×

ขั้วการเมืองที่ 3 และผลเลือกตั้งไต้หวันที่อาจ ‘เป็นใจ’ ให้จีน

18.01.2024
  • LOADING...
เลือกตั้งไต้หวัน

พรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ไม่ได้ชนะถล่มทลาย

พรรคกั๋วหมินตั่ง (KMT) ไม่ได้แพ้ราบคาบ

และพรรคไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP) ทำได้ดีเกินคาด

 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้การเมืองไต้หวันดูมีสีสัน และเป็นไปได้ที่อาจทลายกำแพงการเมืองสองขั้วจากสองพรรคการเมือง ‘สถาบัน’ ที่ยืนหยัดมานานกว่า 2 ทศวรรษ 

 

อีกด้านหนึ่ง แม้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะไม่เข้าทางจีนเต็มร้อย แต่ก็ไม่ถึงกับ ‘หายนะ’ หรือสร้างความกระวนกระวายร้อนใจให้ปักกิ่งอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

 

ตรงกันข้าม การก้าวขึ้นมาอย่างโดดเด่นของขั้วการเมืองที่ 3 ในไต้หวัน อาจทำให้จีนมีความหวังมากขึ้นที่จะมีพรรคใหม่มาต่อกรกับหมินจิ้นตั่ง

 

ซึ่งนั่นอาจถือเป็นสัญญาณบวกหรือข่าวดีที่สถานการณ์บนช่องแคบไต้หวันอาจไม่ตึงเครียดกว่าที่เป็นอยู่ (อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีชนวนใหม่)

 

มีหลายแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่นักรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญสายความมั่นคงยกเป็น ‘ตัวแปรชี้ชะตาโลก’ เราจึงชวน ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาวิเคราะห์ต่อในห้วงเวลาที่ช่องแคบไต้หวันปกคลุมไปด้วยบรรยากาศความไม่แน่นอนทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง 

 

ขั้วการเมืองที่ 3 ทางเลือกคนรุ่นใหม่

 

ดร.อาร์ม มองว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สร้างเซอร์ไพรส์ว่าพรรคทางเลือกที่ 3 อย่าง TPP ของเคอเหวินเจ๋อ (柯文哲) ได้คะแนนจากโหวตเตอร์มากกว่าผลโพลหลายสำนักก่อนหน้าเปิดคูหา ด้วยจำนวนคนที่กาให้ 26.46% หรือ 3,690,466 เสียง แถมพรรคของเขายังเบียดแย่งที่นั่งในสภานิติบัญญัติได้ 8 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าทำผลงานได้ดีขึ้นเกินคาด และทำให้สปอตไลต์สาดส่องมาที่พรรคสีฟ้าอมเขียวนี้ พร้อมกับคำถามว่า ไต้หวันจะมีขั้วการเมืองที่ 3 ที่มีความสามารถในการแข่งขัน (Competitive) อย่างจริงจังแล้วหรือไม่

 

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง พรรค TPP ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นคนหนุ่มสาวสูงขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะทางเลือกสายกลางที่ไม่มีนโยบายประกาศเอกราช แต่ก็ไม่รวมชาติกับจีน ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ ซึ่งเป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากกว่า หรือมากพอๆ กับปัญหาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบกับจีนแผ่นดินใหญ่

 

ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฏว่าคนที่สนับสนุนพรรค TPP ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากอาจมีความลังเลชั่งใจจนถึงนาทีสุดท้าย และหันไปเทคะแนนให้ DPP เพราะส่วนหนึ่งคิดว่า TPP คงไม่มีทางชนะ และถ้าให้เลือกระหว่าง DPP กับ KMT พวกเขายังเลือก DPP มากกว่า 

 

แต่มีแนวโน้มที่ TPP จะขึ้นมาแข่งขันกับสองขั้วการเมืองเดิมในอนาคต และทำให้คะแนนเสียงคู่คี่สูสีระหว่าง 3 พรรคใหญ่ จนเกิดสัดส่วนคะแนนโหวต 30-30-30 จากผลการเลือกตั้งปัจจุบันที่อยู่ที่ 40-30-20 ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลงานในฐานะฝ่ายค้านของ TPP ในช่วง 4 ปีข้างหน้านี้ด้วย ซึ่ง ดร.อาร์ม เชื่อด้วยว่า TPP มีโอกาสที่จะแซง KMT ขึ้นมาเป็นขั้วตรงข้ามของ DPP ในอนาคตก็เป็นได้

