นี่คือโฉมหน้าผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไต้หวันจาก 3 พรรคการเมืองสำคัญในการเลือกตั้งผู้นำไต้หวัน 2024 ที่จะเปิดคูหาลงคะแนนอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 มกราคมนี้
โดย ไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีไต้หวันและหัวหน้าพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) เป็นผู้สู้ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีไต้หวันคนต่อไป โดยมี เซียวเหม่ยฉิน อดีตผู้แทนไต้หวันประจำสหรัฐอเมริกา เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีไต้หวันในครั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า หากผู้สมัครจากพรรค DPP ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกันจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันอาจทวีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น
ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) เลือก โหวโหย่วอี๋ นายกเทศมนตรีนิวไทเป และ จ้าวเซ่าคัง ประธานองค์กรสื่อ Broadcasting Corporation of China (BCC) ลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไต้หวันในการเลือกตั้งหนนี้ตามลำดับ โดย โหวโหย่วอี๋ ได้ประกาศย้ำชัดว่า เขาสนับสนุนการรักษาภาวะเดิม (Status Quo) ไม่สนับสนุนนโยบายจีนเดียว และไม่สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน
ทางด้าน เคอเหวินเจ๋อ หัวหน้าพรรคไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP) ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน โดยผนึกกำลังกับ ซินเทีย วู (อู๋ซินอิ๋ง) สมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีหญิงของไต้หวัน ถึงแม้ว่าเธอจะถูกสังคมตั้งคำถามถึงประเด็นการเกิดและถือสัญชาติอเมริกัน แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งไต้หวันได้พิจารณาแล้วว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีไต้หวันทั้ง 6 คนนี้ มีคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งได้
สำหรับผลการเลือกตั้งนั้น พรรค DPP จะยังคงรักษาอำนาจนำไว้ได้อีกอย่างน้อย 4 ปี หรือพรรค KMT จะสามารถทวงเก้าอี้ผู้นำไต้หวันคืนได้สำเร็จ หรือผู้สมัครจากพรรค TPP จะได้รับโอกาสครั้งสำคัญในการบริหารและกำลังทิศทางของไต้หวันต่อจากนี้ มีเพียงชาวไต้หวันเท่านั้นที่จะเป็นผู้เลือกเส้นทางอนาคตของพวกเขาเอง 13 มกราคมนี้ ต้องติดตาม!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คู่มือเลือกตั้ง 101: รวมสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลือกตั้งไต้หวัน 2024
- เปิดโปรไฟล์ ไล่ชิงเต๋อ จากลูกคนงานเหมือง สู่ตัวเต็งประธานาธิบดีไต้หวัน
- เป้าหมาย ‘รวมชาติ’ สารปีใหม่จากสีจิ้นผิง และนัยต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน