สืบเนื่องจากที่กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีมติให้กล่าวหาอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 ราย และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน รวมทั้งหมด 4 ราย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
กรณีแรงงานไทยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์จากการที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีขบวนการหักค่าหัวคิวเฉลี่ยรายละ 3,000 บาท ในช่วงปี 2563-2566
ความคืบหน้าวันนี้ (12 มกราคม) พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกดีเอสไอ ระบุว่า จากนี้เป็นขั้นตอนส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากพบว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือพบความผิดอื่น เช่น คดีค้ามนุษย์ อาจส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบเอง ถ้าเข้าข่ายคดีค้ามนุษย์จะมีการเอาผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการก่อน
พ.ต.ต. วรณัน กล่าวต่อว่า จากกรณีนี้ผู้กระทำผิดจะเป็นเพียงการแอบอ้างหน่วยงานหรือไม่นั้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษประชุมร่วมกับอัยการสูงสุด มีมติให้กล่าวหาก็ต้องมีพยานหลักฐานข้อเท็จจริงในสำนวนส่วนหนึ่งพอสมควรที่จะกล่าวหาบุคคลทั้ง 4 รายได้
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าบุคคลทั้ง 4 รายเตรียมฟ้องกลับดีเอสไอหากไม่ใช่เรื่องจริงนั้น พ.ต.ต. วรณัน ระบุว่า เป็นการใช้สิทธิตามขั้นตอนกฎหมาย ดีเอสไอมีหน้าที่ถ่ายทอดข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพียงแต่ว่ากระบวนการทำงานมี 2 ส่วน 1. ส่วนคดีก็ส่งไปตามอำนาจหน้าที่ และ 2. ส่วนการให้ข้อเท็จจริงกับสังคมก็ต้องให้เกียรติ ไม่เปิดเผยข้อมูลบุคคลที่ถูกกล่าวหา ไม่ระบุชื่อตัวบุคคล เพียงกล่าวแค่ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกว้างๆ
ดีเอสไอเผยแพร่ในประเด็นที่สังคมควรได้รับรู้ตามข้อเท็จจริง หรือแผนประทุษกรรมเพื่อให้ประชาชนรู้ว่ามีเหตุลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นจริง หากต่อไปเจอเหตุเช่นนี้กับตัวเองก็ให้ระมัดระวัง เพราะอาจตกเป็นเหยื่อ
ด้าน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุเพียงสั้นๆ ว่า คดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันทั้งดีเอสไอ อัยการสูงสุด และทางการฟินแลนด์ เพราะคดีค้ามนุษย์ถือเป็นเรื่องใหญ่ในต่างประเทศเกี่ยวกับการค้าแรงงาน ซึ่งทางตำรวจฟินแลนด์ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งพบเส้นทางการเงิน และมองว่าเป็นการค้ามนุษย์