ถึงวันนี้ร้านกาแฟเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เจอความท้าทายรอบด้านจากการแบกรับราคาวัตถุดิบทั้งเมล็ดกาแฟและกลุ่มแดรี่ปรับตัวสูงขึ้น ลากยาวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงปี 2024 Starbucks เชนร้านกาแฟรายใหญ่ในไทยภายใต้ร่มเงาของเจ้าสัวเจริญ ซึ่งปัจจุบันมีสาขากว่า 465 แห่ง เพิ่งประกาศปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มปั่นทุกเมนูเป็น 5-10 บาท เริ่มวันที่ 4 มกราคม 2567 เป็นวันแรก
ล่าสุด Starbucks Thailand ระบุถึงการปรับราคาหมวดเครื่องดื่มดังกล่าว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินการและการจัดการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Starbucks ได้พยายามคงราคาเดิมไว้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับลูกค้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไม่ใช่ร้านกาแฟ แต่เป็นธนาคาร! ความลับยิ่งใหญ่เท่าแก้วไซส์ Venti ที่ Starbucks ไม่เคยบอกใคร
- เตรียมเจอ ยุคโกโก้แพง! หลังราคาฟิวเจอร์พุ่งแตะระดับสูงสุดรอบ 46 ปี นักวิเคราะห์เตือน Rally ยังไม่จบ
เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2567 เป็นต้นไป Starbucks มีความจำเป็นต้องปรับราคาในหมวดเครื่องดื่มขึ้น 5 บาท โดยจะยังคงราคาเดิมสำหรับเมนูขนม เมล็ดกาแฟ เครื่องดื่มบรรจุขวด ตามด้วยดริงก์แวร์ น้ำเชื่อม วิปครีม และการเพิ่มส่วนผสมต่างๆ โดยทางแบรนด์ยังได้ขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น และจะยังคงเดินหน้ามอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Starbucks Thailand เคยปรับขึ้นราคา 5 บาทไปแล้ว เมื่อต้นปี 2563 โดยให้เหตุผลว่าปรับขึ้นราคาให้สอดรับกับต้นทุนสินค้า แน่นอนว่านี่เป็นการปรับราคาขึ้นอีกครั้งในรอบ 4 ปี
ถึงกระนั้นแหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจร้านกาแฟฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่าตอนนี้ต้นทุนกลุ่มสินค้าแดรี่ทั้งนมและน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมยังขาดตลาด ขณะที่วัตถุดิบกาแฟก็ขึ้น ถึงแม้ไม่มากเท่าปีที่แล้ว แต่โดยรวมประเมินแล้วว่าในปีนี้ทุกอย่างขึ้นหมด ผลพวงดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ร้านกาแฟรายใหญ่ตัดสินใจขึ้นราคา
สำหรับการขึ้นราคาอยู่ที่ 5 บาทของ Starbucks ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะจากเดิมเมนูเครื่องดื่มมีราคาสูงอยู่แล้ว แต่หากมีฐานลูกค้าประจำก็ไม่ได้กระทบอะไรมากนัก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือร้านกาแฟรายเล็กที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ และหากปรับขึ้นราคาก็อาจขายไม่ได้เช่นกัน
“ต้องยอมรับว่าปีนี้ยังเป็นอีกปีที่ร้านกาแฟยังเหนื่อย เพราะต้นทุนยังปรับขึ้นไม่หยุด”
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวอีกหนึ่งรายกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เชนร้านกาแฟบางแบรนด์ตรึงราคามาตั้งแต่ปี 2566 เพราะซื้อวัตถุดิบไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อเริ่มปี 2567 ประเมินแล้วว่าเมื่อต้นทุนวัตถุดิบทั้งเมล็ดกาแฟ นม น้ำตาล และครีมเทียม ปรับขึ้นต่อเนื่อง ก็ต้องพิจารณาปรับขึ้นราคาใหม่ โดยส่วนใหญ่แล้วเฉลี่ยทั้งระบบจะขึ้นอยู่ที่ 2-3%
เมื่อรายใหญ่ปรับขึ้นก็มีส่วนทำให้รายเล็กในตลาดขึ้นตามมา แต่ก็ต้องรักษาโครงสร้างราคาให้ไปตามกลไกตลาด ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาจะกระทบกับคนที่ดื่มทุกวัน ถ้าดื่มนานๆ ครั้งจะไม่รู้สึกกระทบกำลังซื้อมากนัก
ด้านแหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจร้านกาแฟรายใหญ่แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ธุรกิจร้านกาแฟแบกรับราคาต้นทุนวัตถุดิบนม เนย และเมล็ดกาแฟมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะราคากาแฟตลาดโลกที่สูงขึ้น จนวันนี้ก็ยังสูงอยู่ เพราะฉะนั้นการที่รายใหญ่ที่มีสาขาจำนวนมากจะขึ้นราคาจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ
ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กหลายๆ รายกังวล และไม่กล้าปรับขึ้นราคาตามแนวโน้มวัตถุดิบ เนื่องจากกลัวจะเสียฐานลูกค้าไป เพราะวันนี้ตลาดร้านกาแฟแข่งขันกันสูงมาก เห็นได้จากการจัดโปรโมชันลดแลกแจกแถม ดึงลูกค้ากันอย่างหนัก และหลายๆ แบรนด์ทั้งแมสและพรีเมียมแมสบางค่ายก็ตัดสินใจขึ้นราคาตั้งแต่ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูแบรนด์ร้านกาแฟที่ปรับขึ้นราคาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีหลายค่ายด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ Inthanin ขึ้นราคา 5-10 บาท ตามด้วย All Café ขึ้นราคา 5-10 บาท และ Café Amazon ขึ้นราคา 5 บาท