‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ คือคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2567 จากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30
นับเป็นคำขวัญวันเด็กไทยที่มีคำมีว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในรอบ 23 ปี
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ระหว่างเป็นประธานมอบโล่รางวัลแด่เยาวชนดีเด่น
เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567
คำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรี
คำขวัญวันเด็กโดยนายกรัฐมนตรีมีขึ้นตั้งแต่ปี 2499 หรือ 68 ปีที่แล้ว โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ระบุว่า ‘จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม’
จากนั้นคำขวัญวันเด็กเงียบหายไป 2 ปี หลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจอมพล ป. ได้สำเร็จเมื่อปี 2500
ก่อนที่ปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ได้มอบคำขวัญวันเด็กอีกครั้ง ระบุว่า ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
นับแต่นั้นประเทศไทยก็ไม่เคยขาดแคลนคำขวัญวันเด็กอีกเลย มีเว้นช่วงปี 2507 ยุคจอมพล ถนอม กิตติขจร เพียงปีเดียวเท่านั้น
คำขวัญประจำเด็กตั้งแต่ปี 2499-2567 ที่เด็กๆ ได้รับจาก 19 นายกรัฐมนตรี มีทั้งสิ้น 66 ครั้ง โดยมีคำขวัญที่กล่าวถึง ‘ประชาธิปไตย’ เพียง 5 ครั้งเท่านั้น จากชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 4 ครั้ง ในปี 2536, 2537, 2543 และ 2544
ล่าสุดในปี 2567 จากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยอีก 1 ครั้ง สามารถเรียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ปี 2499: จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ปี 2502: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
ปี 2503: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
ปี 2504: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
ปี 2505: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
ปี 2506: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
จอมพล ถนอม กิตติขจร
ปี 2508: เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
ปี 2509: เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
ปี 2510: อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรง เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย
ปี 2511: ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย มีความเฉลียวฉลาด รักชาติยิ่ง
ปี 2512: รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
ปี 2513: เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
ปี 2514: ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
ปี 2515: เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
ปี 2516: เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
สัญญา ธรรมศักดิ์
ปี 2517: สามัคคีคือพลัง
ปี 2518: เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
คึกฤทธิ์ ปราโมช
ปี 2519: เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรืองจะต้องทำตัวให้ดีมีวินัยเสียแต่บัดนี้
ธานินทร์ กรัยวิเชียร
ปี 2520: รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ปี 2521: เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง
ปี 2522: เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
ปี 2523: อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
เปรม ติณสูลานนท์
ปี 2524: เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
ปี 2525: ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
ปี 2526: รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัย คุณธรรม
ปี 2527: รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดี มีความคิด สุจริต ใจมั่น หมั่นศึกษา
ปี 2528: สามัคคี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
ปี 2529: นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
ปี 2530: นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
ปี 2531: นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
ชาติชาย ชุณหะวัณ
ปี 2532: รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
ปี 2533: รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
ปี 2534: รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
อานันท์ ปันยารชุน
ปี 2535: สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
ชวน หลีกภัย
ปี 2536: ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
ปี 2537: ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
ปี 2538: สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
บรรหาร ศิลปอาชา
ปี 2539: มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
ชวลิต ยงใจยุทธ
ปี 2540: รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
ชวน หลีกภัย
ปี 2541: ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
ปี 2542: ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
ปี 2543: มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
ปี 2544: มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
ทักษิณ ชินวัตร
ปี 2545: เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
ปี 2546: เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
ปี 2547: รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
ปี 2548: เด็กรุ่นใหม่ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
ปี 2549: อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
สุรยุทธ์ จุลานนท์
ปี 2550: มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
ปี 2551: สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ปี 2552: ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
ปี 2553: คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
ปี 2554: รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ปี 2555: สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี
ปี 2556: รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน
ปี 2557: กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทย ให้มั่นคง
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปี 2558: ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต
ปี 2559: เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต
ปี 2560: เด็กไทยใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง
ปี 2561: รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี
ปี 2562: เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ
ปี 2563: เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย
ปี 2564: เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม
ปี 2565: รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม
ปี 2566: รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี
เศรษฐา ทวีสิน
ปี 2567: มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย
ครูจวง ก้าวไกลชี้ อย่าให้คำขวัญวันเด็กจากนายกฯ เป็นแค่ลมปาก
ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ในฐานะอดีตแม่พิมพ์ของชาติ ผู้ที่เคยสอนวิชาสังคมและประวัติศาสตร์มานานเกือบ 30 ปี ถึงคำขวัญวันเด็กประจำปี 2567 ที่ระบุว่า ‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ ว่าถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่นายกรัฐมนตรีเลือกใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในรอบหลายปี
ปารมีบอกอีกว่า ตนเองไม่อยากให้คำว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงคำขวัญที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ หากอ่านคำขวัญของนายกรัฐมนตรีแล้วนั้นก็ต้องทำให้ทุกความหมายในคำขวัญวันเด็กปีนี้เกิดขึ้นได้จริงๆ โดยเฉพาะการให้สังคมเคารพความเห็นต่าง
ตัวอย่างเช่น โรงเรียนไทยนั้นยังมีความเป็นอำนาจนิยมสูง ไม่เคารพความเห็นต่าง และละเมิดสิทธิเด็กเสมอ
“ดิฉันไม่อยากให้คำขวัญของท่านนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงแค่ลมปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักสูตรการเรียนในวิชาสังคมศึกษาที่มีการยัดเยียดอุดมการณ์แบบเดิมๆ ด้วยการเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมือง”
ปารมี ไวจงเจริญ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
แฟ้มภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
ปารมีอธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพยายามเพิ่มหลักสูตรวิชาการปลูกฝังหน้าที่พลเมืองด้วยแนวคิดและอุดมการณ์แบบเก่าๆ โดยไม่ให้เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย ความเท่าเทียม หรือการมีส่วนร่วมในประเทศนี้ โดยมีแต่ปลูกฝังให้รักชาติ และไม่ให้คำนึงว่าเราก็เป็นพลเมืองของโลกเช่นกัน
การปลูกฝังประชาธิปไตยในโรงเรียนนั้น ‘มี’ แต่ ‘ไม่มาก’ มีการสอนและท่องไปตามตำราที่มีแต่เปลือก เป็นประชาธิปไตยเชิงพฤติกรรม โดยที่ไม่คำนึงถึงเนื้อแท้ของประชาธิปไตย แล้วเด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจถึงความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร
ประชาธิปไตยในโรงเรียนอย่างแท้จริง เริ่มง่ายๆ คือผู้อำนวยการโรงเรียนต้องฟังคุณครูให้มากขึ้น และครูต้องฟังและให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เอาแต่ ‘สั่งๆๆ’ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกคนต้องไม่สยบยอมกับเผด็จการและอำนาจนิยม
ทำไม ‘ต้องมี’ วันเด็กแห่งชาติ
สำหรับการจัดงานวันเด็กแห่งชาตินั้นเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2498 ในรัฐบาล จอมพล ป. มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของเด็กเหมือนนานาประเทศ โดยได้ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมเป็นวันเด็กแห่งชาติเรื่อยมาจนถึงปี 2506
จากนั้นคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติมีความเห็นว่าควรเลื่อนกำหนดการจัดงานวันเด็ก เนื่องจากเดือนตุลาคมของไทยนั้นอยู่ในช่วงฤดูฝน ประกอบกับวันจันทร์เป็นวันที่ผู้ปกครองต้องไปทำงาน จึงเป็นอุปสรรคต่อการฉลองและทำกิจกรรมของเด็กๆ
คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร จึงมีมติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ประกาศเปลี่ยนแปลงวันจัดงานวันเด็กจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมมาเป็นวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา
สำหรับวัตถุประสงค์นั้น รัฐบาลไทยกำหนดไว้คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก