ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มกบฏฮูตีผู้ครองอำนาจส่วนใหญ่ในเยเมนและได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่าน ได้ทำการโจมตีเรือสินค้าของหลายประเทศที่เดินเรือผ่านทะเลแดง โดยอ้างเหตุผลเพื่อตอบโต้การกระทำของอิสราเอลที่ทำสงครามบุกฉนวนกาซาเพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาส
การโจมตีดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบริษัทขนส่งทางทะเลและบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งถูกบีบบังคับให้ต้องระงับการเดินเรือผ่านเส้นทางทะเลแดง อันเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญที่สุดสายหนึ่งของโลก
ขณะที่กลุ่มฮูตีปฏิเสธที่จะสนใจข้อเรียกร้องของ UN และนานาชาติให้ยุติการก่อวิกฤตในทะเลแดง ก่อนจะเผชิญการตอบโต้อย่างรุนแรงจากกองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษที่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ถล่มนับสิบเป้าหมาย รวมทั้งในกรุงซานาและเมืองท่าสำคัญ จนทำให้กลุ่มฮูตีเดือดดาลและประกาศจะแก้แค้นอย่างสาสม
และนี่คือข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับกลุ่มฮูตี และสถานการณ์วุ่นวายที่ปะทุในทะเลแดง ซึ่งไม่แน่ว่าจะส่งผลถึงขั้นขยายขอบเขตของสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสหรือไม่
ทำความรู้จักกลุ่มฮูตี?
- ขบวนการเคลื่อนไหวฮูตี หรือที่รู้จักในชื่ออันซาร์อัลเลาะห์ (Ansarallah) หรือผู้สนับสนุนของพระเจ้า คือฝ่ายหนึ่งในสงครามกลางเมืองเยเมนที่ปะทุขึ้นมาเกือบ 1 ทศวรรษ
- กลุ่มฮูตีตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 โดยผู้นำคือ ฮุสเซน อัล-ฮูตี (Hussein al-Houthi) ได้ตั้ง ‘กลุ่มผู้ศรัทธา’ ซึ่งเป็นขบวนการฟื้นฟูศาสนาสำหรับลัทธิไซอิด (Zaidism) นิกายย่อยอายุหลายร้อยปีของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์
- ลัทธินี้ปกครองเยเมนมานานหลายศตวรรษ แต่ถูกละเลยภายใต้ระบอบการปกครองของชาวมุสลิมนิกายซุนนีที่เข้ามามีอำนาจหลังสงครามกลางเมืองในปี 1962
- ขบวนการของอัล-ฮูตี ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนลัทธิไซอิด และต่อต้านแนวคิดของมุสลิมซุนนีหัวรุนแรง โดยเฉพาะแนวคิด Wahhabi จากซาอุดีอาระเบีย
กลุ่มฮูตีได้อำนาจมาอย่างไร?
- อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ (Ali Abdullah Saleh) ประธานาธิบดีคนแรกของเยเมนหลังการรวมชาติระหว่างเยเมนเหนือและเยเมนใต้ในปี 1990 ได้ให้การสนับสนุนเยาวชนผู้ศรัทธาในช่วงแรกๆ
- แต่เมื่อความนิยมของกลุ่มผู้ศรัทธาเพิ่มมากขึ้นและเริ่มมีวาทกรรมต่อต้านรัฐบาลรุนแรงขึ้น ก็กลายเป็นภัยคุกคามอำนาจของซาเลห์ กระทั่งปี 2003 เมื่อซาเลห์สนับสนุนการรุกรานอิรักของสหรัฐฯ เขาก็เผชิญการต่อต้านจากชาวเยเมนจำนวนมาก
- อัล-ฮูตีมองความขัดแย้งในประเทศที่เกิดขึ้นเป็นโอกาส เขาจัดการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่แสดงความไม่พอใจของสาธารณชน โดยเหตุการณ์ไม่สงบปะทุนานหลายเดือน ก่อนที่ซาเลห์จะออกหมายจับเขา
- อัล-ฮูตีถูกสังหารในเดือนกันยายน 2004 โดยกองทัพเยเมน แต่การเคลื่อนไหวของเขายังคงอยู่
- ฝ่ายทหารของกลุ่มฮูตีขยายตัวเมื่อมีนักรบเข้าร่วมมากขึ้น ประกอบกับแรงหนุนจากกระแสประท้วงอาหรับสปริงในช่วงต้นปี 2011 ทำให้กลุ่มฮูตีสามารถยึดครองจังหวัดซาดาทางตอนเหนือ และเรียกร้องให้ยุติอำนาจการปกครองของซาเลห์
กลุ่มฮูตีควบคุมเยเมนหรือไม่?
- ประธานาธิบดีซาเลห์ตกลงส่งมอบอำนาจแก่รองประธานาธิบดีอับด์ รับบูห์ มานซูร์ ฮาดี ในปี 2011 แต่รัฐบาลที่มีรากฐานจากตัวเขาไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป
- ขณะที่กลุ่มฮูตีรุกคืบขยายอำนาจในปี 2014 และเริ่มยึดครองพื้นที่บางส่วนของกรุงซานา ก่อนจะบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีในปีต่อมา ส่งผลให้ฮาดีต้องหนีไปซาอุดีอาระเบีย และเปิดฉากสงครามกลางเมืองต่อต้านกลุ่มฮูตีจากนอกประเทศในปี 2015
- การสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลเยเมนชุดเก่ากับกลุ่มฮูตียืดเยื้อจนกระทั่งมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงในปี 2022 แต่ข้อตกลงก็มีอายุสั้นเพียง 6 เดือน โดยมีการสู้รบปะทุขึ้นอีก แม้จะไม่กลับไปรุนแรงเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบเช่นเดิม
- ความรุนแรงของสงครามกลางเมืองเยเมนนั้น ครั้งหนึ่ง UN เคยระบุว่าเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุด โดยมีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 5 แสนคน
- และนับตั้งแต่หยุดยิง กลุ่มฮูตีได้ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของเยเมน ขณะเดียวกันยังพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงกับซาอุดีอาระเบียเพื่อยุติสงครามอย่างถาวรและคงบทบาทของพวกเขาในฐานะผู้ปกครองประเทศ
ใครเป็นพันธมิตรกลุ่มฮูตี?
- กลุ่มฮูตีได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งเริ่มต้นให้ความช่วยเหลือนับตั้งแต่ที่สงครามกลางเมืองกับอดีตรัฐบาลปะทุขึ้นในปี 2014 ท่ามกลางความพยายามขยายอำนาจในภูมิภาคของคู่แข่งอย่างซาอุดีอาระเบีย
- อิหร่านได้ให้การสนับสนุนกลุ่มฮูตีด้วยอาวุธและเทคโนโลยี เช่น ทุ่นระเบิดในทะเล ขีปนาวุธ และโดรน
- ฮูตียังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เรียกว่า ‘อักษะแห่งการต่อต้าน (Axis of Resistance)’ ของอิหร่าน ซึ่งเป็นพันธมิตรต่อต้านอิสราเอลและชาติตะวันตก และเป็นหนึ่งในสามกองกำลังติดอาวุธที่โดดเด่นและได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เช่นเดียวกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว
กลุ่มฮูตีทรงอำนาจแค่ไหน?
- สหรัฐฯ มีการติดตามการปรับปรุงขีปนาวุธที่ผลิตเองของกลุ่มฮูตี ซึ่งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านพิสัยโจมตี ความแม่นยำ และความรุนแรง
- ช่วงแรกๆ นั้นอาวุธที่กลุ่มฮูตีผลิตเองส่วนใหญ่ใช้ส่วนประกอบจากอิหร่านที่ลักลอบนำเข้าเยเมนมาเป็นชิ้นๆ ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด
- ในช่วงต้นเดือนธันวาคม กลุ่มฮูตีได้ใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางที่พัฒนาขึ้นโจมตีข้ามชายแดนไปยังอิสราเอล โดยยิงใส่พื้นที่เมืองไอลัตทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งอิสราเอลเผยว่าสามารถสกัดกั้นไว้ได้
- ถึงแม้ว่ากลุ่มฮูตีอาจจะไม่สามารถก่อภัยคุกคามร้ายแรงต่ออิสราเอลได้ แต่เทคโนโลยีของพวกเขาสามารถสร้างความเสียหายและวิกฤตให้กับทะเลแดงได้
- โดยกลุ่มฮูตีใช้โดรนและขีปนาวุธต่อต้านเรือเพื่อโจมตีเป้าหมายเรือพาณิชย์ ซึ่งบางลำเชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล ส่งผลให้เรือพิฆาต USS Carney ในทะเลแดงต้องตอบสนองต่อสัญญาณขอความช่วยเหลือ
ทำไมฮูตีโจมตีเรือในทะเลแดง?
- แม้จะมีความได้เปรียบบางอย่าง เช่น ด้านภูมิศาสตร์หรือเทคโนโลยี แต่กลุ่มฮูตีก็ยังขาดศักยภาพบางอย่างเมื่อเทียบกับฮามาสหรือฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงนั้นอาจส่งผลสร้างความเจ็บปวดให้อิสราเอลและพันธมิตรในอีกแบบหนึ่ง
- ขณะที่เส้นทางเดินเรือในทะเลแดงที่ทอดยาวจากช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab-el-Mandeb) นอกชายฝั่งเยเมน ไปจนถึงคลองสุเอซทางตอนเหนือของอียิปต์ ถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 12% ของกระแสการค้าทั่วโลก
- กลุ่มฮูตีเปิดฉากการโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดงด้วยโดรนและขีปนาวุธต่อเนื่องแทบทุกวันนับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐฯ และหลายประเทศกังวลว่าการโจมตีต่อเนื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
- โดยบริษัทเดินเรือรายใหญ่ 4 ใน 5 แห่งของโลก ได้แก่ Maersk, Hapag-Lloyd, CMA CGM Group และ Evergreen พร้อมด้วยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง BP ตัดสินใจระงับการขนส่งผ่านทะเลแดงชั่วคราว ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซพุ่งสูงขึ้น
- ขณะที่เรือพาณิชย์ต้องใช้เส้นทางอ้อมที่ยาวนานกว่ารอบทวีปแอฟริกา ทำให้ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าประกันพุ่งสูงขึ้น หลายบริษัทต่างๆ ผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการขนส่งสินค้าไปยังผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงอีกครั้งในช่วงเวลาที่รัฐบาลทั่วโลกต้องดิ้นรนเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อหลังวิกฤตโควิด
โลกมีปฏิกิริยาอย่างไร?
- สหรัฐฯ และกว่า 20 ประเทศที่มีเรือพาณิชย์ใช้เส้นทางในทะเลแดงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการ Operation Prosperity Guardian ซึ่งเป็นความพยายามระดับนานาชาติครั้งใหม่เพื่อปกป้องการขนส่งทางน้ำในเส้นทางน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
- เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ยิงขีปนาวุธฮูตีตกจำนวนมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงการโจมตีอย่างต่อเนื่องเป็นพิเศษเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (9 มกราคม)
การสู้รบขยายวงหรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจของสหรัฐฯ
- ด้าน ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ที่สหรัฐฯ และอังกฤษโจมตีตอบโต้กลุ่มฮูตี โดยมองว่าการสู้รบมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งในเวลาจำกัด หรืออาจขยายวงและยกระดับ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสหรัฐฯ และสถานการณ์ในกาซา เพราะฮูตียืนยันจะปฏิบัติการจนกว่าจะมีการหยุดยิงในกาซา แม้ที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะออกโรงเตือนอย่างไรก็ตาม ฮูตียังคงเดินหน้าปฏิบัติการต่อเนื่อง
- ซึ่งการที่ฮูตีโจมตีเรือของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงโจมตีเรือพิฆาตด้วยนั้น ฮูตีเองก็ยอมรับว่าจะเกิดฉากทัศน์นี้ที่สหรัฐฯ จะหันกลับมาโจมตีตอบโต้ฮูตีในดินแดนเยเมนโดยตรง
- เขามองว่าเหตุผลที่ฮูตีกล้าเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ นั้นเป็นเพราะหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยภายใน คือกลุ่มฮูตีมีอุดมการณ์หรือหลักนิยมทางศาสนาและการยอมรับผู้นำที่เข้มแข็ง ต่อต้านผู้นำที่อ่อนแอ คอร์รัปชัน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในประเด็นปัญหาปาเลสไตน์
- โดยเวลานี้ฮูตีกุมอำนาจในเยเมนและต้องแสดงความเป็นผู้นำ ขณะเดียวกันก็ได้รับความนิยมสูงขึ้นจากชาวเยเมน แม้แต่กลุ่มขั้วตรงข้ามก็ยังต้องยอมรับจุดยืนนี้ ในอีกด้าน ปฏิบัติการของฮูตีเพื่อให้การสนับสนุนปาเลสไตน์ก็ยังจะเป็นเกราะป้องกันว่าซาอุดีอาระเบียจะไม่หวนกลับมามีปัญหาหรือถล่มเยเมนอีกครั้ง เราจึงเห็นว่าไม่มีชื่อประเทศซาอุดีอาระเบียรวมอยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ดึงมาร่วมในภารกิจพิทักษ์ทะเลแดง
- “หากซาอุดีอาระเบียหันมาโจมตีเยเมนหรือร่วมกับสหรัฐฯ อาจถูกมองว่าทรยศต่อปาเลสไตน์และเสียภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำโลกอาหรับได้ ฮูตียังมีจุดยืนปกป้องชาวปาเลสไตน์จึงเข้าช่วยเหลือแทรกแซงสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอล” เขากล่าว
- ผศ.ดร.มาโนชญ์ มองว่าสถานการณ์ในตอนนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ได้ทำสงครามกับฮูตีในเยเมนเต็มรูปแบบ เพราะหากจะทำเช่นนั้นได้ต้องกลับไปขออนุมัติจากสภาคองเกรสก่อน เนื่องจากฮูตีไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายในบัญชีรายชื่อ (ถอนออกไปแล้วในปี 2021)
- ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ทำเพียงการป้องกันการสัญจรทางเรือ ยิงสกัดจรวดของฮูตี รวมทั้งยิงเรือฮูตีในทะเลแดง แต่ไม่ได้โจมตีเยเมนโดยตรง เนื่องจากไม่สามารถทำได้เพราะจะเป็นการกระทำที่นำไปสู่สงคราม ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสก่อน ครั้นจะโจมตีโดยอ้างการก่อการร้ายก็ไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ ถอนกลุ่มฮูตีออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้ายตั้งแต่ปี 2021 ดังนั้นเงื่อนไขที่จะโจมตีเยเมนได้คือถูกโจมตีก่อน เราจึงเห็นว่าเมื่อฮูตีโจมตีเรือรบของสหรัฐฯ จึงถูกตอบโต้กลับอย่างรวดเร็ว
- ขณะที่เขาวิเคราะห์ว่า หากสหรัฐฯ ตอบโต้ฮูตีโดยให้เหตุผลว่าเรือพิฆาตตนถูกโจมตีเสียหาย ก็อาจจะเสียหน้า จึงให้เหตุผลว่าโจมตีฮูตีเพื่อปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือ
- นอกจากนี้หากมองในเชิงโครงสร้างอำนาจที่เปลี่ยนไปในตะวันออกกลาง มันมีสัญญาณของสงครามใหญ่มานานแล้ว อิหร่านมองว่าสหรัฐฯ และอิสราเอล ที่กำลังถูกโดดเดี่ยวในภูมิภาคและสูญเสียอิทธิพลในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างมาก กำลังต้องการกำจัดอิทธิพลและเครือข่ายอำนาจของอิหร่านในตะวันออกกลางโดยไล่ไปทีละกลุ่ม (ไม่ใช่เปิดศึกพร้อมกันหลายด้าน) อาจจะเริ่มจากฮามาส เมื่อฮามาสอ่อนกำลังก็จะขยับไปที่ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และฮูตีในเยเมน จนสุดท้ายไปจบที่อิหร่าน
- ด้วยการมองแบบนี้ แนวการป้องปรามของอิหร่านคือไม่ยอมให้ขยับทีละจุด แต่จะส่งสัญญาณยกระดับพร้อมกันหลายจุด เราจึงเห็นการขยับหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการยิงเข้ามาของฮิซบอลเลาะห์ ฮูตี กองกำลังกุดส์ในซีเรีย และการถล่มฐานทัพของสหรัฐฯ ในซีเรียและอิรัก รวมทั้งการที่อิหร่านยึดเรือน้ำมันของสหรัฐฯ ในช่วงนี้ที่กำลังตึงเครียดหนัก หวังป้องปรามแผนการของสหรัฐฯ และอิสราเอล
- สหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการให้ยกระดับพร้อมกันในจุดหลายแนวรบจึงส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเดินสายพบผู้นำอาหรับและอิสราเอล หวังหาทางออกสถานการณ์กาซา เพื่อสงครามจะไม่ยกระดับ แต่เมื่ออิสราเอลโดยเนทันยาฮูยืนยันไม่หยุดยิง และปรากฏสัญญาณของความเห็นที่อาจไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลต่อทางออกของปัญหา กลุ่มฮูตียังเดินหน้าปฏิบัติการจ่อและยิ่งท้าทายสหรัฐฯ มากขึ้น สหรัฐฯ ก็ตอบโต้อย่างที่เห็น แต่หลังจากนี้จะยกระดับหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินของสหรัฐฯ และสถานการณ์ในกาซา แต่ทุกฝ่ายคงเตรียมพร้อมขั้นสูงสุดของการเผชิญหน้ากันแล้ว อย่างน้อยก็เพื่อป้องปรามกัน
ภาพ: Houthi Movement via Getty Images
อ้างอิง: