รัฐบาลเปิดเกมรุกกระตุ้นการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่น ดันไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยว เพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ปลัดคลังเผยช่วยจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิ 401 ล้านบาทต่อปี ดัน GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.0073% เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ และการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 2.9 พันล้านบาท
ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวและกระตุ้นเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก ได้แก่
- การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดภาษีสถานบันเทิง โดยเพิ่มพิกัดภาษีใหม่ สำหรับสุราแช่พื้นบ้าน เช่น อุ กระแช่ สาโท ที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี จากเดิมเก็บภาษีตามมูลค่า 10% ลดเหลือ 0% ขณะที่ภาษีปริมาณเก็บเท่าเดิม 150 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์
และสุราแช่ที่มีสุรากลั่นผสม เช่น โซจู ที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี ให้เก็บภาษีตามมูลค่าที่ 10% เท่าเดิม แต่ขึ้นภาษีปริมาณจากเดิม 150 บาทต่อลิตร เป็น 255 บาทต่อลิตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สำหรับไวน์และสปาร์กลิงไวน์ที่ทำจากองุ่น จากเดิมเก็บภาษีมูลค่าราคาเกิน 1,000 บาท เก็บ 10% และไวน์ที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท เก็บที่ 0% ปรับเป็นเหลือภาษีเท่ากันที่ 5% และปรับลดเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์จาก 1,500 บาทต่อลิตร เหลือ 1,000 บาทต่อลิตร
ขณะที่ภาษีฟรุตไวน์ หรือสุราแช่ผลไม้ จากเดิมเก็บภาษีมูลค่าราคาเกิน 1,000 บาท ที่ 10% และไวน์ราคาไม่เกิน 1,000 บาท ที่ 0% ลดเหลือ 0% ทั้งหมด ขณะที่การเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ยังเท่าเดิม 900 บาทต่อลิตร
- ปรับปรุงภาษีสถานบริการ เช่น ผับ บาร์ จากภาษีอัตรา 10% ของรายรับ ลดเหลือ 5% มีระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ
ทั้งนี้ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและศุลกากรครั้งนี้จะเร่งให้มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งเป็นมาตรการถาวรที่ใช้ไปอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นการลดภาษีสถานบันเทิงที่จะทำเพียงชั่วคราวถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists) เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิ 401 ล้านบาทต่อปี GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.0073% เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 2.9 พันล้านบาท