 

DPP ครองเก้าอี้ผู้นำ 3 สมัยติด แต่เป็นชัยชนะที่ไม่สวยหรู

 

อีกแง่มุมที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการที่หมินจิ้นตั่งสามารถครองอำนาจฝ่ายบริหารได้ 3 สมัยติดต่อกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงในปี 1996 

 

เมื่อดูผิวเผินอาจมองเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ จากเดิมที่กั๋วหมินตั่งและหมินจิ้นตั่งมักจะผลัดกันครองอำนาจคนละ 8 ปี ทว่าเมื่อลงลึกในรายละเอียดจะเห็นว่าแคนดิเดตพรรคอย่าง ไล่ชิงเต๋อ (賴清德) ได้คะแนนเสียงลดลงเหลือเพียง 40.05% (5,586,019 เสียง) จากที่ไช่อิงเหวินเคยชนะถล่มทลายได้คะแนนเกิน 50% ในปี 2020 

 

ดร.อาร์ม มองว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าคะแนนนิยมในพรรค DPP ลดลงชัดเจน ปัจจัยสำคัญคือถูกพรรคที่ 3 อย่าง TPP ดูดคะแนนไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคนวัยหนุ่มสาว โดยในอดีตคนที่ไม่เลือกพรรคน้ำเงิน (KMT) ก็จะต้องเลือกพรรคเขียว (DPP) เพราะไม่มีทางเลือกอื่น แต่ในเวลานี้พวกเขามีทางเลือกที่ 3 เกิดขึ้นมา 

 

ขณะเดียวกัน ดร.อาร์ม ชวนตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่รอบนี้ไล่ชิงเต๋อ ผู้สมัคร DPP ได้คะแนนโหวตไปถึง 40% ส่วนหนึ่งอาจมาจากคะแนนเสียงของโหวตเตอร์ตรงกลางหรือผู้สนับสนุน TPP ที่แต่เดิมตั้งใจจะเลือก TPP แต่คิดว่า TPP คงไม่ชนะ จึงตัดสินใจกาให้ DPP แต่ถ้าในอนาคต TPP สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอีกขั้วการเมืองที่เด่นชัดได้สำเร็จและมีโอกาสชนะ ก็มีแนวโน้มเช่นกันที่ TPP จะดูดคะแนนจาก DPP ได้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้การแข่งขันของ 3 พรรคสูสีมากขึ้น

 

นอกจากสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ DPP ได้คะแนนลดลงแล้ว DPP ยังไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติด้วย โดยได้จำนวน สส. เพียง 51 ที่นั่ง ไม่ถึงเกณฑ์เกินครึ่งหนึ่งที่กำหนด (57 ที่นั่งขึ้นไปจาก 113 ที่นั่ง) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2004 ที่พรรคที่ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภา

 

เมื่อเทียบจำนวนที่นั่งกับการเลือกตั้งครั้งก่อน DPP ได้เก้าอี้ สส. ลดลงถึง 11 ที่นั่ง จากที่เคยได้ 62 ที่นั่ง ถือว่าทำผลงานได้ตกลงเช่นกัน

 

การที่ DPP ไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติก็จะทำให้การบริหารหลังจากนี้ยากลำบากมากขึ้นด้วย ซึ่ง ดร.อาร์ม มองว่ารัฐบาลของหมินจิ้นตั่งคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจุดยืนในเรื่องจีน-ไต้หวันแบบพลิกฝ่ามือได้ เช่น การประกาศเอกราช หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการผ่านงบทหารก็อาจเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้นเช่นเดียวกัน

 

ขณะเดียวกันหมินจิ้นตั่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับพรรคอื่นมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกับ TPP ดังนั้นพรรคจึงอาจลดความร้อนแรงลงเพื่อเสาะหาการประนีประนอมมากขึ้น มีบางเรื่องที่ TPP อาจร่วมมือกับ KMT แต่ก็มีบางเรื่องที่ TPP กับ DPP อาจร่วมมือกัน เช่น ในเรื่องนโยบายที่ตอบสนองคนรุ่นใหม่

 

ซึ่งไล่ชิงเต๋อก็ประกาศแล้วว่าจะศึกษานโยบายของพรรคคู่แข่ง รวมถึงจะแต่งตั้งคนของพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลด้วย

 

กับคำถามว่า จีนจะแข็งกร้าวต่อรัฐบาลไต้หวันเช่นเดิมหรือไม่ แม้ว่า DPP จะผลักดันกฎหมายต่างๆ ได้ยากขึ้นในสภาที่ไม่ได้ครองเสียงข้างมาก ดร.อาร์ม ให้ความเห็นว่า จีนจะยังคงรักษาท่าทีที่แข็งกร้าวในระดับเดียวกับสมัยรัฐบาลไช่อิงเหวิน หรือยกระดับขึ้นต่อไล่ชิงเต๋อ แต่ไม่น่าจะไปถึงจุดที่มีสงคราม (จากปัจจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน) แน่นอนว่าจีนยังคงต้องรักษานโยบายที่แข็งกร้าวหรือดุดันไว้ มิเช่นนั้นก็เหมือนส่งสัญญาณให้คนไต้หวันรู้ว่าจีนยอมผ่อนปรนต่อ DPP 

 

แต่หากว่าในอนาคตมีความเสี่ยงของสงครามเพิ่มขึ้นภายใต้รัฐบาลไล่ชิงเต๋อ และประชาชนเริ่มหวาดกลัวสงคราม ก็มีโอกาสที่คะแนนจากคนรุ่นใหม่จะไหลไปที่ TPP มากขึ้นอีก เพราะถ้าถามคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ แม้พวกเขาไม่ได้ต้องการรวมชาติกับจีน ไม่อยากสนิทกับจีน แต่ก็ไม่เข้าใจถึงเหตุจำเป็นที่ต้องไปยั่วยุ เป็นศัตรูกับจีน หรือทำให้เกิดความเสี่ยงของสงคราม 

 

ผลงานกั๋วหมินตั่งไม่แย่เสียทีเดียว

 

ในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ในเอเชีย วันนี้กั๋วหมินตั่งกำลังเผชิญแรงกดดันที่มากขึ้น โดยเฉพาะความท้าทายในการดึงดูดคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ ขณะที่พรรคชูนโยบายญาติดีกับจีน ที่ว่ากันตามตรงก็ไม่ถูกใจวัยรุ่นหัวก้าวหน้ามากนัก

 

ความปราชัยในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี 3 สมัยติด ทำให้พรรคต้องกลับมาตั้งหลักทบทวนและทำการบ้านใหม่ แต่ในอีก 4 ปีข้างหน้า คู่แข่งของ KMT ก็คงไม่ได้มีเพียง DPP อีกต่อไปแล้ว แต่อาจมี TPP รวมอยู่ด้วย

 

แต่ผลเลือกตั้งที่ผ่านมา ดร.อาร์ม คิดว่ากั๋วหมินตั่งทำได้ดีในระดับหนึ่ง แม้ว่าโหวโหย่วอี๋ (侯友宜) จะพ่ายต่อไล่ชิงเต๋อชนิดที่คะแนนห่างกันมากกว่าผลโพลก่อนเลือกตั้ง โดยโหวโหย่วอี๋ได้ไป 33.49% (4,671,021 เสียง) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม

 

โดยสนามเลือกตั้ง สส. จะเห็นว่ากั๋วหมินตั่งประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งหลายพื้นที่ และสามารถเพิ่มที่นั่งในสภานิติบัญญัติได้ถึง 14 ที่นั่ง เป็น 52 ที่นั่ง จากเดิมที่มีอยู่เพียง 38 ที่นั่ง ซึ่งสะท้อนว่ามีคนจำนวนมากเลือก สส. กั๋วหมินตั่ง แต่ไม่เลือกแคนดิเดตประธานาธิบดีของกั๋วหมินตั่ง 

 

ดังนั้นปัญหาของกั๋วหมินตั่งรอบนี้จึงน่าจะอยู่ที่คะแนนนิยมในตัวผู้สมัครด้วย โดย ดร.อาร์ม ตั้งข้อสังเกตว่า แม้แต่ในเขตนิวไทเปที่โหวโหย่วอี๋ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีอยู่ก็ยังพ่ายแพ้

 

ผลเลือกตั้งไม่ใช่ฉากทัศน์ที่ ‘หายนะ’ สำหรับจีน

 

ในมุมมองของจีนนั้นย่อมมีความกังวล หาก DPP ที่มีนโยบายแข็งกร้าวมีท่าทีปฏิปักษ์และถูกปักกิ่งตีตราว่า ‘พวกแบ่งแยกดินแดน’  สามารถครองอำนาจเป็นรัฐบาลได้ยาวนาน ในขณะที่พรรคกั๋วหมินตั่งแทบจะดึงคะแนนเสียงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้เลย

 

แต่ในเมื่อครั้งนี้เป็นชัยชนะที่ ‘ไม่แลนด์สไลด์’ จึงดูเป็นสัญญาณบวกสำหรับจีน และอาจทำให้การตอบสนองด้วยมาตรการทางทหารและเศรษฐกิจต่อไต้หวันลดความเข้มข้นลงก็เป็นได้  

 

“อย่างน้อยมีพรรคที่ 3 เกิดขึ้นมา ที่สามารถดึงคะแนนคนรุ่นใหม่ และพรรคใหม่นี้ก็ไม่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นศัตรูกับจีนเหมือนกับที่พรรค DPP เป็น” ดร.อาร์ม ให้ความเห็น

 

หลังผลเลือกตั้งออกมา ฝั่งจีนดูยังไม่ได้ขยับอะไรที่มีนัยสำคัญมากนัก นอกจากส่งเครื่องบินทหารและเรือจำนวนหนึ่งป้วนเปี้ยนรอบเกาะไต้หวัน และมีถ้อยแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนที่บอกว่า ผลเลือกตั้งไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการรวมชาติของจีนได้ และชัยชนะของ DPP ก็ไม่ใช่ตัวแทนกระแสหลักในสังคมไต้หวัน เนื่องจากมองว่าเป็นเพียงเสียงของประชาชน 40% เท่านั้น 

 

ถึงแม้มีอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาเข้าพบแสดงความยินดีกับไช่อิงเหวินและไล่ชิงเต๋อ แต่ก็เป็นการพบแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งจีนก็มีการตอบโต้ในทางการทูต สถานการณ์โดยรวมจึงดูยังไม่ตึงเครียดไปจากเดิมนัก

 

และในการตอบนักข่าวล่าสุด โจ ไบเดน ก็เน้นย้ำอีกครั้งว่าสหรัฐฯ ไม่สนับสนุน ‘เอกราช’ ของไต้หวัน สอดคล้องกับหลักการจีนเดียวที่วอชิงตันยึดถืออยู่

 

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า การตอบโต้ผลเลือกตั้งด้วยกิจกรรมทางทหารของจีนบริเวณช่องแคบไต้หวันอาจมีขึ้นในช่วงก่อนหรือหลังพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของไล่ชิงเต๋อในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อไป 

 

แต่บทสรุปเลือกตั้งไต้หวันรอบนี้ดูเหมือนจะเป็นใจให้จีนไม่น้อย เมื่อรัฐบาลไล่ชิงเต๋อจะไม่มีอำนาจเต็มที่ในการเปลี่ยนจุดยืนต่อจีน จากระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างเข้มข้นในสภานิติบัญญัติที่มี สส. KMT และ TPP รวมกันมากกว่า และการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้ยากขึ้นนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ด้วย อีกทั้งพรรคขั้วที่ 3 อย่าง TPP ก็สามารถดึงคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ในแบบที่จีนคาดหวังจากกั๋วหมินตั่งได้ยาก ขณะเดียวกันพรรคนี้ยังชิงฐานเสียงส่วนหนึ่งมาจาก DPP ด้วย

 

การเมืองบทใหม่ของไต้หวันเริ่มขึ้นแล้ว พัฒนาการหลังจากนี้จึงมีความน่าสนใจและจะเป็นตัวกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรายังไม่ได้รวมตัวแปรสำคัญนั่นคือ สหรัฐฯ ที่ปีนี้เป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดีเช่นกัน ซึ่งหากโดนัลด์ ทรัมป์กลับมาได้ ก็อาจทำให้สถานการณ์บนช่องแคบคาดเดาได้ยากกว่าเดิม

 

ภาพ: ShutterStock, Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising