×

ทนายอธิบดีกรมการข้าวเปิดไทม์ไลน์คดีข่มขู่เรียกเงินล้าน มั่นใจหลักฐานแน่น กังวลนักการเมือง ป. เริ่มแทรกแซง

โดย THE STANDARD TEAM
29.01.2024
  • LOADING...
ดนุเดช ศิริวงษ์ตระกุล

วันนี้ (29 มกราคม) ดนุเดช ศิริวงษ์ตระกุล ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายของ ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงกรณีการถูกข่มขู่เรียกเงินจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อแลกกับการยุติเรื่องร้องเรียนโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการปลูกข้าว

 

โดยเล่าย้อนไปถึงการมีบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนอธิบดีกรมการข้าวส่งไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ตัวของอธิบดีฯ ถูกเรียกเข้าไปชี้แจงถึงงบดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ใช้และส่งให้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยชาวนาไปแล้ว ซึ่งต่อมาทางอธิบดีฯ ได้มาปรึกษากับตัวเองว่าน่าจะถูกคนกลั่นแกล้ง จึงมอบอำนาจให้ตนไปแจ้งความร้องทุกข์

 

ดนุเดชกล่าวต่อว่า ต่อมามีที่ปรึกษาผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ เรียกอธิบดีกรมการข้าวไปพบ และแนะนำให้จ่ายเงินให้ ศ. เพื่อเรื่องจะได้ยุติลง เพราะหากมีการแถลงข่าวก็จะเกิดความเสียหายอย่างมาก ก่อนจะนัดแนะให้ไปจ่ายเงินที่บ้าน ศ. จำนวน 6 หลัก มากกว่า 100,000 บาท ซึ่งขณะนั้นอธิบดีฯ ก็คิดว่าเรื่องจะจบแล้ว

 

แต่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศ. และ จ. ไปแถลงข่าวที่รัฐสภา กล่าวหาถึงการทุจริตในกรมฝนหลวง ซึ่งในช่วงท้ายมีการกล่าวถึงกรมการข้าวว่าเป็นกรมเล็กๆ แต่มีการซุกงบกว่าหมื่นล้านบาท และตั้งภรรยาผู้บริหารให้เปิดบริษัทรองรับการทุจริต

 

ดนุเดชกล่าวว่า ในวันเดียวกันนั้นก็มีโทรศัพท์จาก ศ. โทรเข้ามาหาอธิบดีกรมการข้าว แต่ไม่ได้รับ วันถัดมา ศ. ก็โทรเข้ามาอีก เพื่อนัดดื่มกาแฟในช่วงประมาณ 12.00 น. เมื่อมีการพบกันก็บอกว่าขณะนี้เตรียมตรวจสอบงบประมาณและเตรียมยื่นให้กรรมาธิการตรวจสอบ

 

ซึ่งอธิบดีกรมการข้าวตอบกลับว่าจะตรวจสอบอะไร และยืนยันว่าไม่ได้ทำความผิด จากนั้นเมื่อแยกย้ายกันก็มีโทรศัพท์เข้ามาหาอธิบดีกรมการข้าวอีกครั้ง และเรียกรับเงินเพิ่ม ก่อนที่อธิบดีกรมการข้าวจะยื่นโทรศัพท์ให้ภรรยาเป็นคนคุย ปลายสายตอบกลับว่าจะเรียกเงินจำนวน 2 กิโลกรัม หรือ 2 ล้านบาท ซึ่งภรรยาอธิบดีกรมการข้าวก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ และหากดูแลเล็กๆ น้อยๆ ก็ดูแลได้ ก่อนจะมีการต่อรองกันจนเหลือ 1 กิโลกรัมครึ่ง หรือ 1.5 ล้านบาท

 

โดยทางฝั่งที่เรียกเงินขอให้อธิบดีฯ โอนเงินให้ก่อน 100,000 บาท แต่ภรรยาอธิบดีกรมการข้าวโอนไปแค่ 50,000 บาท ทั้งนี้เลขที่บัญชีที่มีการส่งมาให้โอนไปไม่ได้เป็นชื่อของ 1 ใน 3 ผู้ต้องหา จากนั้นก็มีการเร่งรัดให้จ่ายเต็มจำนวน 100,000 บาท วันที่ 23 ธันวาคม 2566 จึงโอนให้อีก 10,000 บาท

 

ระหว่างนั้นอธิบดีกรมการข้าวได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพียงพอส่วนหนึ่ง และเข้าพบกับตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) แล้ว ก็โทรกลับไปหา ศ. ซึ่งบอกว่ายังเหลือเงินที่ต้องจ่ายอีก 1,440,000 บาท ภรรยาอธิบดีกรมการข้าวจึงนำเงินจำนวน 100,000 บาท ไปให้ ศ. ที่บ้าน เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 ซึ่งวันนั้นมีการถ่ายคลิปวิดีโอขณะที่ ศ. กำลังรับเงิน เป็นพยานหลักฐานจนนำไปสู่การออกหมายจับ จนวันที่ 26 มกราคม 2567 ตำรวจ บก.ปปป. จึงเข้าจับกุม ศ. โดยมีของกลางเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท

 

ดนุเดชกล่าวว่า ในฐานะทนายความที่ทำงานเกี่ยวกับคดีทุจริต มั่นใจว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ ทั้งภาพถ่ายและคลิป ซึ่ง ศ. นั้นมีลักษณะเหมือนวางใจหลังจากได้เงินไปก้อนหนึ่งแล้วและคิดว่าจะได้อีก

 

แต่ตนยอมรับว่ากังวลว่าจะมีคนในแวดวงการเมืองเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ จ. หนึ่งในผู้กระทำผิดให้ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โทษเดิมติดคุกตลอดชีวิตก็จะเหลือเพียงข้อหากรรโชกทรัพย์ ซึ่งโทษเบากว่า และ ศ. ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดก็จะไม่ถือเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานรัฐ ก็จะได้รับโทษน้อยไปด้วย

 

ดนุเดชระบุว่า ขณะนี้มีนักการเมืองตัวย่อ ป. ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้ติดต่อมายังอธิบดีกรมการข้าวและภรรยาของอธิบดีกรมการข้าว ฝากมาบอกให้เบาๆ หน่อย และให้ยุติบทบาท รวมทั้งพยายามโยงธุรกิจของภรรยาอธิบดีกรมการข้าวที่ทำธุรกิจฟาร์มหมูและฟาร์มไก่ให้ไปเชื่อมโยงกับคดีหมูเถื่อนและตีนไก่เถื่อนด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X