27 มีนาคมที่ผ่านมา หลังใช้เวลาประชุมเกือบ 4 ชั่วโมง ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้มีมติเอกฉันท์ไล่ออก ‘รจนา สินที’ ข้าราชการ ศธ. สืบเนื่องจากกรณีที่ได้กระทำการทุจริตงบประมาณในโครงการใน ‘กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต’ ของกระทรวงศึกษาธิการ
โดยตลอดช่วงเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2561 พบว่า ได้ทำการทุจริตเงินงบประมาณในโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนกว่า 88 ล้านบาท ในขณะที่เงินจำนวนนี้จัดสรรไว้สำหรับให้เด็กหญิงยากไร้ เพื่อให้พวกเขามีทิศทางอนาคตด้วยการศึกษา
แต่ยังคงมีคำถามคาใจตามมาว่า ใช่ ‘รจนา สินที’ คนเดียวหรือที่กล้าทำเรื่องแบบนี้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ถัดจากการไล่ ‘รจนา’ ออกจากราชการประมาณ 1 เดือนเศษ คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ที่มีนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ได้สรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวเพิ่มเติมให้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. แล้ว
ซึ่งผลการสืบสวนพบว่าผู้กระทำผิดที่มีมูลอันควรกล่าวหาว่าทำความผิด ทำให้ราชการเสียหาย มีจำนวน 25 คน เป็นบุคลากรสังกัด ศธ. ทั้งหมด เป็นบุคคลที่รับราชการอยู่ประมาณ 7 ราย ตั้งแต่ระดับ 8 จนถึงระดับ 11 และบุคคลที่พ้นจากราชการไปแล้ว ในจำนวนนี้มีทั้งกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กลุ่มไม่ปฏิบัติตามแบบแผนและธรรมเนียมของทางราชการ กลุ่มที่ทุจริตถึงแม้จะไม่ใช่หน้าที่ กลุ่มรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา และกลุ่มประมาทเลินเล่อ โดยส่วนใหญ่ผิดอยู่ในฐานประมาทเลินเล่อ
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ไปคือ การดำเนินการรายบุคคลตามความผิดที่พบ ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับใครบ้าง
ในกรณีบุคคลที่พ้นจากราชการแล้วก็จะใช้เอกสารหลักฐานที่ชี้มูลความผิด การดำเนินการทางแพ่ง รวมถึงดำเนินการความผิดทางละเมิด ส่วนข้าราชการในสังกัดอื่นๆ ทางคณะกรรมการสืบฯ ไม่ได้ดำเนินการชี้มูลความผิด เพราะทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังอยู่ระหว่างเรียกเพื่อสอบถามข้อมูล และพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน
ขณะที่ความคืบหน้าในการสืบหาบัญชีที่ไม่ทราบเจ้าของ 68 บัญชีนั้น ธนาคารกรุงไทยกำลังเร่งหาข้อมูลจากกว่า 40 สาขา เมื่อคณะกรรมการสืบฯ ได้ข้อมูลจะทำให้ทราบว่ามีผู้กระทำผิดที่เป็นข้าราชการเพิ่มหรือไม่ หากพบต้องดำเนินการต่อ
“จากการสืบสวนทำให้พบว่าที่ผ่านมาที่ ป.ป.ท. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทักทวง และมีการส่งเอกสารไปชี้แจงเป็นเอกสารเท็จ โดยเฉพาะหนังสือร้องเรียนจากศูนย์ร้องเรียนประชาชน ทำเนียบรัฐบาลที่ได้รับเยอะสุด และผู้ที่ชี้แจงก็คือ นางรจนา สินที โดยการทำเป็นหนังสือภายในที่ใช้การประทับตราแทนการลงชื่อ เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้เรื่องขึ้นไปถึงข้าราชการตำแหน่งรองปลัด ศธ. ลงนาม ผู้บังคับบัญชาไม่ได้รับรู้ เพราะผมเชื่อว่าหากปลัด ศธ. ทุกยุคได้เห็นหนังสือร้องเรียนก็คงไม่มีการปล่อยเรื่องนี้ไปแน่นอน” นายอรรถพล กล่าว
สำหรับข้อมูลเส้นทางการเงินที่คณะกรรมการสืบฯ ให้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ช่วยตรวจสอบนั้น ขณะนี้ ปปง. ได้รายงานกลับมาแล้วส่วนหนึ่ง ในช่วงปี 2554 จนถึงปัจจุบันเท่านั้น ผลสรุปคือ เส้นทางการเงินของบุคคลที่คณะกรรมการสืบฯ ส่งให้ตรวจสอบมีทั้งที่เชื่อมโยงกับกองทุนฯ และไม่มีความเชื่อมโยง อย่างไรก็ตาม การรายงานครั้งนี้ถือว่าไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ถือว่าเป็นการรายงานครั้งแรกเท่านั้น
อ้างอิง: