หน่วยงานสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geospatial Information Authority: GSI) ของญี่ปุ่น เผยแพร่ผลวิเคราะห์ข้อมูล GPS หลังจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ในจังหวัดอิชิคาวะ ที่เกิดขึ้นวานนี้ (1 มกราคม) พบว่าอาจส่งผลให้แผ่นดินในภูมิภาคโนโตะ ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว มีการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก 1.3 เมตร
โดยข้อมูลตัวเลขเบื้องต้นบ่งชี้ว่าจุดสังเกตการณ์ในเมืองวาจิมะของจังหวัดอิชิคาวะมีการขยับมากที่สุด โดยเคลื่อนที่ในแนวนอนไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.3 เมตร
และจากการวิเคราะห์ยังพบการเคลื่อนตัวของแผ่นดินในเมืองอานามิสึ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 เมตร และ 80 เซนติเมตรในเมืองซูซุ ขณะที่จุดสังเกตการณ์ในเมืองนานาโอะบนเกาะโนโตจิมะก็เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 60 เซนติเมตร โดยขยับไปทางชายฝั่งญี่ปุ่น
นอกจากนี้ยังพบการเคลื่อนตัวของแผ่นดินในจังหวัดโทยามะและนีงาตะ โดยเคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 20 เซนติเมตร โดยทาง GIS ชี้ว่าแผ่นดินในภูมิภาคคันโต-โคชินและอีกหลายจุดก็พบการเคลื่อนตัวหลายเซนติเมตรเช่นกัน
แผ่นดินไหวรุนแรงทุบสถิติ
สำหรับแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคโนโตะ นับตั้งแต่ปี 1885 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลแผ่นดินไหวในยุคใหม่
โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการติดตามและเฝ้าระวังแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยพัฒนาความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับรูปแบบของแผ่นดินไหวและการเตรียมพร้อมรับมือสำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในอนาคต
คาดเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายเดือน
สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ในจังหวัดอิชิคาวะ ก็พบอาฟเตอร์ช็อกที่มีขนาดมากกว่า 2.5 เกิดตามมาอีกมากกว่า 35 ครั้ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาในพื้นที่ใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
โดยในบรรดาอาฟเตอร์ช็อกเหล่านี้มี 1 ครั้งที่มีระดับแรงสั่นสะเทือนเกิน 6.0 และ 12 ครั้งเกิน 5.0 และ 22 ครั้งเกิน 4.0 ซึ่ง USGS เตือนว่าอาจมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อเนื่องอีกหลายเดือน
ภาพ: Mandatory credit Kyodo / via REUTERS
อ้างอิง: