วานนี้ (29 ธันวาคม) ความคืบหน้ากรณีพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ปทุมวัน ส่งสำนวนให้อัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา
โดยกล่าวหาว่าเยาวชนชายอายุ 14 ปี ผู้ก่อเหตุยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร
แต่ต่อมามีรายงานของแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่ทำการตรวจรักษาผู้ต้องหายืนยันว่า เยาวชนรายดังกล่าวยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงต้องตีกลับสำนวนไปให้ทางพนักงานสอบสวน
ด้าน ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ขั้นตอนเมื่อคืนสำนวนไปแล้ว ทางพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวนไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 14 เนื่องจากกระบวนการใดๆ ที่พนักงานสอบสวนดำเนินการไปโดยไม่ยึดหลักกฎหมายดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นกระบวนการสอบสวนที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ซึ่งคดีนี้เมื่อได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน ศจีมาศ บัวรอด อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดี และคณะทำงานอัยการได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยังมีอาการป่วยอยู่ และเป็นคนไข้ของสถาบันกัลยาราชนครินทร์มาโดยตลอด โดยมีใบรับรองประเมินผลการตรวจรักษายืนยันว่าผู้ต้องหายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้
เมื่อข้อเท็จจริงทางการแพทย์ยืนยันเช่นนี้ การพิจารณาของพนักงานอัยการไม่มีประเด็นอื่นนอกจากคืนสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนรอกระบวนการบำบัดรักษาจากแพทย์ที่ประเมิน ตรวจผู้ต้องหาว่าอยู่ในภาวะปกติ และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ภายในอายุความ 20 ปี
เมื่อการสอบสวนชอบด้วยกฎหมาย และทำการสอบสวนเสร็จแล้วค่อยส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายอีกครั้ง จากการประสานกับแพทย์ทราบในเบื้องต้นว่า ช่วงเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ คณะกรรมการตรวจรักษาจะมีการประชุมเพื่อประเมินอาการของผู้ต้องหาอีกครั้ง แต่การควบคุมตัวตามกฎหมายจะครบกำหนดระยะผัดฟ้องครั้งสุดท้ายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้
ประยุทธกล่าวต่อว่า แพทย์และคณะกรรมการตรวจรักษาผู้ต้องหาจะเดินทางไปพบผู้ปกครองของผู้ต้องหา และจะแจ้งว่าเยาวชนยังมีอาการป่วยอยู่ ทางทีมที่บำบัดรักษาจะขอรับตัวไปบำบัดรักษาต่อ หากผู้ปกครองเข้าใจและอนุญาต แพทย์ก็จะรับตัวผู้ต้องหากลับไปเป็นคนไข้เพื่อรักษาต่อตามปกติ
หากผู้ปกครองไม่ยินยอม แต่ทางคณะกรรมการของแพทย์ประเมินแล้วว่าจำเป็นจะต้องดูแลผู้ต้องหาเพื่อป้องกันอันตรายสำหรับตัวผู้ต้องหาเอง และสังคมอาจจะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 22 บังคับ ที่จะเอาตัวผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อ ซึ่งระยะเวลาการควบคุมตัวของแพทย์ผู้รักษามีกรอบกฎหมายชัดเจนอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 จะมีการแจ้งผลการตรวจรักษาให้กับพนักงานสอบสวนทุก 180 วัน
ประยุทธกล่าวว่า ถ้ายังไม่หายก็สามารถขยายได้อีก 180 วันไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ต้องหาจะหายและสามารถต่อสู้คดีได้ เพราะทางกฎหมายไม่สามารถจะนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แต่ถ้าหายป่วยแล้วก็ไม่ต้องรอ 180 วัน ทีมแพทย์ที่รักษาสามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบเพื่อดำเนินการสอบสวนได้ทันที