หนึ่งในหุ้นร้อนแรงของวันทำการแรกปี 2567 ของตลาดหุ้นไทย คือ KEX หรือ บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ซึ่งราคาหุ้นพุ่งขึ้นกว่า 20% ไปแตะระดับ 6.40 บาท สูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือน
ราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นวันนี้ (2 มกราคม) สวนทางกับทิศทางของราคาเมื่อปี 2566 ค่อนข้างชัดเจน โดยราคาหุ้นเมื่อปีก่อนร่วงลงมากว่า 70% จากราคาเกือบ 20 บาท ลดลงไปต่ำสุดถึง 3.86 บาท ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่บริเวณ 5-6 บาทในปัจจุบัน
แรงหนุนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไรหุ้นเคอรี่ในวันนี้ คือเรื่องของการประกาศปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งนำไปสู่การเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด (Tender Offer) ที่ราคา 5.50 บาท
เดิมทีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของเคอรี่คือ บริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (KLNTH) ถือหุ้น 52.06% แต่หากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สำเร็จลุล่วง บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (SFTH) จะขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 26.8%
ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของเคอรี่ในครั้งนี้ SF International Holdings บริษัทด้านโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ของจีน และเป็นบริษัทแม่ของ SFTH มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทางอ้อมของเคอรี่อยู่ก่อนแล้ว หลังจากที่ SF International Holdings เข้าไปซื้อหุ้นของ Kerry Logistics Network (KLN) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเคอรี่ที่ฮ่องกงตั้งแต่ปี 2564
ล่าสุด KLN ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลพิเศษแบบมีเงื่อนไข โดยจะจ่ายด้วยหุ้น KEX ทั้งหมดที่ถืออยู่ให้กับผู้ถือหุ้นของ KLN ซึ่งรวมถึง SF International Holdings ที่ถือหุ้นอยู่ 51.5% และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ ที่ส่วนมากเป็นชาวฮ่องกง
การที่ SFTH จะเข้ามาถือหุ้น KEX เข้าข่ายเป็นการครอบงำกิจการ ทำให้ SFTH จำเป็นจะต้องทำ Tender Offer และราคาที่ประกาศออกมานั้นก็สูงกว่าราคาปิดของ KEX ก่อนหน้านี้ที่ 4.94 บาท จนทำให้หุ้น KEX พุ่งขึ้นมาอย่างร้อนแรงในวันนี้
อนาคตของเคอรี่จะเปลี่ยนไปหรือไม่
แม้ราคาหุ้นเคอรี่จะพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงในวันนี้ แต่ในมุมมองของ ศรัณย์ ชินวรรณโณ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ประเมินว่านี่คือจังหวะในการขายมากกว่าการเข้าไปไล่ซื้อ
โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของเคอรี่มีสัดส่วนการถือหุ้นน้อยลง พร้อมกับมีนักลงทุนรายย่อยเข้ามามากขึ้น และหากราคาหุ้นเคอรี่ลอยอยู่สูงกว่า 5.50 บาท นักลงทุนก็อาจใช้สิทธิขายหุ้นให้กับ SF Holdings น้อยลง
“ถ้ามองภาพหุ้นเคอรี่ตอนเช้าเหมือนจะเป็นบวก ช่วงที่ราคายังต่ำกว่าราคา Tender Offer แต่ตอนนี้ผ่านไปแล้ว”
ขณะที่ความเสี่ยงสำคัญต่อหุ้นเคอรี่คือ แรงเทขายที่อาจเกิดขึ้นโดยนักลงทุนรายย่อยในฮ่องกง ซึ่งได้รับหุ้นเคอรี่จากการจ่ายปันผลในครั้งนี้
“หลังจากการปรับโครงสร้างแล้วเสร็จ หุ้นอีก 25% ที่เข้าไปยังรายย่อยในฮ่องกงกลุ่มนี้อาจเลือกขายหุ้นเคอรี่และเปลี่ยนเป็นเงินสดแทน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อราคาหุ้นในช่วงหลังจากนี้”
ก่อนหน้านี้ SF International Holdings เริ่มเข้ามามีบทบาทกับการบริหารเคอรี่บ้างแล้ว ทั้งการส่งผู้บริหารชาวจีนเข้ามาร่วมดูธุรกิจในไทย รวมทั้งการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของ SF Holdings เข้ามาปรับใช้
เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จึงยังไม่น่าจะเห็นการเปลี่ยนในเรื่องของธุรกิจมากนัก
แนวโน้มผลประการเคอรี่ ปี 2567
ศรัณย์กล่าวต่อว่า แนวโน้มผลประกอบการของเคอรี่ในปีนี้น่าจะเห็นผลการขาดทุนค่อยๆ ลดลง และในไตรมาส 4 ของปีนี้ การขาดทุนน่าจะลดลงไปเหลือประมาณ 20 ล้านบาท
หากมองภาพทั้งปีนี้ คาดว่าเคอรี่จะมีผลขาดทุนสุทธิ 977 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ที่คาดว่าจะขาดทุนสุทธิ 3.4 พันล้านบาท โดยไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ผลขาดทุนน่าจะลดลงเล็กน้อยเป็นประมาณ 700 ล้านบาท
“ผลงานไตรมาส 4 ของเคอรี่ดีขึ้นเล็กน้อยจากปัจจัยฤดูกาล และแผนการปรับสัดส่วนลูกค้ามาเน้น C2C มากขึ้น รวมทั้งการลดต้นทุน เช่น ปิดศูนย์กระจายสินค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ และลดจำนวนรถขนส่ง”
ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่เคอรี่ควรจะทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ คือการนำหุ้นออกไปจากตลาด เนื่องจากการจดทะเบียนในตลาดทำให้บริษัทไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งความจำเป็นที่ต้องเปิดเผยข้อมูล
สิ่งที่น่าสังเกตจากประกาศล่าสุดของบริษัทคือ การที่ SFTH ยืนยันว่าไม่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ การประกอบธุรกิจหลัก ทรัพย์สินหลัก แผนการบริหารจัดการธุรกิจ แผนการลงทุน การบริหารจัดการ โครงสร้างทางการเงิน หรือนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ภายในระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการทำคำเสนอซื้อ
ขณะเดียวกัน SFTH ไม่มีความตั้งใจที่จะเพิกถอนหลักทรัพย์ของกิจการออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาดังกล่าว แต่ก็มีการวงเล็บไว้ว่า “เว้นแต่กฎหมาย และ/หรือ หลักเกณฑ์ กฎระเบียบจะกำหนดเป็นอย่างอื่น”
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้บริหารของเคอรี่ที่ผ่านมาในอดีต ยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะนำหุ้นเคอรี่ออกจากตลาดแต่อย่างใด
สิ่งที่ต้องติดตามสำหรับเคอรี่หลังจากนี้คือ การพลิกฟื้นกำไรจะทำได้เร็วเพียงใด หลังจากที่บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิติดต่อกันถึง 8 ไตรมาส โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เคอรี่มีผลขาดทุนมากถึงปีละ 2-3 พันล้านบาท