ปี 2023 กลายเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับสภาวะโลกร้อน ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกที่มากขึ้นกว่าปี 2022 ถึง 30% หรือกว่า 12,000 คน
ยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงในปีนี้ หลักๆ มาจากเมืองเดอร์นาของลิเบียที่ต้องพบกับหายนะจากเขื่อนแตกจากอิทธิพลของพายุแดเนียลที่ปรากฏขึ้นแบบไม่คาดคิดในเดือนกันยายน พายุลูกนี้เป็นเฮอริเคนนอกสารบบที่ก่อตัวขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นชนิดพายุที่ไม่ได้พบเห็นได้ทั่วไป จนต้องตั้งชื่อชนิดพายุให้ใหม่ว่า ‘เมดิเคน’ (Medicane)
สภาพอากาศโลกที่ก้าวเข้าสู่สภาวะเอลนีโญยังผลักดันให้ปี 2023 กลายเป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกพุ่งสูงจนทำลายสถิติในเดือนพฤศจิกายน และด้วยความร้อนของน้ำทะเลนี้เองที่มีงานวิจัยพบว่า ระดับความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มสูงขึ้น 28.7% เมื่อเทียบกับพายุในยุคก่อนโลกร้อน (ปี 1971-1990) พายุหมุนทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางเร็วขึ้น 20 นอต และอาจถึง 50 นอตในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง เทียบกับที่ต้องใช้เวลาถึง 36 ชั่วโมงในยุคก่อน
สิ่งที่เกิดในปี 2023 คือพายุโซนร้อน ‘โอทิส’ ในเดือนตุลาคม ที่ทำลายสถิติพายุหมุนทั่วไป โดยการทวีกำลังจนกลายเป็นซูเปอร์เฮอริเคนความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุกว่า 145 นอตในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง เข้าถล่มรัฐอากาปุลโกของเม็กซิโกจนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
โอทิสยังถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนระดับ 5 ตามมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สันจากฝั่งแปซิฟิกลูกแรกในประวัติศาสตร์ที่ขึ้นฝั่งทวีปอเมริกาเหนือด้วย
นอกจากพายุหมุนเขตร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว พายุหมุนยังมีอายุยืนยาวผิดปกติ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ได้ปรากฏการก่อตัวของไซโคลน ‘เฟรดดี’ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา ที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือนานถึง 36 วัน ลากยาวมาถึงกลางเดือนมีนาคมเลยทีเดียว และแน่นอนว่าก่อความเสียหายมากมายกับกลุ่มประเทศบริเวณที่เส้นทางพายุลูกนี้เคลื่อนผ่าน ตั้งแต่มาดากัสการ์ โมซัมบิก ซิมบับเว และมาลาวี จนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,500 คน
ความผันผวนของสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปยังก่อให้เกิดภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ที่รุนแรงขึ้นชนิดที่แทบไม่เคยพบเห็นมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น ไฟป่าฮาวายในเดือนสิงหาคม ที่ถือเป็นไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุด ทำลายสถิติในรอบกว่า 100 ปีของสหรัฐอเมริกา ชนิดที่เมืองลาไฮนาบนเกาะเมาวีถูกเผาวอดเกือบทั้งเมือง
ประเทศโซมาเลียและเคนยาต้องพบกับการพลิกกลับด้านของสภาพอากาศ จากความแห้งแล้งยาวนานติดต่อกันหลายปีที่เป็นภาวะปกติของประเทศแถบทะเลทราย กลับกลายเป็นการถูกฝนถล่มอย่างไม่ลืมหูลืมตาในเดือนพฤศจิกายน จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
การทำลายสถิติยังเกิดขึ้นไม่หยุด กรุงปักกิ่งของจีนต้องพบกับคลื่นความเย็นปกคลุมจนอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา ยาวนานกว่า 300 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 11-24 ธันวาคม ถือเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในรอบ 72 ปี
ประเทศไทยเราก็ไม่รอดจากภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพอากาศ ด้วยการถูกหย่อมความกดอากาศต่ำหลังการสลายตัว (Remnants) ของดีเปรสชันเจอลาวัตผสมกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าปกคลุมในวันคริสต์มาสจนเกิดฝนหนักสุดขีดในรอบ 68 ปี นั่นคือ 651 มม. จนเกิดน้ำท่วมหนักอย่างไม่เคยพบมาก่อน
ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของผลที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่เวลานี้ได้แสดงความชัดเจนให้เราเห็นแล้ว แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบทเริ่มต้นเท่านั้น ตราบใดที่เรายังลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลงต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสไม่ได้ อนาคตของโลกใบนี้ก็ยังคงต้องพบกับสิ่งที่เลวร้ายอย่างไม่คาดคิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาพ: Dr.Rick Knabb, Getty Images
อ้างอิง: