมาเชื่อมโยงกับงานใหญ่ในถิ่นแอนฟิลด์ ซึ่งมีทั้งชื่อที่แฟน ‘หงส์แดง’ ทุกคนพยักหน้าให้ผ่านในทันทีอย่าง ชาบี อลอนโซ ไปจนถึง โรแบร์โต เด แซร์บี กับ โธมัส แฟรงก์ และ รูเบน อโมริม ชื่อที่น่าเซอร์ไพรส์
ใครจะได้รับตำแหน่งนี้ไปเป็นเรื่องที่คุยกันได้สนุกและคุยกันได้อีกนาน
แต่ในกระบวนการหลังบ้านแล้ว ลิเวอร์พูลไม่ได้เลือกผู้จัดการทีมโดยใช้แค่ความรู้สึก ชื่อเสียง หรือกระแสนิยมมาเป็นตัวกำหนด
และแน่นอนพวกเขาไม่ได้ใช้คุกกี้เสี่ยงทายในการตัดสินใจ
กระบวนการสรรหาด้วย ‘Data Driven’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยนำพาให้ลิเวอร์พูลได้พบกับคล็อปป์เมื่อปี 2015 กลับมาทำงานอีกครั้งในปี 2024
บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปในปี 2015 ในช่วงที่ลิเวอร์พูลกำลังประสบปัญหาผลงานย่ำแย่ภายใต้การนำของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ที่ไม่สามารถพาทีมฟื้นตัวกลับมาได้หลังพลาดแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2013/14 อย่างเจ็บปวด จากความผิดพลาดครั้งเดียวของนักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง สตีเวน เจอร์ราร์ด
ฝ่าย ‘ห้องวิทย์’ ของสโมสรซึ่งนำโดย ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ได้มอบหมายให้ เอียน เกรแฮม ซึ่งขณะนั้นเป็นทีมวิเคราะห์ ได้ค้นหาแคนดิเดตที่น่าสนใจเผื่อไว้สำหรับงานผู้จัดการทีมคนใหม่ เพราะดูแนวโน้มแล้วร็อดเจอร์สน่าจะพาทีมกลับมาไม่ไหว
เกรแฮมซึ่งเชี่ยวชาญในด้านของข้อมูลสถิติ จึงได้รวบรวมข้อมูลของกลุ่มแคนดิเดตที่น่าสนใจ ก่อนจะนำมาประมวลผล
ข้อมูลสถิติชี้ชัดว่าคนที่มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งคือ เจอร์เกน คล็อปป์ ซึ่งนำไปสู่การเดินหน้าทาบทามกุนซือชาวเยอรมนีที่กำลังว่างงานหลังตัดสินใจลาออกจากทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์
โดยหลังจากคล็อปป์ได้เข้ามาทำงานในทีมลิเวอร์พูลแล้ว เขาและเกรแฮม – ทีมงานที่ดูเหมือนแผนกไอทีพกแล็ปท็อปไปด้วยตลอดเวลา – ได้มีโอกาสพูดคุยกัน ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าคลาสสิกที่สุดเรื่องหนึ่ง
การพบกันครั้งนั้นเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2015 หรือราวเดือนหนึ่งหลังจากที่คล็อปป์เข้ามาเป็นนายใหญ่แห่งแอนฟิลด์ โดยเกรแฮมพกเอาเอกสารที่พรินต์ข้อมูลออกมาด้วย ก่อนที่จะขออนุญาตปูเอกสารเหล่านั้นเต็มโต๊ะทำงาน
แต่ก่อนจะอธิบายอะไร เขาชวนบอสใหม่คุยถึงเกมบุนเดสลีกาที่ดอร์ทมุนด์พบกับไมนซ์ ทีมเก่าของคล็อปป์เอง ซึ่งทั้งๆ ที่ทีม ‘เสือเหลือง’ เป็นฝ่ายครองเกมทั้งหมด มีโอกาสในการทำประตูมากมาย แต่สุดท้ายกลับพ่ายแพ้ไป 2-0 โดยสามารถอธิบายได้เป็นฉากๆ
“นายได้ดูเกมนั้นด้วยเหรอ” คล็อปป์ถาม “เกมนั้นมันบ้ามากเลยนะ เราน่าจะเชือดพวกเขาได้แล้วแท้ๆ”
แต่คำตอบที่ได้คือเกรแฮมบอกว่า “เปล่า”
ก่อนที่เกรแฮมจะค่อยๆ ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลในเอกสารที่พรินต์ออกมาในแต่ละจุด ตั้งแต่จำนวนการผ่านบอลสำเร็จ โอกาสยิง ไปจนถึงการเข้าสกัดของนักเตะดอร์ทมุนด์
ข้อมูลนั้นถูกนำมาประมวลเข้ากับแบบจำลองที่เขาคิดค้นขึ้นมาเอง และเกรแฮมไม่ได้ทำกับแค่เกมนัดนี้นัดเดียว แต่เขานำข้อมูลมาดูทุกนัด ซึ่งผลลัพธ์ตามการคำนวณของเขาได้ผลออกมาเป็นที่น่าประหลาดใจอย่างมาก
ในฤดูกาลสุดท้ายของคล็อปป์กับดอร์ทมุนด์ พวกเขาจบด้วยการเป็นทีมอันดับที่ 7
แต่ในข้อมูลบอกว่าความจริงควรจะจบด้วยการเป็นทีมอันดับที่ 2
นั่นหมายความว่าความตกต่ำย่ำแย่ของดอร์ทมุนด์ไม่ได้เป็นความผิดของคล็อปป์คนเดียว มันเป็นแค่เรื่องโชคร้ายที่เกิดขึ้นในตอนนั้นพอดี
ตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา คล็อปป์ซื้อไอเดียทุกอย่างของเกรแฮม รวมถึงเอ็ดเวิร์ดส์ และทำให้ลิเวอร์พูลเป็นสโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จโดยมี Data Driven อยู่ในเบื้องหลัง
แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก คำถามที่สำคัญไม่แพ้กับการที่ใครจะมาแทนที่คล็อปป์ คือใครจะมาทำหน้าที่แทนเอ็ดเวิร์ดส์และเกรแฮม ซึ่งอำลาจากลิเวอร์พูลไปหมดแล้ว
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยว่าภารกิจสำคัญนี้อยู่ในมือของ วิลล์ สเปียร์แมน ซึ่งเป็นคนที่มารับช่วงต่อจากเกรแฮมนั่นเอง ซึ่งจะมาช่วย ไมค์ กอร์ดอน ประธานของ Fenway Sports Group ที่จะเป็นผู้นำของโปรเจกต์ในภาพใหญ่
สเปียร์แมนจบด็อกเตอร์ด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้มีโอกาสมาร่วมงานกับลิเวอร์พูลตั้งแต่ปี 2018 มีส่วนช่วยในการทำให้วิธีการคำนวณในเกมฟุตบอลของเกรแฮมและเอ็ดเวิร์ดส์มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ผลงานที่โดดเด่นของสเปียร์แมนในช่วงที่ผ่านมาคือการทำให้ลิเวอร์พูลได้ 4 กองกลางใหม่เข้ามาในช่วงตลาดการซื้อขายรอบเดียว ซึ่งรวมถึงการเลือก วาตารุ เอนโดะ กองกลางวัย 30 ปีที่ย้ายมาจากสตุ๊ตการ์ตแบบเซอร์ไพรส์
เพราะลิเวอร์พูลมีแนวทางชัดเจนที่จะไม่ซื้อนักเตะที่อายุมากแล้วไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ในกรณีของเอนโดะ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่คล็อปป์มีส่วนนำเสนอเองร่วมกับ ยอร์ก ชมัดท์เค ผู้อำนวยการสโมสรที่เข้ามาทำงานชั่วคราว ก็ได้ข้อมูลประกอบจากสเปียร์แมนทำให้ยืนยันได้ว่ากัปตันทีมชาติญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกที่ดีในราคา 15.4 ล้านปอนด์
ดังนั้นลิเวอร์พูลจะยังคงใช้แนวทางเดิมในการเฟ้นหาผู้จัดการทีมคนใหม่ ไม่ใช้ความรู้สึก แต่ใช้ตัวเลขสถิติข้อมูลมาเป็นตัวตัดสิน
ผู้จัดการทีมคนใหม่จะถูกพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น
- แนวทางการเล่นที่ FSG ต้องการ
- ระบบการเล่นและวิธีการเล่นแบบสมัยใหม่
- ความเข้ากันได้กับนักฟุตบอลในทีมชุดปัจจุบัน
- การปรับตัวและความยืดหยุ่น
- แนวทางเกี่ยวกับเด็กเยาวชนในทีม
- ผลงานความสำเร็จ
- การต่อยอดความสำเร็จจากพื้นฐานที่คล็อปป์วางเอาไว้ให้
- อุปนิสัยส่วนตัว การใช้ชีวิต
โดยที่ลิเวอร์พูลหวังว่ากระบวนการ Data Driven จะยังคงเป็นกุญแจนำทางที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเปิดประตูบานใหม่ให้กับสโมสร เหมือนที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเลือกคล็อปป์มากกว่าจะเป็น คาร์โล อันเชล็อตติ และเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ไม่ใช่แค่ดีที่สุดสำหรับ FSG
แต่ดีที่สุดสำหรับลิเวอร์พูล เท่าๆ กับที่ได้ บิลล์ แชงคลีย์ ผู้เป็นบิดาของสโมสรเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว
อ้างอิง: