×

Millennials และ Gen Z หันมาสนใจสะสมงานศิลปะ ทำให้ตลาดเปลี่ยนไปอย่างไร

05.01.2024
  • LOADING...
Millennials Gen Z งานศิลปะ

แม้ว่าปีที่แล้วจะมีบางช่วงที่ตลาดศิลปะชะลอตัวไปบ้าง แต่ตามรายงาน The Wealth Report ของ Knight Frank ที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022-2023 งานศิลปะถือว่ามีดัชนีการเติบโตสูงที่สุดในหมวดหมู่ของสะสมอยู่ที่ 30% ในรอบ 12 เดือน กลายเป็นสินทรัพย์ม้ามืดที่ดึงดูดใจ ยิ่งในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นยังไม่มีเสถียรภาพ นักลงทุนรุ่นใหม่เริ่มใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนสู่สินทรัพย์ทางเลือกที่ว่ากันว่าให้ผลตอบแทนดีกว่า S&P 500 โดยเฉพาะในกลุ่ม Millennials และ Gen Z ที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘แรงผลักดันใหม่’ ในตลาด 

 

The Fine Art Group บริษัทที่ปรึกษาการเงินด้านศิลปะระดับโลก มีอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์อยู่ที่ 14% เมื่อเทียบกับ S&P 500 ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนต่อปีที่ 11.88% ในขณะที่การวิจัยของ Artprice.com รายงานว่า ดัชนี Artprice100 ซึ่งติดตามศิลปินที่มีผลงานดีที่สุด 100 อันดับแรกในการประมูล ผลงานศิลปะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้น Wall Street ถึง 2 เท่าในปี 2023 โดยในปี 2022 ยอดขายงานศิลปะทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3% เป็นประมาณ 6.78 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

จากรายงานต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า ตลาดผลงานศิลปะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและเคยมีตัวอย่างมาแล้ว เช่น หลังวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2010 ตลาดมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 44% เป็น 6.46 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2011 ด้วยแรงสนับสนุนจากนักสะสมจีน ผนวกกับตลาดในสหรัฐฯ ที่ค่อยๆ แข็งแกร่ง 

 

โดยการระบาดครั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการประมูลศิลปะไปสู่โลกออนไลน์ เปิดให้ผู้ที่อาจไม่เคยก้าวเข้าไปในแกลเลอรีมาก่อนได้ลองเข้าสู่การลงทุนทางศิลปะ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าที่ Christie’s ขายในไตรมาสแรกของปี 2023 เป็นการซื้อ-ขายทางออนไลน์เพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 2019 

 

ผู้ซื้อรายใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาว Millennials ที่เริ่มสนใจศิลปะผ่านทางศิลปินร่วมสมัย ก่อนที่จะก้าวไปสู่ผลงานเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น Robert Pattinson, Oprah Winfrey หรือครอบครัว Kardashian ที่หันมาเป็นนักสะสมงานศิลปะและขับเคลื่อนวัฒนธรรมนี้ผ่านโซเชียลมีเดีย 

 

ปัจจุบันคนในรุ่น Millennials เป็นกลุ่มคนที่ใช้จ่ายในตลาดศิลปะสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 228,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 7.8 ล้านบาท และมีถึง 30% ของคนรุ่น Millennials ที่ใช้จ่ายมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่คนรุ่น Baby Boomer ใช้จ่ายเกิน 1 ล้านดอลลาร์อยู่ที่ 17 % เท่านั้น 

 

เมื่อลูกค้าเป็นคนรุ่นใหม่ ทิศทางของความสนใจในผลงานศิลปะก็เปลี่ยนทิศไปที่ศิลปะร่วมสมัยที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมูลค่าได้เร็วกว่า และเริ่มสนใจผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ไปพร้อมๆ กับงานศิลปะจากศิลปินระดับปรมาจารย์ 

 

จากสถิติของบริษัทการประมูลใหญ่ๆ ผลงานของศิลปินที่เกิดหลังปี 1980 ได้รับการประมูลเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งผลงานของศิลปินหญิงที่เคยทำราคาได้ไม่ดีเท่าศิลปินชายก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยผลงานที่เข้าร่วมการประมูลในปี 2022 ประมาณ 1 ใน 3 เป็นของศิลปินหญิง และหากวัดจากผลงานทำลายสถิติการประมูลในปีนั้นก็เป็นของศิลปินหญิงถึง 40% 

 

และล่าสุดในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ผลงาน Spider (1996) ของ Louise Bourgeois ขายได้ในราคา 32.8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในการประมูลผลงานของประติมากรหญิง

 

โดยภูมิภาคที่เติบโตขึ้นมากคือตลาดเอเชีย-แปซิฟิก จากเหล่าผู้ประมูลหน้าใหม่ที่ร่ำรวยจากธุรกิจบันเทิง แฟชั่น เกม ฟินเทค และคริปโต รวมถึงการไม่จำกัดความสนใจอยู่ที่ศิลปินจากยุโรปและอเมริกา แต่ขยายขอบเขตไปสู่ศิลปินจากชาติอื่นๆ ทั้งฝั่งเอเชียและแอฟริกา

 

นอกจากนี้นวัตกรรมยังช่วยสร้างแพลตฟอร์มให้ศิลปินมีพื้นที่ขายงานศิลปะ และคนรุ่นใหม่ก็เข้าถึงผลงานได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น LiveArt แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายและฐานข้อมูลราคาที่บุคคลทั่วไปสามารถซื้อและขายงานศิลปะได้ ทำให้ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเป็นคนร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของผลงานศิลปะได้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในผลงานศิลปะก็เหมือนการลงทุนประเภทอื่นคือ ผลกำไรในอดีตไม่อาจยืนยันกำไรในอนาคต เมื่อผนวกเข้ากับพื้นฐานของการสะสมมักเกิดจากความชื่นชอบส่วนตัว ทำให้หลายครั้งก็พลาดโอกาสการขายในช่วงเวลาที่ราคาขึ้นเพราะตัดใจไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากการบริหารการลงทุนอย่างอื่นที่ไม่ได้ใช้ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง

 

ในทางกลับกัน เมื่อการสะสมงานศิลปะไม่ได้เกิดจากความหลงใหล ก็ทำให้นักสะสมขาดแรงบันดาลใจในการหาข้อมูลเกี่ยวกับผลงาน กลายเป็นความเสี่ยงที่จะเป็นเจ้าของผลงานที่ไม่มีคุณค่าเท่าที่หวัง รวมทั้งการหวังเก็งกำไรในระยะสั้นก็อาจทำให้ใจร้อนรีบขาย ทั้งๆ ที่ราคาอาจจะไปได้อีกไกล ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผลงานที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1850-1950 จะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปีจึงจะเห็นผลของการลงทุน แต่ก็ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา การจัดเก็บ ความถูกต้อง หรือแม้แต่ชื่อเสียงเจ้าของเดิมของของชิ้นนั้นด้วย

 

Las Meninas II ของ Simone Leigh (2019) ราคาประมาณ 106.2 ล้านบาท  

 

ผลงานประติมากรรมดินเผาของประติมากรหญิง Simone Leigh สร้างสถิติการประมูลใหม่ของเธอด้วยราคา 3.1 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 106.2 ล้านบาท สูงกว่าราคาเฉลี่ย 3% โดยผลงานชิ้นนี้ทำขึ้นจากเหล็ก ใบปาล์ม และเครื่องเคลือบดินเผา แสดงถึงความเป็นผู้หญิงผิวดำ อำนาจอธิปไตย และศิลปะของชาวแอฟริกันพลัดถิ่น

 

Night Studio ของ Nicole Eisenman (2009) ราคาประมาณ 82.3 ล้านบาท 

 

 

ผลงานของจิตรกรหญิง Nicole Eisenman ที่ทำราคาได้สูงกว่าราคาประเมินถึง 143% โดยทำลายสถิติผลงานก่อนหน้าคือ Mermaid Catch (1996) ซึ่งขายในปี 2021 ด้วยราคา 1.2 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 41.1 ล้านบาท 

 

Prophet ของ El Anatsui (2012)  ราคาประมาณ 78.9 ล้านบาท

 

ผลงานของประติมากรชาวกานาที่มักสร้างสรรค์งานศิลปะจากวัสดุที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดย Prophet ทำขึ้นจากฝาขวดอะลูมิเนียมและลวดทองแดง ผลงานชิ้นนี้ทำราคามากกว่าที่ประเมินไว้ถึง 123% สูงกว่าสถิติก่อนหน้าของศิลปินที่ 1.95 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 66.9 ล้านบาท กับผลงาน New Layout ซึ่งขายไปในปี  2021

 

To the Approach of Beauty its Body is Fungible (2020) ของ Justin Caguiat ราคาประมาณ 27 ล้านบาท

 

 

ผลงานของศิลปินชาวญี่ปุ่นที่เคยมีผลงานขึ้นประมูลเพียง 2 ครั้ง แต่ก็ทำราคาได้อย่างน่าประทับใจ โดย To the Approach of Beauty its Body is Fungible เป็นการผสมผสานศิลปะที่เป็นนามธรรมและสไตล์มืดมนเหมือนความฝัน ผลงานชิ้นนี้ทำราคาได้มากกว่าที่ประมาณการไว้ถึง 350% เลยทีเดียว

 

Ice Queen (2019) ของ Robin F. Williams ราคาประมาณ 14.7 ล้านบาท 

 

 

อีกหนึ่งผลงานของศิลปินหญิงที่มักจะวาดภาพผู้หญิงในสถานการณ์ต่างๆ โดย Ice Queen เป็นผลงานชิ้นแรกของศิลปินที่ทำลายสถิติเดิมของเธอคือภาพ Nude Waiting it Out (2017) ซึ่งขายได้ในราคา 327,600 ดอลลาร์ หรือราวๆ 11.2 ล้านบาท มากกว่าราคาประเมินถึง 87% แต่ Ice Queen ทำได้มากกว่าที่  243%

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X