วันนี้ (17 มกราคม) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 5.2% ในปี 2023 ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 5.3% เล็กน้อย แต่ยังโตตามเป้าของรัฐบาลที่ตั้งไว้ที่ราว 5%
โดยเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 ก็ขยายตัว 5.2% เช่นกัน เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ มีทั้งบวกและลบ ดังนี้
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6.8% ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.6%
- ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น 8%
- การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 3% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.9%
- อัตราการว่างงานในเขตเมืองอยู่ที่ 5.1% ในเดือนที่แล้ว เพิ่มขึ้นจาก 5% ในเดือนพฤศจิกายน
ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องและปัญหาในภาคอสังหาที่ยืดเยื้อในปี 2023 ทำให้ทางการจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในรูปแบบต่างๆ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยและมาตรการสนับสนุนทางการเงิน
โดยภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนทางธุรกิจ บ่อนทำลายการสร้างงาน และส่งผลกระทบต่อ Sentiment การใช้จ่ายของผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในงาน World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าเศรษฐกิจจีนปี 2023 สามารถบรรลุเป้าหมายได้โดยไม่ต้องใช้ ‘มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่’ (Massive Stimulus) ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่ามาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของทางการจีนจะมีลักษณะอย่างไรในปีนี้
ทั้งนี้ นโยบายการคลังน่าจะยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตในปีนี้ โดยจีนกำลังพิจารณาการออกตราสารหนี้ใหม่มูลค่า 1 ล้านล้านหยวน ภายใต้แผนพันธบัตรรัฐบาลพิเศษ (Special Sovereign Bond Plan) ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ของจีนที่มีการขายพันธบัตรพิเศษดังกล่าวในรอบ 26 ปีที่ผ่านมา
การขายพันธบัตร 3 ครั้งก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจจีนเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ เช่น หลังวิกฤตการเงินในเอเชียในปี 1998 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่ทางการจีนออกพันธบัตรพิเศษเพื่อเติมทุนให้กับธนาคารของรัฐรายใหญ่ ขณะที่ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี 2020 ที่รัฐบาลจีนตัดสินใจออกพันธบัตรมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน เพื่อเป็นทุนสนับสนุนมาตรการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ระบาด
รายงานระบุว่า การตัดสินใจเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 มกราคม) สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ด้วยการเปลี่ยนแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการปล่อยให้รัฐบาลท้องถิ่นแบกรับหนี้กันเอง ไปสู่การให้หน่วยงานส่วนกลางเป็นผู้ขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจจีนที่กำลังดิ้นรนรักษาโมเมนตัมของการฟื้นตัวอย่างหนัก
อ้างอิง: