วานนี้ (7 มกราคม) เศรษฐา ทวีสิน โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ระบุถึงจากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนว่า “ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”
แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้ง นับตั้งแต่โควิด
นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 8 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ย 0.50% จนขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.50% ทำให้เกิดคำถามว่าเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้หรือไม่
10 สิงหาคม 2565: กลับมาขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75%
28 กันยายน 2565: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1.00%
30 พฤศจิกายน 2565: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.00% เป็น 1.25%
25 มกราคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ยต่อ 0.25% จาก 1.25% เป็น 1.50%
29 มีนาคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75%
31 พฤษภาคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00%
2 สิงหาคม 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 2.00% เป็น 2.25%
27 กันยายน 2566: ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.50%
ธปท. ชี้ดอกเบี้ย 2.50% เหมาะสมเศรษฐกิจ
ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘เศรษฐกิจติดบ้าน’ ทางไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ถึงการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น จึงค่อยๆ ถอนนโยบายผ่อนคลายการเงิน ซึ่งดอกเบี้ย 2.50% เรียกว่าเป็นดอกเบี้ยนิ่งๆ เป็นกลาง ไม่ผ่อนคลายหรือฉุดรั้ง เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่ยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการพิจารณาต้องดูจากการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงินโดยรวม
ภูริชัยระบุว่า หากมีดอกเบี้ยต่ำอาจผ่อนคลายในการชำระหนี้ แต่อาจจูงใจให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ความจำเป็นต้องผ่อนคลายเศรษฐกิจเริ่มหมดไป แนวโน้มทั่วโลกจะมีดอกเบี้ยสูงขึ้น โลกจะโตด้วยความเข้มแข็งไม่ใช่หนี้
‘หนุ่มเมืองจันท์’ ตั้งคำถาม แบงก์ได้กำไร สวนทางเศรษฐกิจ
โดยก่อนหน้านี้ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ สรกล อดุลยานนท์ นักประพันธ์ โพสต์บทความบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 โดยนำเสนอพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่มีข้อความว่า ‘แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น – BBL แชมป์’ พร้อมระบุช่วงหนึ่งว่า ผมไม่รู้ว่า ‘แบงก์ชาติ’ จะรู้สึกตงิดอะไรในใจบ้างไหม
“ถ้าเศรษฐกิจดี ประชาชนมีกำลังซื้อ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ ทุกธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น ธุรกิจแบงก์ที่เปรียบเสมือน ‘หัวใจ’ สูบฉีดเลือดหรือเงินไปเลี้ยงร่างกายหรือภาคธุรกิจจะมีกำไรในสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ร่างกายดี หัวใจก็ควรจะแข็งแรง”
แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี 2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4% พ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ดี ธุรกิจ SMEs 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เลิกกิจการ 17,858 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 11% รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 27,000 คัน เพราะคนผ่อนไม่ไหว คนที่ยื่นเรื่องขอกู้ซื้อบ้านถูกแบงก์ปฏิเสธประมาณ 50% แต่ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตราการกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70%
“เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนสูงขึ้น ในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม แบงก์ไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวหนี้เสีย ลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์กำไรเพิ่มขึ้นก็ถือว่าผิดปกติแล้ว เหมือนร่างกายอ่อนแอแต่หัวใจกลับแข็งแรง”
ขยับส่วนต่าง ดอกเบี้ยเงินฝากน้อย-เงินกู้แพง
เนื้อหาบทความยังระบุว่า พอมาดูเหตุผลว่าทำไมแบงก์ไทยทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ยิ่งน่าเกลียด รู้ไหมครับว่ากำไรที่สูงลิ่วของแบงก์มาจากอะไร มาจาก ‘การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ’ หรือ NIM หมายความว่าในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แบงก์ก็ขยับ ‘ส่วนต่าง’ ของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ของแบงก์ไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม จ่ายดอกเบี้ยคนฝากเงินน้อยๆ แต่ให้กู้แพงๆ ทำกำไรแบบง่ายๆ
แบงก์ที่กำไรจาก ‘ส่วนต่าง’ นี้มากที่สุดคือ แบงก์กรุงเทพ อย่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีของแบงก์กรุงเทพต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับแบงก์ใหญ่ทั้งหมด ตอนนี้อยู่ที่ 1.6% ในขณะที่แบงก์อื่นขยับขึ้นเป็น 2-2.2% แล้ว ที่มีคนกล่าวหาว่าแบงก์เป็น ‘เสือนอนกิน’ จึงไม่ใช่คำกล่าวหา หน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์คือธนาคารแห่งประเทศไทย เหมือนคุณหมอที่ดูแลเรื่อง ‘หัวใจ’ ถ้าการทำงานของ ‘หัวใจ’ ผิดปกติแบบนี้ รัฐบาลและแบงก์ชาติไม่รู้สึก ‘เอ๊ะ’ อะไรบ้างหรือครับ จะไม่คิดทำอะไรบ้างหรือครับ หรือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติเพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
โฆษกรัฐบาลเห็นด้วย ‘หนุ่มเมืองจันท์’
ขณะที่ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ยกบทความของหนุ่มเมืองจันท์ พร้อมระบุว่า “โพสต์ดังกล่าวของหนุ่มเมืองจันท์ในเฟซบุ๊กมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและแชร์โพสต์กว่า 700 ครั้ง ผมเห็นด้วยและถูกใจกับข้อเขียนของหนุ่มเมืองจันท์ในเฟซบุ๊กมาก เพราะถูกต้องแม่นยำตรงกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจไทยในห้วงขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง”
9 เดือนแรกปี 2566 แบงก์กำไร 186,559 ล้านบาท
กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กันยายน) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (BANK) ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 10 แห่ง ประกาศผลประกอบการออกมาโดยรวมมีกำไรสุทธิ 186,559 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่มีกำไรสุทธิ 163,745 ล้านบาท
ธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเมินผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่บริษัทครอบคลุมบทวิเคราะห์จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย BBL, KBANK, KTB, SCB, TISCO, TTB, TCAP และ KKP คาดว่าไตรมาส 4/66 ตัวเลขกำไรสุทธิ (8 แบงก์) จะอยู่ที่ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 25-30%
โดยปัจจัยหลักสนับสนุนการเติบโตของกำไรแบงก์ปี 2566 คือการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่คาดปรับตัวดีขึ้น 3.4% (เพิ่มขึ้น 46 bps) ตามการปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นมาตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2565 จนถึงไตรมาส 4/66
ปี 2566 กำไรโตแล้ว ปี 2567 กำไรโตต่อ
ธนเดชกล่าวว่า แรงหนุนจาก NIM ทำให้กำไรแบงก์ปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 202,183 ล้านบาท เติบโต 18.5% จากปีก่อนหน้า ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจธนาคาร โดยแบงก์เคยทำกำไรสูงสุดช่วงปี 2557 ที่ระดับ 1.9 แสนล้านบาท (ประเมินจากหุ้นแบงก์ 8 แห่ง)
ทั้งนี้ แนวโน้มกำไรแบงก์ (8 แห่ง) ในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 224,336 ล้านบาท เติบโตขึ้น 11%YoY ทำนิวไฮใหม่ แต่จะเป็นอัตราการเติบโตแผ่วลงเพราะเทรนด์ดอกเบี้ยหยุดขึ้นแล้ว คาดดอกเบี้ยจะปรับลงช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยประเมินภาพของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะเติบโต 3.6% (เพิ่มขึ้นมา 20 bps) สำหรับสินเชื่อโดยรวมปีนี้คาดว่าจะโต 3.5% สูงกว่าตัวเลขจีดีพีที่คาดว่าจะโต 3%
อ้างอิง:
- https://www.prachachat.net/finance/news-1473634
- https://www.facebook.com/boycitychanFC/posts/948061420013656?ref=embed_post
- https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=311075198592658&id=100090705406699&mibextid=WC7FNe
- https://www.facebook.com/thestandardth/posts/pfbid03PDYPCLaFgcvpUxC2cNZ4RpUTGxHx8W9R6sNmBZsPWYN1a75NSJcuPbR3A1DyJCXl
- https://www.thaipbs.or.th/program/Economics101/episodes/99113