นักลงทุนส่งเสียงเตือนรัฐบาลทั่วโลกถึงระดับหนี้สาธารณะที่ไร้การควบคุม เนื่องจากการกู้ยืมเงินก่อนช่วงการเลือกตั้งที่มากเกินไปอาจสร้างความเสี่ยงต่อตลาดพันธบัตร
การออกพันธบัตรจากรัฐบาลสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร คาดว่าจะพุ่งสูงสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ขณะที่ตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มที่จะออกพันธบัตรใหม่ต่อไป โดยข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) พบว่าหนี้สาธารณะพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 68.2% ของ GDP เมื่อปีที่แล้ว
Jim Cielinski หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ระดับโลกของ Janus Henderson กล่าวว่า ภาวะขาดดุลของรัฐบาลทั่วโลกอยู่ในระดับที่เกินควบคุมไปแล้วและเป็นเรื่องจริงที่ว่าไม่มีกลไกใดที่สามารถควบคุมให้ลดลงได้ และปัญหานี้จะกลายเป็นเรื่องที่ร้ายแรงต่อตลาดในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะออกพันธบัตรมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยมีอายุตั้งแต่ 2-30 ปี ตามการประมาณการจาก Apollo Global Management เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2018
ยอดการออกพันธบัตรสุทธิที่หักตามการซื้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนจะอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ภายใน 12 เดือน จนถึงสิ้นเดือนกันยายน ตามการคำนวณของ RBC Capital Markets ซึ่งเป็นมูลค่ารายปีที่สูงที่สุดอันดับ 2 นอกจากนี้ธนาคารกลางแคนาดาคาดว่าตัวเลขการออกพันธบัตรสุทธิในปี 2024-2025 จะสูงกว่าระดับในยุคการแพร่ระบาดของโควิด
Robert Tipp หัวหน้าฝ่ายพันธบัตรระดับโลกของ PGIM Fixed Income ระบุว่า เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อหนี้ของรัฐบาลโดยแท้จริง ปริมาณการกู้ยืมของรัฐบาลที่สูงลิ่วอาจเบี่ยงเบนความสนใจของตลาดไปจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย และในตอนนี้เริ่มมีสัญญาณที่ทำให้นักลงทุนและหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือกำลังกลับมาคิดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง
สหราชอาณาจักร ซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปีนี้กำลังอยู่ในเส้นทางของปีที่ออกจำหน่ายพันธบัตรสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2020 เท่านั้น เมื่อธนาคารกลางอังกฤษเข้าแทรกแซงเพื่อดูดซับควบคุมปริมาณเงินในช่วงแรกของการระบาดของโควิด Keir Starmer หัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งมีคะแนนนำโด่งในโพลการสำรวจได้ให้ถ้อยคำมั่นที่จะกู้ยืมเงิน 2.8 หมื่นล้านปอนด์ต่อปีสำหรับ ‘แผนความมั่งคั่งสีเขียว’ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับระดับหนี้สาธารณะของประเทศ
ตามการประมาณการของ NatWest 10 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในยูโรโซนจะออกพันธบัตรมูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านล้านยูโรในปีนี้ ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่ายอดการออกพันธบัตรสุทธิซึ่งรวมถึงผลกระทบจากนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวและไม่รวมการรีไฟแนนซ์ของพันธบัตรที่มีอยู่จะเพิ่มขึ้นกว่า 18% ในปีนี้เป็น 6.4 แสนล้านยูโร
การตรวจสอบระดับหนี้ที่สูงเป็นประวัติการณ์เกิดขึ้นในปีที่วุ่นวายจากกระแสการเลือกตั้งทั่วโลก ซึ่งกระตุ้นแรงจูงใจให้นักการเมืองเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น เช่นสหรัฐฯ ที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พฤศจิกายน นักลงทุนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่พรรคการเมืองแต่ละฝ่ายจะขัดขวางนโยบายทางการคลังของแต่ละฝ่าย
David Zahn หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ยุโรปที่ Franklin Templeton เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเต็งหลัก 2 คน ได้แก่ ประธานาธิบดีปัจจุบัน Joe Biden และอดีตประธานาธิบดี Donald Trump ดูเหมือนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายการคลังมากนัก เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะยังคงใช้จ่ายต่อไป
การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ โดยสัดส่วนเมื่อเทียบกับ GDP ในประเทศ ถูกกำหนดให้อยู่ระหว่าง 6.5-8% ในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 4% ในปี 2022 ขณะที่อัตราการจ่ายดอกเบี้ยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3% ของ GDP ในปี 2022 เป็น 4.5% ภายในปี 2028
ขณะที่ IIF เตือนว่าการเลือกตั้งและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดเกิดใหม่อาจกระตุ้นให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของรัฐบาลและวินัยทางการคลัง ซึ่งรวมถึงอินเดีย แอฟริกาใต้ ปากีสถาน และสหรัฐฯ
อ้างอิง: