×

อ่านปรากฏการณ์ดราม่าปีชง ‘ไม่มีนอกรีต-ไม่มีลักเพศ’ ในโลกความหลากหลาย

12.01.2024
  • LOADING...
ปีชง

HIGHLIGHTS

4 min read
  • ความสำคัญของการทำความเข้าใจดราม่า ‘ปีชง’ ด้วยมุมมองนี้จึงไม่ควรมีใครถูกมองว่า ‘โง่’ เพราะไม่ได้เชื่อแบบที่ฉันเชื่อ และเช่นเดียวกัน ก็ไม่ควรมีใครถูกเหยียดเพศสภาพว่า ‘ลักเพศ’ เพียงเพราะวิจารณ์สิ่งที่ฉันเชื่อ หรือไม่เป็นไปตามสิ่งที่ฉันเชื่อด้วยเช่นกัน อันนี้คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญ
  • สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะเสนอให้ร่วมกันพิจารณาและอาจจะนำไปใช้ให้มากขึ้น คือการทำความเข้าใจความหลากหลายของสังคมในทุกๆ มิติ เคารพความหลากหลายของสังคมในทุกๆ มิติ เคารพสิทธิเสรีภาพในความหลากหลายด้วยความเท่าเทียม ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม

ปรากฏการณ์ดราม่ากันอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับเรื่อง ‘ปีชง’ ฟาดกันไปก็ฟาดกันมาจนกลายเป็นไฟลามทุ่ง ขณะที่เรื่องหนึ่งยังไม่จบ แต่โผล่ไปอีกเรื่องหนึ่ง จากเรื่องความเชื่อ ลามไปถึงเรื่องเหยียดเพศ ผู้เขียนในฐานะผู้เฝ้ามองเห็นแล้วก็รู้สึก ‘อิหยังวะ’ กับทั้งคู่ ถ้าเป็นภาษาเหนือคงต้องใช้สำนวนที่ว่า ‘ส้มพอเกลือ’ ความหมายก็ตรงๆ เลย คือพอๆ กันทั้งคู่

 

คำถามคือแล้วเราควรจะมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไรดี เราจะทำความเข้าใจกับดราม่านี้อย่างไรดี หรือแม้แต่พวกเราในฐานะพลเมืองโลก อยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย และภายใต้โลกโลกาภิวัตน์ เราหรือพวกเราควรจะวางตัวหรือจัดวางความคิดของพวกเราอย่างไรดีกับเรื่องศาสนา ความเชื่อ และเรื่องเพศ

 

ผู้เขียนอยากจะเสนอให้เราลองมองสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะความเชื่อ ศาสนา เพศ ในมุมมองของความหลากหลาย ทั้งความหลากหลายในมิติสังคม (Plural Society) ความหลากหลายในมิติทางวัฒนธรรม (Multicultural Society) ซึ่งน่าจะทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ดราม่านี้ และเข้าใจสังคมในโลกปัจจุบันนี้มากยิ่งขึ้น

 

หลากเชื้อหลายชาติ หลากศาสนาหลายความเชื่อ

หลายสังคม รวมทั้งสังคมไทยของเราเองด้วย เป็นสังคมที่รวมกลุ่มคนไว้หลากเชื้อหลายชาติ และความหลากเชื้อหลายชาตินี้ก็นำมาซึ่งความหลากศาสนาหลายความเชื่อ หรือภาษานักวิชาการเรียกว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบ ‘พหุสังคม’ และ ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’

 

ต้องบอกว่าแนวคิดทั้งสองเติบโตมาจากรากฐานแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของคนทุกคน เมื่อทุกคนเท่ากัน ความเชื่อและศาสนา รวมถึงเรื่องเพศสภาพ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ควรจะได้รับสิทธิเสรีภาพ และควรได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกันด้วย

 

ฉะนั้นความสำคัญของการทำความเข้าใจดราม่า ‘ปีชง’ ด้วยมุมมองนี้จึงไม่ควรมีใครถูกมองว่า ‘โง่’ เพราะไม่ได้เชื่อแบบที่ฉันเชื่อ และเช่นเดียวกัน ก็ไม่ควรมีใครถูกเหยียดเพศสภาพว่า ‘ลักเพศ’ เพียงเพราะวิจารณ์สิ่งที่ฉันเชื่อ หรือไม่เป็นไปตามสิ่งที่ฉันเชื่อด้วยเช่นกัน อันนี้คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญ

 

ไม่มีคำว่า ‘นอกรีต’

ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ ‘ปีชงมีไว้สำหรับหลอกคนโง่’ หากเราแกะชุดความคิดที่อยู่ในคำพูดสั้นๆ คำนี้ คำถามสำคัญที่เราควรจะตั้งคำถามคือ อะไรคือความไม่โง่? แล้วเพราะอะไรสิ่งนั้นจึงถูกมองว่าไม่ใช่ความโง่?

 

กลับไปที่แนวคิดความหลากหลายอีกครั้ง สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งศาสนาและความเชื่อ เราอยู่กับความหลากหลายเหล่านี้มานานตั้งแต่กำเนิดเกิดหน่วยสังคมที่เรียกว่า ‘สยาม-ไทย’ เรามีความเชื่อที่หลากหลายที่ผสมปนเปกันอยู่ และยังคงแสดงให้เราเห็นอยู่อย่างเป็นปกติในทุกวันนี้ เรามีความเชื่อพื้นบ้านที่ผสมผสานระหว่างผีและพุทธ เรามีความเชื่อในสังคมที่ผสมผสานจากความเชื่อของแต่ละกลุ่มคน และ ‘ปีชง’ ก็เป็นหนึ่งในความหลากหลายของความเชื่อนั้นๆ

 

ย้อนกลับไปอีกครั้ง ประโยคที่ว่า ‘ปีชงมีไว้สำหรับคนโง่’ นั้นหมายความว่าคุณกำลังพยายามยัดเยียดชุดความถูกและดีในกรอบคิดของผู้พูด แล้วใช้มันตัดสินคนอื่นอยู่ใช่หรือไม่? อันนี้คือคำถาม แล้วคำถามคือ เราเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่ตัวเองคิดว่า ‘ถูกและดี’ นั้นคือสิ่งที่ ‘ถูกและดี’ สำหรับทุกคน

 

ยิ่งมีคำวิจารณ์ที่ตามมาหลังจากนั้นด้วยการผลักคนอื่นที่มีความเชื่อต่างจากตนเองว่าเป็น ‘พวกนอกรีต’ อันนี้ยิ่งบานปลาย เพราะคำคำนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเมืองศาสนามานานมากตั้งแต่สมัยพุทธกาล หากไปอ่านพุทธประวัติหรือเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวกับศาสนา เราจะเจอคำพวกนี้อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะ ‘พวกนอกรีต’ ‘พวกเดียรถีย์’ หรือ ‘พวกลัทธิเทวทัต’

 

คำพวกนี้เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองเท่านั้น ที่จะใช้สถาปนาชุดความถูกต้องให้กับศาสนาที่ตัวเองมองว่า ‘ถูกและดี’ และใช้เพื่อกำจัดคนเห็นต่างให้ออกไปนอกพื้นที่ความเชื่อที่ตัวเองมองว่า ‘ถูกและดี’

 

เพราะฉะนั้นหากเราใช้มุมมองจากแนวคิดเรื่องความหลากหลายทั้งสังคมและวัฒนธรรม ใช้วิธีคิดแบบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิและเสรีภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่ควรมีคำว่า ‘ถูกและดี’ หรือ ‘ฉลาดหรือโง่’ ที่มีแกนกลางอยู่ที่หลักคิดทางใดหลักคิดหนึ่ง แต่จะเป็น ‘ถูกและดี’ ที่มีแกนกลางอยู่ที่สิทธิและเสรีภาพในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อของทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน

 

ไม่มีคำว่า ‘ลักเพศ’

ในด้านความเชื่อ เราพิจารณากันไปแล้วว่าในโลกปัจจุบัน โลกแห่งการยอมรับความหลากหลาย เราควรจะจัดวางมุมมองหรือวิธีคิดของเราอย่างไร

 

ทีนี้กลับมาเรื่องเพศกันบ้าง

 

ความหลากหลายทางเพศก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของแนวคิดความหลากหลายในสังคม สังคมปัจจุบันเราต่างเรียกร้องหาความเท่าเทียมทางเพศ เราเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกที่จะกำหนดนิยามเพศของตัวเราเองโดยไม่ต้องให้ใครมากำหนด หรือแม้แต่ลักษณะกายภาพทางชีววิทยา หรือเครื่องเพศที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิดก็ไม่อาจจะมากำหนดนิยามเรื่องเพศของเราได้ นี่คือเสียงเรียกร้องของยุคสมัย นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

หากย้อนกลับไปที่คำว่า ‘พวกลักเพศ’ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า ‘การทำหรือแต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน เช่น ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง’ หรือถ้าพูดในภาษาที่เข้าใจกันทั่วไปก็หมายถึง ‘พวกผิดเพศ’

 

คำถามที่ควรจะตั้งคำถามต่อคำคำนี้ก็คือ อะไรคือเพศที่ถูกต้อง? เพศที่ถูกต้องใครคือคนกำหนด? ในโลกที่เราเรียกร้องหาความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ คำคำนี้ยังควรถูกใช้เพื่อเหยียดคนให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอีกหรือไม่?

 

ในทางศาสนาคำว่า ‘ลักเพศ’ ก็เป็นวาทกรรมที่ใช้กีดกันคนอื่นออกจากศาสนา หรือ กีดกันคนอื่นไม่ให้เข้าถึงหลักธรรมทางศาสนาเช่นกัน หากไปดูคำขานนาคก่อนบวช ‘ปุริโสสิ’ เป็นชายแท้หรือไม่ นี่ก็คือการกีดกันที่ชัดเจนที่สุด

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่ของอคติทางเพศในโลกศาสนาที่เข้าใจกันทั่วไปก็ยังมองว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศคือ ‘พวกมีกรรม’ ไม่สามารถเข้าถึงหรือบรรลุหลักธรรมอันเป็นแก่นธรรมของพุทธศาสนาได้ นี่ก็คืออคติทางเพศในทางศาสนา

 

เช่นเดียวกันกับคำว่า ‘นอกรีต’ คำว่า ‘ลักเพศ’ ก็สะท้อนอคติวิธีคิดและมุมมองของผู้พูดเช่นกัน คือการมีชุดความคิดเรื่องเพศที่ ‘ถูกและดี’ และคำว่า ‘ถูกและดี’ ในความหมายนี้ก็คือควรมีเพียงแค่ชายและหญิงเท่านั้น ใครแตกต่างไปจากข้อกำหนดที่มีแกนกลางคำนิยามความถูกต้องนี้เท่ากับผิดครรลอง ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร

 

แต่สิ่งที่สำคัญจากทัศนอคติของคำว่า ‘ลักเพศ’ มันยังเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามจะสถาปนาและรักษาชุดความถูกต้องทางเพศในวิธีคิดแบบเดิมไว้อยู่ และก็เช่นเดียวกันกับคำว่า ‘นอกรีต’ ก็กำลังพยายามสถาปนาชุดความถูกต้องบางอย่างอยู่เช่นกัน

 

ส้มพอเกลือ

ดังนั้นในกรณีดราม่าเรื่อง ‘ปีชง’ มีไว้หลอกคนโง่ และการถูกตอบกลับด้วยคำว่า ‘ลักเพศ’ จึงเป็นเรื่องเดียวกันที่อยู่คนละมุมมองอคติเพียงเท่านั้น ทั้งที่แกนของคำทั้ง 2 ไม่ว่าจะ ‘นอกรีต’ หรือ ‘ลักเพศ’ ก็คือการไม่ยอมรับความหลากหลายของสังคมที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายทางศาสนา ความหลากหลายทางความเชื่อ ความหลากหลายทางเพศ และความหลากหลายอื่นๆ อีกมากมายที่มีอยู่ และยังคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน

 

เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่ผู้เขียนและผู้เฝ้ามองดราม่าในครั้งนี้อยากจะเสนอให้พวกเราร่วมกันพิจารณาและอาจจะนำไปใช้ในการทำความเข้าใจสังคมของเราในโลกปัจจุบันให้มากขึ้นก็คือ การทำความเข้าใจความหลากหลายของสังคมในทุกๆ มิติ เคารพความหลากหลายของสังคมในทุกๆ มิติ เคารพสิทธิเสรีภาพในความหลากหลายด้วยความเท่าเทียม ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม

 

ดังนั้นหากจะให้อธิบายดราม่าปีชงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็คงต้องย้อนกลับไปที่สำนวนสุภาษิตล้านนาที่ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้นเลยก็คือ ‘ส้มพอเกลือ’ พอกันทั้งคู่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X