อากาศเริ่มหนาวในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นสัญญาณว่าฤดูท่องเที่ยวมาถึงแล้ว
แทบทุกครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดหรือเมืองนอก สิ่งที่ต้องพยายามทำหากมีเวลาคือ ‘การเดินทางท่องธรรมชาติ’
หากได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ถ้าอยู่ในเมือง เป้าหมายอันดับแรกคือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เพื่ออยากเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในเมืองนั้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ชีวิตผู้คน และการไปดูพิพิธภัณฑ์คือการได้เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้แบบประหยัดเวลาที่สุด
และหากไปเที่ยวนอกเมือง ตามชนบท การเดินขึ้นภูเขา เดินป่า (แบบใช้เท้าเดิน ไม่ใช่รถขึ้นถึงทุกแห่ง) คือกิจกรรมสำคัญที่พลาดไม่ได้
ผู้เขียนลองสังเกตดู ปกติการเดินป่าแต่ละครั้ง จะมีระยะทางประมาณวันละ 5-10 กิโลเมตร ไม่ต่างจากเราเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า แต่ความสะดวกสบายต่างกัน บรรยากาศรอบข้างยิ่งไม่เหมือนกันเลย
แน่นอนว่าการเดินป่าแบบวันเดียว อาจต้องเตรียมพร้อมมากกว่าการเดินในเมือง ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหาร หยูกยา หมวก และของใช้ส่วนตัวเล็กน้อย
ขณะที่การเดินห้างอาจใช้แค่โทรศัพท์มือถือและการสแกนคิวอาร์โค้ดเท่านั้น
แต่การเดินศูนย์การค้ากับการเดินป่า น่าจะได้อะไรแตกต่างกันมาก
มีคนถามบ่อยครั้งว่าเดินป่าขึ้นเขาได้อะไร ทั้งๆ ที่การเดินป่าเดินเขาแต่ละครั้งน่าจะทรมานสังขาร ลำบาก เหนื่อย เหงื่อออก แดดก็ร้อน ผิวก็คล้ำ
และความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาคงไม่ได้มีมากขึ้น ไม่ว่าชื่อต้นไม้ ชื่อนก ระบบนิเวศชนิดต่างๆ พอรู้เรื่องแบบครูพักลักจำ แต่สักพักก็คืนครูหมดแล้ว ต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่
แน่นอนว่าการไปเดินป่า ได้สูดอากาศเต็มปอด ได้อากาศที่สดชื่น ได้เห็นความงดงามของธรรมชาติ ได้เห็นว่าโลกใบนี้ช่างร่มรื่น น่าทะนุถนอมเพียงใด
แต่ที่ซึมซับและฝึกฝนเข้าไปโดยไม่รู้ตัวมาตลอดสามสิบกว่าปีในการเดินป่าจนกลายเป็นนิสัยติดตัวมาถึงตอนนี้ คือ
-
สมาธิ
การเดินในป่าหรือขึ้นเขา เราเหยียบย่ำลงไปบนพื้นดิน แผ่นหินขรุขระ ข้ามลำธาร พื้นอาจมีกรวดทราย ไม่ราบเรียบเหมือนเดินในห้าง บางครั้งเดินลงเขา แต่ละย่างเท้าก้าวก็ต้องระวังตัวมาก เพราะการเกิดอุบัติเหตุในป่าหรือบนเขา เป็นเรื่องอันตราย และลำบากเพื่อนร่วมทางมาก ดังนั้นการเดินแบบนี้จึงใช้สมาธิมากกว่าปกติ และทำให้การใช้ชีวิตประจำวันมีสมาธิได้ดีขึ้น
แต่เชื่อเถอะว่า ยิ่งเดินจะรู้สึกสนุกและมีความสุขเสมอ ยิ่งตอนเอาเท้าเปล่าแช่น้ำ เหยียบบนก้อนกรวดในลำธาร
-
เป็นคนช่างสังเกต และชอบตั้งคำถาม
ทุกครั้งที่เข้าป่า ผู้เขียนมักจะชอบสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว เห็นรายละเอียดหลายอย่าง ไม่ว่ารูปร่างลักษณะของใบไม้ชนิดต่างๆ สีดิน สีก้อนหิน สังเกตสีของท้องฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเย็นที่จะมีเฉดสีหลายสีและเปลี่ยนเร็วมาก ชนิดและรูปทรงของก้อนเมฆ จนกลายเป็นคนอยากรู้อยากเห็นระหว่างการเดินทาง
เราจะกลายเป็นคนช่างสังเกตโดยไม่รู้ตัว
-
เป็นคนชอบตั้งคำถาม
เมื่อเห็นอะไรมากขึ้น ก็จะเริ่มสนุกกับการตั้งคำถามว่า ทำไม
เมื่ออยากรู้อยากเห็น เห็นแล้วก็ไม่เข้าใจ ต้องตั้งคำถามกับสิ่งรอบๆ ตัว เห็นใบไม้สีเขียวริมทาง พอพลิกอีกด้านกลายเป็นสีแดง เกิดคำถามว่าทำไมสีไม่เหมือนกันทั้งสองด้าน เกิดความอยากรู้ เข้าป่าเต็งรังในช่วงหน้าแล้ง เห็นต้นไม้ทิ้งใบ ใบไม้ร่วงหมด ก็มีคำถามในใจ
เห็นแมลงเกาะบนหินในลำธาร ก็อยากรู้ว่าตัวอะไรทำไมน้ำแรงขนาดนี้ยังเกาะหินได้ ฯลฯ
เมื่อสังเกตมากจะเห็นว่าธรรมชาติสร้าง Form และ Function ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เราจะสนุกกับคำถาม
อยากค้นหาคำตอบว่า ทำไมต้นไม้ชนิดนี้จึงมีใบหน้าตาแบบนี้ ทำหน้าที่แตกต่างจากต้นอื่น
การสนุกกับการตั้งคำถามและหาคำตอบ จะเป็นการฝึกวิธีคิดที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ติดตัวไปตลอด
-
เปลี่ยนมุมมอง
โดยสัญชาตญาณเวลาเดินป่า เรามักจะมองพื้นเพื่อระวังสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า แต่หากลองเงยหน้าขึ้นจะเห็นยอดเรือนไม้อันงดงามแผ่กระจายออกไป ยิ่งมองออกไปรอบๆ ตัว ยิ่งมองก็จะยิ่งเห็นรายละเอียดต่างๆ รอบตัวโดยไม่รู้ตัว
เริ่มเห็นรายละเอียดของสีก้อนหิน สีดินตามพื้นรายทางว่ามีหลากหลายสี มองเห็นต้นไม้เล็กๆ
การเดินป่าบ่อยๆ ทำให้เรามักมีมุมในการมองสรรพสิ่งรอบตัวหลายอย่าง ตั้งแต่มองพื้น มองซ้าย มองขวา มองบน มองล่าง หรี่ตามองผ่านเลนส์ หรือเพ่งมองจุดหนึ่งนานๆ จนกลายเป็นความเคยชิน
การเปลี่ยนมุมมองสามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน และแก้ปัญหาการทำงานหลายอย่างได้เป็นอย่างดีว่า หากลองเปลี่ยนมุมมอง อาจแก้ปัญหาได้
-
เห็นการเปลี่ยนแปลง
ยิ่งเดินมากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงรอบๆ ตัวเราตลอดเวลา ตั้งแต่ก้อนเมฆ ดอกไม้ผลิใบ ป่าเปลี่ยนสี ยิ่งสังเกตมากจะรู้สึกได้เลยว่าทุกอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ
-
เข้าใจการรอคอยและการอดทน
เดินป่านานๆ การทนอดทนหิวเป็นเรื่องธรรมดา และยิ่งต้องอดทนต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะช่วงฝนตกหนักระหว่างเดินป่า เสื้อผ้า รองเท้าเปียกหมด อดทนที่จะต้องเดินต่อไป และเมื่อถึงที่พักต้องเอามาผึ่งให้แห้ง อดทนที่จะต้องเดินสู้กับความเหน็ดเหนื่อยและเมื่อยล้า แต่สุดท้ายความอดทนก็บอกเราว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้
-
ความเงียบคือตัวเรา
เวลาเราเดินป่ากันหลายคน ตอนแรกก็จะเดินไปด้วยกัน แต่พอเดินไปนานๆ ทุกคนจะทิ้งระยะห่างกันตามธรรมชาติ จนบางทีดูเหมือนเดินคนเดียว แต่จะได้อยู่กับความเงียบกับสรรพสิ่งรอบๆ ตัว และยิ่งเงียบสงบมากเพียงใด เรายิ่งจะได้ยินเสียงด้านในของเรามากขึ้น มีสติได้ไตร่ตรอง ครุ่นคิดกับสิ่งที่ผ่านมา
สำหรับคนที่เบื่อความซ้ำซากของชีวิต หากได้มาลองเดินป่า กลับไปสู่ธรรมชาติ ความเงียบจะบอกอะไรบางอย่าง
-
ยิ่งเดินป่า ตัวตนยิ่งเล็กลง
ยิ่งเข้าป่าบ่อยๆ ยิ่งเดินทางมาก จะรู้ว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่เพียงใด ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้าอันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ต้นไม้ในป่า ภูเขาสูง
ยามค่ำคืน ฟ้ามืดสนิทในป่า ทุกครั้งที่แหงนมองดูดาวพราวฟ้า พึงระลึกเสมอว่า โลกเป็นเพียงส่วนหนึ่งของดาวฤกษ์ที่เรียกว่าดวงอาทิตย์ และดวงอาทิตย์เป็นสมาชิกหนึ่งในแสนล้านดวงของกาแล็กซีที่เรียกว่าทางช้างเผือก และทางช้างเผือกเป็นสมาชิกของจักรวาลที่มีกาแล็กซีมากกว่าแสนล้านกาแล็กซี
รู้สึกได้เลยว่ามนุษย์ช่างตัวเล็กมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับธรรมชาติ แต่ทำไมอีโก้ของเราจึงใหญ่จัง
ปีหนึ่งเดินป่าสักครั้ง ลำบากหน่อย มันจะช่วยเยียวยาจิตใจ และคุณจะติดใจไม่รู้ตัว