×

สัญญาณเศรษฐกิจเย็น! จีนเผยเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติด จับตา PBOC หั่นดอกเบี้ย-อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

12.01.2024
  • LOADING...
PBOC

มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มที่จะหั่นอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบ เพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด และเพิ่มการปล่อยสินเชื่อในระบบ ในวันจันทร์นี้ (15 มกราคม) หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน เหตุจากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ

 

วันนี้ (12 มกราคม) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนลดลง 0.3% ซึ่งนับเป็นการติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการติดลบนานที่สุด (Longest Streak of Declines) นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2009 หรือในรอบเกือบ 15 ปี ทำให้ CPI ทั้งปี 2023 บวกเล็กน้อยเพียง 0.2% นับว่าอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 3% ค่อนข้างมาก

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ยังเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนธันวาคม

 

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งผู้ผลิต ก็ติดลบ 2.7% (YoY) หนักกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 2.6% (YoY) สะท้อนว่า มีความเป็นไปได้ว่าจีนจะประสบกับภาวะเงินเฟ้อติดลบต่อไป เนื่องจาก PPI จะเป็นตัวที่ออกมาก่อน CPI ดังนั้น หาก PPI มีค่าลดลงมักจะทำให้ CPI มีค่าลดลงตามไปด้วย

 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่า จีนมีแนวโน้มกำลังเข้าสู่สภาวะเงินฝืด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง และการส่งออกอ่อนแอลง

 

Raymond Yeung หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของ Australia & New Zealand Banking Group กล่าวว่า จีนจำเป็นต้องหยุดวงจรเงินฝืดอย่างจริงจัง พร้อมทั้งระบุอีกว่า ขณะที่แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับสูง เราเห็นว่าบริษัทต่างๆ กำลังเริ่มลดราคาสินค้า

 

คาด PBOC เตรียมหั่นดอกเบี้ยเพื่ออัดฉีดเงินหนุนเศรษฐกิจ

 

มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สำคัญๆ และอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบการเงินมากขึ้น ผ่านมาตรการลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (Reserve Requirement Ratio: RRR) หรืออัตราส่วนเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์ต้องถือเก็บไว้เป็นเงินสำรอง ในวันจันทร์นี้ (15 มกราคม) เพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด และเพิ่มการปล่อยสินเชื่อในระบบ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

ตามการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 15 คนของ Bloomberg คาดว่า PBOC จะหั่น MLF ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นโยบายระยะกลางลง 10 Basis Points เหลือ 2.4% 

 

Michelle Lam นักเศรษฐศาสตร์จีนจาก Societe Generale กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย “อาจไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุปสงค์ที่ฟื้นตัว แต่จะช่วยลดแรงกดดันด้านการจัดหาเงินกู้”

 

ทั้งนี้ Bloomberg รายงานอีกว่า การลดอัตราดอกเบี้ย MLF และการเพิ่มสภาพคล่องเป็นเพียงทางเลือกส่วนหนึ่งที่อยู่บนโต๊ะ PBOC ซึ่งเพิ่งปรึกษาหารือกับนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนเกี่ยวกับการทำให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X