บริษัทสตาร์ทอัพด้านพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันที่ได้รับการสนับสนุนจากฮอนด้า มอเตอร์ มีแผนที่จะใช้สถานีกำเนิดพลังงานฟิวชันขนาดเล็กเป็นสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการพัฒนาแหล่งพลังงานที่ถูกคาดหวังไว้ยาวนานกำลังเร่งตัวขึ้น
บริษัทสตาร์ทอัพของอิสราเอลชื่อ nT-Tao วางแผนที่จะผลิตสถานีทดสอบในปี 2029 และมุ่งหวังที่จะนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ในทศวรรษ 2030
สถานีกำเนิดพลังงานฟิวชันมีกำลังการผลิตอยู่ระหว่าง 10,000-20,000 กิโลวัตต์ แต่ละสถานีมีขนาดพอดีกับตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้สามารถติดตั้งได้ง่ายแม้ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า โดยการพัฒนาดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอิสราเอลที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน
พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันมีเป้าหมายที่จะจำลองปฏิกิริยาเดียวกันที่เกิดขึ้นภายในดวงอาทิตย์ โดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2022 ห้องปฏิบัติการแห่งชาติของสหรัฐฯ สามารถสร้างพลังงานนี้ได้เป็นครั้งแรก
ฮอนด้า รวมถึงบริษัทมิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ และหลายฝ่ายได้ลงทุนใน nT-Tao ซึ่งได้ระดมทุนไปแล้ว 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ฮอนด้ากำลังพิจารณาใช้การผลิตพลังงานฟิวชันสำหรับสถานีชาร์จ EV และสถานีของ nT-Tao โดยจะทำให้สามารถชาร์จรถยนต์ได้พร้อมกัน 1,000 คัน และยังมีไอเดียอื่นๆ ได้แก่ การติดตั้งสถานีพลังงานขนาดเล็กที่ศูนย์ข้อมูลและโรงงาน
โอเด็ด กูร์-ลาวี ซีอีโอของ nT-Tao กล่าวว่า การลงทุนที่ประเมินไว้สำหรับสถานีกำเนิดพลังงานขนาด 20,000 กิโลวัตต์จะอยู่ที่ประมาณ 70-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายในการผลิตพลังงานอยู่ที่ราว 6-13 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ปัจจุบันแม้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขณะที่วิ่ง แต่การให้ความมั่นคงของการจัดหาไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลมถือเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
อ้างอิง: