สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ อุดช่องโหว่ใช้ ‘ปั่นหุ้น’ เตรียมออกเกณฑ์ยกระดับคุมเข้มหุ้นร้อนแรง มีสภาพการซื้อ-ขายผิดปกติ จับขังแขวน Auto Halt (H) คาดเริ่มใช้ปีหน้า พร้อมศึกษาใช้ยาแรง งัดกลไก Auction แทนการ Matching เพื่อยับยั้งป้องกันความเสียหายต่อประชาชนจากการสร้างราคาหุ้น
เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดทุนไทยในปี 2566 ถือว่ามีความท้าทายที่สูงมาก เริ่มจากปัญหาที่เกิดขึ้นของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE) ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่มีการฉ้อโกงโบรกเกอร์ และมีข้อสงสัยว่าจะมีการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม และปัญหาการทุจริตของอดีตผู้บริหารบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ช่วงกลางปี ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้เร่งรัดการทำงานทั้งกรณีของ MORE ซึ่งถือเป็นเคสเร่งด่วนในการทำงาน
รวมทั้ง ก.ล.ต. มีการทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดฐานสร้างราคาหลักทรัพย์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ จำนวน 18 ราย โดยปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษแล้ว และ ก.ล.ต. ส่งข้อมูลไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณา และมีการประสานการทำงานร่วมกันด้วย
อีกทั้งยังได้ตรวจสอบขยายผล และพบว่ามีการกระทำผิดสร้างราคาหุ้น MORE มาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2565 โดยวันที่ 27 มิถุนายน 2566 มีการกล่าวโทษผู้ทำผิดเพิ่มอีก 32 ราย
โดยตลอดปี 2566 ก.ล.ต. จึงได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตรวจสอบสาเหตุช่องโหว่ของการเกิดกรณีหุ้น MORE พบว่า ในช่วงเวลาจับคู่ซื้อ-ขายครั้งเดียว ช่วงก่อนเปิดตลาด (Pre-Open) และช่วงก่อนปิดทำการ (Pre-Close) โดยช่วงหลังมักพบปริมาณซื้อ-ขายที่สูงขึ้นมากผิดปกติเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีต ดังนั้น ทั้ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมจะออกเกณฑ์ใหม่ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมีความเห็นตรงกัน โดยจะสั่งห้ามซื้อ-ขายหุ้นรายตัวแบบอัตโนมัติชั่วคราว หรือ Auto Halt (H) ในหุ้นที่พบว่าเข้าเงื่อนไขมีสภาพการซื้อ-ขายทั้งปริมาณและราคาที่ผิดปกติ เพื่อป้องกันการสร้างราคาหุ้น โดยระยะเวลาในการขึ้น H ขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นผู้พิจารณา
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการยับยั้งการซื้อ-ขาย เพื่อเข้าไปดูแลหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นตัวดังกล่าว และเพื่อให้นักลงทุนได้มีเวลาพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจลงทุน โดยคาดว่าจะเริ่มใช้เกณฑ์ Auto Halt ดังกล่าวได้ภายในปี 2567 ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวเป็นของตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับการใช้เกณฑ์ Auto Halt ดังกล่าว จะนำมาใช้กำกับการซื้อ-ขายทุกช่วงเวลาตลอดวันทำการ เพื่อเป็นการยกระดับการกำกับการซื้อ-ขายให้เข้มงวดขึ้นจากเกณฑ์ปัจจุบัน และจะมีการห้ามซื้อ-ขายชั่วคราว (SP) 1 วัน เป็นมาตรการกำกับที่รุนแรงระดับสูงสุด จากมาตรการกำกับการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันที่มี 3 ระดับ
นอกจากนี้ หากมาตรการทั้งหมดดังกล่าวยังใช้ไม่ได้ผลกับหุ้นที่มีสภาพการซื้อ-ขายผิดปกติ สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำกลไก Auction มาใช้เพิ่มเติมในอนาคตกับหุ้นที่มีความร้อนแรงมากๆ คล้ายการส่งออร์เดอร์ช่วง Pre-Open โดยกำหนดช่วงเวลาให้คำสั่งซื้อ-ขาย ซึ่งจะจับคู่ซื้อ-ขายครั้งเดียว แทนการ Matching เพื่อยับยั้งป้องกันความเสียหายต่อประชาชนจากการสร้างราคาหุ้น
“การใช้เครื่องมือ Auction มาใช้กำกับการซื้อ-ขาย ประโยชน์ที่ได้คือนักลงทุนรู้ว่าหุ้นตัวนั้นมีความร้อนแรง เจตนาของทางการคือจะทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น เพราะหากมาตรการที่มีอยู่เดิมยังเอาไม่อยู่ก็จะไปสู่การใช้มาตรการที่รุนแรงที่สุด ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการ Explore ถือเป็นกลไกที่จะมาช่วยป้องกันคนที่จะเข้าปั่นหุ้น ต้องระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เห็นด้วยในการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในอนาคต”
สถิติการบังคับใช้กฎหมายปี 2566 ข้อมูล ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2566 ดำเนินการกล่าวโทษผู้กระทำผิดรวม 8 กรณี ความผิดจากการกระทำที่ไม่เป็นธรรม 5 กรณี และทุจริต 3 กรณี ดังนี้
ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง 11 กรณี โดยยินยอมปฏิบัติตาม 8 กรณี และส่งฟ้องคดี 3 กรณี ดังนี้