×

‘อดทนจีน-ไม่นอบน้อมจีน’ รู้จัก เคอเหวินเจ๋อ ทางเลือกที่ 3 ศึกชิง ปธน.ไต้หวัน ‘ผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’

11.01.2024
  • LOADING...
เคอเหวินเจ๋อ

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันครั้งที่ 8 นี้ นอกเหนือจากผู้สมัครของ 2 พรรคการเมืองหลักอย่าง ไล่ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) รองประธานาธิบดีไต้หวัน จากพรรครัฐบาล DPP (Democratic Progressive Party) และ โหวโหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) นายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป จากพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT) ยังปรากฏผู้สมัคร ‘ทางเลือกที่ 3’ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจนน่าจับตามองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  

 

เขาคือ เคอเหวินเจ๋อ อดีตศัลยแพทย์วัย 64 ปี ที่เข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงไทเปในปี 2014 ในฐานะผู้สมัครอิสระ และสามารถคว้าชัยชนะไปได้ โดยได้คะแนนเสียงเหนือคู่แข่งจาก KMT ซึ่งถือเป็นการเปิดทางสู่อาชีพนักการเมืองอย่างสวยงาม และยังได้รับเลือกอีกสมัยในปี 2018 ก่อนจะครองตำแหน่งจนถึงปี 2022 

 

จากนายกเทศมนตรีของเมืองหลวง เขามองการณ์ไกลถึงการชิงเก้าอี้ผู้นำไต้หวัน และเปิดตัวเป็น ‘กองกำลังที่ 3’ ท้าชิงอำนาจจาก 2 ขั้วการเมืองเดิม 

 

ความน่าสนใจของชายผู้นี้ นอกจากจะเป็นทางเลือกและสีสันใหม่ให้แก่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ยังต้องจับตามองไปถึงทิศทางของนโยบายบริหารรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายต่อจีน ซึ่งเขาเน้นย้ำมาตลอดระหว่างหาเสียงว่า “ทั้งสองฝั่งช่องแคบ (ช่องแคบไต้หวัน) เป็นครอบครัวเดียวกัน”

 

ผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

 

เคอก่อตั้งพรรค TPP (Taiwan People’s Party / ไถวันหมินจ้งตั่ง) หรือพรรคประชาชนไต้หวัน ในปี 2019 ก่อนประกาศตัวเป็นผู้สมัครของพรรค ลงชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันที่ 13 มกราคมนี้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้ประชาชน 

 

สำหรับผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเข้ามารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ซึ่งจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม หลังดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัย 

 

โดยสิ่งที่น่าจับตามองคือผู้นำคนใหม่จะกำหนดนโยบายระหว่างไต้หวันและจีนอย่างไร และจะรับมือกับแรงกดดันและการแทรกแซงทางการเมืองจากจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทิศทางไหน ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา บรรยากาศทางการเมืองระหว่างไต้หวันและจีนตึงเครียดต่อเนื่อง ภายใต้การนำของรัฐบาล DPP 

 

เคอมองว่าปัญหาสำคัญที่แท้จริงของไต้หวันนั้นไม่ใช่จีน แต่เป็นภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนสินค้าจำเป็น และภัยสภาพอากาศ โดยเขากังวลต่อความเดือดร้อนของประชาชน และความเสี่ยงที่สงครามอาจเกิดขึ้นจากเกมการเมืองโลกมากกว่า

 

“ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พรรคสีน้ำเงิน (KMT) และพรรคสีเขียว (DPP) ผลัดกันขึ้นสู่อำนาจ แต่ชีวิตของคนไต้หวันยังไม่ดีขึ้น ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างประชาชนทวีความรุนแรงมากขึ้น และอัตลักษณ์ประจำตัวของประชาชนไต้หวันก็เสี่ยงที่จะเกิดความแตกแยก เรายังไม่สามารถรับเอาทัศนคติที่มีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามและอันตรายที่แท้จริงของไต้หวันได้” เคอกล่าวสุนทรพจน์ต่อชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของไต้หวันเมื่อเร็วๆ นี้

 

เขาส่งเสริมนโยบายความอดทนต่อจีน และเปรียบความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายเหมือนกับเนื้องอกที่ควร “ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ” ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายพยายามหารือเกี่ยวกับสถานะที่เป็นอยู่ (Status Quo) และความสัมพันธ์ในอนาคต

 

“30 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเป็นศัลยแพทย์ ถ้าเราพบเนื้องอก เราก็จะพยายามเอามันออก แต่ในเวลานี้เราแค่พยายามอยู่กับมัน” เขากล่าว และมองว่า “จีนยังคงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการจัดการ โดยไม่ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ระหว่างทั้งสองฝ่าย”

 

จากเขียวสู่น้ำเงิน

 

ย้อนกลับไปในช่วงที่ยังเป็นศัลยแพทย์ เคอสนับสนุน เฉินฉุยเปี่ยน (Chen Shui-bian) ประธานาธิบดีจากพรรค DPP ในขณะนั้นอย่างหมดใจ 

 

โจ บาวเออร์ นักวิเคราะห์ในวอชิงตันชี้ว่า แม้ในช่วงหลังจากที่เฉินหมดวาระ และชื่อเสียงของเขามัวหมองด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชัน เคอก็ยังคงภักดีต่อ DPP โดยล็อบบี้ให้เฉินได้รับการรักษาพยาบาลมากขึ้น และกล่าวหาว่าการฟ้องร้องต่ออดีตประธานาธิบดีเฉินมีแรงจูงใจทางการเมือง

 

การคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงไทเปของเคอ ก็ได้รับการสนับสนุนจาก DPP 

 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีระหว่างเคอและ DPP เริ่มออกห่างจากกัน จากการที่เขาเริ่มสนับสนุนการทำข้อตกลงทางการค้ากับจีน

