เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Goldman Sachs เป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารของสหรัฐฯ ที่ตั้งความหวังอย่างสดใสกับการฟื้นตัวของจีน โดยคาดว่าตลาดจะปรับตัวขึ้นถึง 15% และเป็นแรงผลักดันให้ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกปรับตัวขึ้นอีกครั้ง หุ้นจีนปรับตัว 15% จริง แต่เป็นการปรับตัวลง ขณะที่ตลาดเกิดใหม่บางแห่งกลับทำผลงานได้ดี
Kamakshya Trivedi นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs เปิดเผยว่า บทเรียนแรกที่ได้รับคือควรแยกการวิเคราะห์ระหว่างตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) และจีนให้ต่างกัน สินทรัพย์ของจีนค่อนข้างไม่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ EM อื่นๆ มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นจากผลตอบแทนในตราสารทุนและตราสารหนี้
นอกจากนี้ Trivedi ยังระบุถึงบทเรียนที่สองที่ได้รับคือความยืดหยุ่นของตลาดเกิดใหม่นั้นมีความกว้างขึ้น แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เงินดอลลาร์ที่แข็งค่า และการชะลอตัวของจีน นี่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมากสำหรับสินทรัพย์ EM แต่ถึงกระนั้น สินทรัพย์ EM ก็ยังสามารถหาช่องเติบโตได้ต่อไป
เพราะในความเป็นจริง หากตัดประเทศจีนออกไป หุ้นในตลาดเกิดใหม่โดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 16% ในปีนี้ เทียบกับเพิ่มขึ้นเพียง 4.4% เมื่อรวมประเทศจีนเข้าไปในดัชนี MSCI Emerging Markets ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักหุ้นจีน 30%
Trivedi กล่าวว่า ในมุมมองของตลาดเกิดใหม่ สิ่งที่น่าผิดหวังมากที่สุดคือการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศจีน แม้ว่ามูลค่าสินทรัพย์จะอยู่ในระดับที่ถูกมากก็ตาม และนั่นเป็นอุปสรรคต่อสินทรัพย์ EM ตลอดทั้งปีนี้
สำหรับเหตุผลหลักที่ทำให้ตลาดเกิดใหม่ในหลายประเทศมีความยืดหยุ่นต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed ได้ คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เนิ่นๆ ของธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ และดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
Trivedi ทิ้งท้ายว่า ความจริงที่ประเทศเกิดใหม่หลายแห่งเดินเกมนำหน้าประเทศพัฒนาล้วนมีส่วนช่วยอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจดูดีกว่าที่คาด และเชื่อว่าจะได้เห็นสินทรัพย์ของตลาดเกิดใหม่มีผลตอบแทนเป็นบวกในปีหน้าอย่างแน่นอน
อ้างอิง: