วันนี้ (5 มกราคม) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาประเด็นบทบาทของกระทรวงยุติธรรมกับการส่งเสริมหลักนิติธรรมในประเทศไทย ในงานเวทีสาธารณะ ‘Rule of Law Forum: Investing in the Rule of Law for a Better Future’
ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง 3 องค์กร คือสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ The World Justice Project (WJP) และ THE STANDARD โดยมี นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD เป็นผู้ดำเนินรายการ
พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
สิ่งที่มุ่งเน้นคือคำว่าความยุติธรรม เนื่องจากมีความสำคัญ คำนี้จะทำให้สังคมหรือการรวมตัวเป็นสังคม หรือประเทศชาติเกิดขึ้นได้ หากสังคมใดขาดซึ่งความยุติธรรม การรวมตัวเป็นประเทศชาติก็อาจจะมีการแตกแยก
กระทรวงยุติธรรมมีวิธีคิดเพื่อทำให้สังคมมีสันติภาพและสันติสุข ประการที่ 1 จะต้องทำให้ประชาชนดี คือมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากปัจจัย 4 ที่ทำให้อยู่ได้แล้ว ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความยุติธรรม และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ทั้งนี้ คำว่าประชาชนดีอาจรวมถึงประชาชนต้องได้รับการศึกษาที่ดีด้วย การวัดคุณภาพของประเทศควรวัดที่ประชาชน วัดที่คน
ประการที่ 2 ที่มีความสำคัญคือเราจะต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ดี และมีกฎหมายที่ใช้ในการบริหารประเทศที่ดี คำว่ากฎหมายที่ดีต้องเป็นกฎหมายที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา ประชาชนต้องยอมรับในกฎหมายนั้น
พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่อว่า ความสำคัญอีกประการที่ตนเห็นว่าสำคัญคือเราจะต้องมีผู้นำที่ดี คือผู้นำที่ให้ความยุติธรรมกับประชาชน มีพลัง มีภาวะผู้นำ มีความซื่อสัตย์
ถ้า 3 สิ่งนี้เกิดขึ้น ตนคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็สามารถขึ้นมาแทนคนรุ่นเก่าได้ อย่างน้อยที่สุดในช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง 4 ปีข้างหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ที่ตนจะเดินหน้าทำคือทำให้บ้านเมืองมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง
หากย้อนกลับไปในการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่าภาพอนาคตประเทศอีก 4 ปีข้างหน้า นายกฯ และคณะรัฐบาลจะมุ่งเน้นว่าจะวางรากฐานและโครงสร้างของหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งให้กับประเทศ
พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่หลักคือบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ฉะนั้นความยุติธรรมต้องเข้าถึงประชาชนทุกคน
เราจะแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ซึ่งเป็นภัยอันตรายต่อสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ผู้ก่ออาชญากรรมหรืออาชญากรในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมาย แต่หมายรวมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ทั้งตัวกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมาย และผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่กระทรวงยุติธรรมต้องดูแล
สำหรับแนวทางในการยกระดับหลักนิติธรรมของกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า คือการขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องขับเคลื่อนร่วมกัน
แต่ทั้งนี้รัฐทำไม่ได้ฝ่ายเดียว ต้องมีหน่วยงาน สถาบัน และมีผู้คิดที่อยากทำร่วมด้วย ในประเทศที่หลักนิติธรรมสูง เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ประชาชนมองถึงเรื่องรัฐสวัสดิการคือสิทธิที่ต้องเสมอกัน เขามองเห็นว่าถ้าเป็นสิทธิทุกคนต้องเท่ากัน
ฉะนั้นตนเชื่อว่าถ้าเราทำบ้านเมืองให้มีหลักนิติธรรมตามที่รัฐบาลแถลงนโยบายได้นั้น สังคมไทยย่อมดีขึ้น สามารถเป็นรากฐานที่ดีสำหรับคนรุ่นต่อไป