 

โดยในช่วงแรกของการรับตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงไทเปในปี 2014 เขาสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วง กดดันให้รัฐบาลไต้หวันในขณะนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ KMT ยกเลิกข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับปักกิ่ง

 

แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเคอบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “ข้อตกลงทางการค้า (กับจีน) สามารถเกิดขึ้นได้ หลังจากที่รัฐสภาของไต้หวันออกกฎหมายกำกับดูแลข้อตกลงข้ามช่องแคบ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมวิธีการพิจารณาและอนุมัติข้อตกลงระหว่างจีนและไต้หวัน” 

 

โดยเคอมองว่าจีนนั้นยังเป็นตลาดที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับไต้หวัน และได้มีการขยายความสัมพันธ์ระหว่างกรุงไทเปกับจีนมากขึ้น ตลอดช่วง 8 ปีที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี

 

ตั๋วร่วมฝ่ายค้านชิงประธานาธิบดี

 

ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้น เคอถูกจับตามองมากขึ้น หลังมีบทบาทเสนอแนวทางใหม่ระหว่างพรรคฝ่ายค้านเพื่อคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยข้อเสนอที่เรียกว่า ‘ตั๋วประธานาธิบดีร่วม (Joint Presidential Ticket)’ หรือการจับมือทำข้อตกลงกันระหว่าง TPP และ KMT เพื่อเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติ และเสนอให้จัดการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote) เพื่อหาตัวผู้สมัครชิงประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

 

ในตอนแรกทั้ง 2 พรรคตกลงที่จะร่วมมือกันในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและไม่แข่งกันเอง แต่ท้ายที่สุดเนื่องจากไม่มีสัญญาที่ชัดเจนหรือเป็นทางการ ทำให้ความร่วมมือไม่เกิดขึ้นจริง

 

ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ประกอบกับการลงทะเบียนสมัครชิงประธานาธิบดีแยกกันระหว่างเคอและโหว ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การสร้างพันธมิตรฝ่ายค้านไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

 

ขณะที่อุปสรรคสำคัญคือการกำหนดรูปแบบการจัดเลือกตั้งขั้นต้น ซึ่งเคออยากให้มีการลงคะแนนทางโทรศัพท์ร่วมด้วย และเน้นไปที่โทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ KMT อยากให้เป็นการลงคะแนนด้วยตนเองมากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สร้างความประหลาดใจกลับเกิดขึ้นหลังพรรค TPP และ KMT บรรลุข้อตกลงตั๋วประธานาธิบดีร่วมได้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 

 

ในตอนแรกดูเหมือนกับว่าทั้ง 2 ฝ่ายสามารถบรรลุความพยายามจัดตั้งพันธมิตร แต่ที่สุดแล้วก็ปรากฏรอยร้าวจากการที่พรรค TPP ไม่ได้เห็นด้วยกับเคอในการทำข้อตกลงนี้ และแนวทางการลงคะแนนทางโทรศัพท์ที่เคอสนับสนุนก็ไม่รับประกันว่าจะมีผลสำคัญให้เคอได้รับเลือกเป็นตัวแทนของ 2 พรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 

 

ด้วยเหตุนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 18 พฤศจิกายน แต่เคอยืนยันว่า เขายังพร้อมที่จะหารือเกี่ยวกับความร่วมมืออื่นๆ ระหว่างทั้ง 2 พรรค

 

คะแนนนิยมยังตามหลัง DPP และ KMT

 

หนึ่งในสิ่งที่หลายคนยกย่องเคอ คือความมุ่งมั่นและวัฒนธรรมในการทำงานอย่างแข็งขันของเขา ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ทำอาชีพศัลยแพทย์ เช่น การประชุมแก้ไขปัญหา และสรุปขั้นตอนปฏิบัติงานอย่างละเอียดตั้งแต่เช้า ก็ยังสืบต่อมาในช่วงดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี

 

ซึ่งคนใกล้ชิดที่เคยทำงานร่วมกับเขา เชื่อมั่นว่าเขาจะนำเอาวัฒนธรรมการทำงานที่ดีเหล่านี้มาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้อย่างแน่นอน

 

ขณะที่ท่าทีของเคอ ซึ่งไม่ยืนอยู่ฝ่ายใด โดยในทางหนึ่งก็กล่าวหา DPP ว่าทำให้ไต้หวันเสี่ยงอันตรายจากการสนับสนุนสงคราม แต่อีกทางหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์ KMT ว่านอบน้อมให้จีนมากเกินไป ทำให้เขาได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุน้อยซึ่งมองหาทางเลือกใหม่ๆ

 

โดยแม้ว่าเคอจะไม่ปลุกปั่นฝูงชนในลักษณะเดียวกับนักการเมืองไต้หวันของทั้ง 2 ขั้ว แต่จุดยืนไม่ฝักใฝ่หรือเอนเอียงไปทางฝ่ายใดอย่างชัดเจน ทำให้เขากลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับชาวไต้หวันผู้มีสิทธิลงคะแนนที่มองหาทางเลือกใหม่ทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา โดย The Economist ชี้ว่าไล่ชิงเต๋อและโหวโหย่วอี๋มีคะแนนนิยมนำเป็นอันดับ 1 และ 2 อยู่ที่ 36% และ 31% ตามลำดับ ส่วนเคอเหวินเจ๋อนั้นอยู่อันดับ 3 ที่ 24% 

 

โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน คะแนนนิยมของเคอเคยสูสีกับโหว ซึ่งต้องจับตามองต่อไปว่า แนวทางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของเขา จะพาเขาไปได้ไกลแค่ไหนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันครั้งนี้

 

ภาพ: Ann Wang / REUTERS

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising