สำนักข่าว AP (The Associated Press) เปิดรายงานข่าวกรณีตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกาเติบโตอย่างต่อเนื่อง พบเดือนเมษายนที่ผ่านมากระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุองค์กรและบริษัท หน่วยงานต่างๆ ฯลฯ บรรจุพนักงานใหม่กว่า 164,000 คน ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือเพียง 3.9% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีที่ตัวเลขอัตราการว่างงานลดลงต่ำกว่า 4% (ครั้งล่าสุดธันวาคม 2000)
ที่สำคัญยังส่งผลให้อัตราการว่างงานของประชากรสัญชาติแอฟริกัน-อเมริกันลดลงเหลือแค่ 6.6% นับเป็นสถิติตัวเลขที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1972 หรือราว 46 ปีที่แล้ว แต่ที่ไม่น่าปลื้มสักเท่าไรคืออัตราการมีส่วนร่วมในที่ทำงานของคนผิวสีซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ ที่ 62% ส่วนคนผิวขาวและชาวเอเชียนมีตัวเลขการมีส่วนร่วมอยู่ที่ 63% ด้านคนอเมริกันเชื้อสายสเปน (Hispanic) มีอัตราการมีส่วนร่วมมากสุดที่ 66.4%
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ยังระบุอีกด้วยว่ายอดการบรรจุพนักงานกว่า 164,000 คนในเดือนเมษายนนั้นสูงกว่าตัวเลขการบรรจุพนักงานในเดือนมีนาคม (135,000 คน) ซึ่งก่อนหน้านี้ อัตราการว่างงานในประเทศค้างอยู่ที่ตัวเลข 4.1% มานานเกือบ 6 เดือนเต็ม โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่คนหางานทำน้อยลง
อย่างไรก็ดีถึงแม้ตลาดการว่าจ้างงานจะคึกคักเป็นพิเศษ แต่จากข้อมูลกลับระบุว่ารายได้ของพนักงานต่อชั่วโมงกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมีนาคมและตลอดทั้งปีที่แล้วเพียงแค่ 0.1% และ 2.6% ตามลำดับเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าด้วยอัตราการว่างงานที่ต่ำลงเช่นน้ี อัตราการเติบโตของค่าจ้างพนักงานก็ควรจะเริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้ เพราะบรรดานายจ้างจะต้องพบกับความกดดันที่หนักกว่าเดิมในการทุ่มเงินจ้างพนักงาน
ข้ามมาดูที่ฝั่งประเทศไทยกันบ้าง จากการเปิดเผยของสำนักงานสถิติแห่งชาติช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบผู้ที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานจำนวน 38.42 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้มีงานทำ 37.60 ล้านคน ผู้ว่างงาน 491,000 คน เพิ่มขึ้นจากเดิม 61,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.3% เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยผู้ว่างงานมากที่สุดคือผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ปริญญาตรีและโท ตามมาด้วยระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย
อ้างอิง: