กรุงเทพมหานคร เมืองสวรรค์ ติดอันดับ 4 เมืองท่องเที่ยวที่ถูกค้นหามากที่สุดในโลกปี 2566 และอันดับ 1 ของเอเชีย เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
กรุงเทพมหานครถูกสถาปนาเป็นเมืองหลวงเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 มีผู้ว่าราชการมาแล้วทั้งสิ้น 16 คน
แม้ยุคสมัยและกาลเวลาจะผ่านไปถึง 240 ปี แต่เมืองใหญ่เมืองนี้ยังมีปัญหาคุณภาพชีวิตให้รอแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องสาธารณูปโภคที่เป็นปัญหาเรื้อรัง จนทำให้สโลแกน ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ กลายเป็น ‘ชีวิตที่ต้องเสี่ยงทายและคอยลุ้นว่าวันนี้จะผ่านไปได้ยังไงให้ลงตัว’
THE STANDARD สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ก่อนก้าวข้ามปี 2023 อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาของ ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ ในอนาคต
กรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วน การเดินทางในระยะทาง 10 กิโลเมตร อาจใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง
ปี 2016 กรุงเทพฯ เคยถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีรถติดมากที่สุดลำดับที่ 12 ของโลก ประชาชนเสียเวลาอยู่บนท้องถนนเฉลี่ย 64.1 ชั่วโมงต่อปี ผ่านมา 7 ปี ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยสภาพการจราจรที่ไม่เอื้ออำนวยให้ชีวิตลงตัวเลย การเดินทาง 10 กิโลเมตรในกรุงเทพฯ อาจต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงสำหรับการเดินทาง ไม่ต่างจากการใช้เวลาเดินทางข้ามจังหวัด
ผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย บริเวณแยกห้วยขวาง
ปัญหาความปลอดภัยและวินัยจราจรในปี 2561 กองบังคับการตำรวจจราจรยกให้กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบสวมหมวกกันน็อก 100% ปัจจุบันการขับรถผิดกฎจราจรและการขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อกยังคงมีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ
แม้ว่ากฎหมายจราจรใหม่ปี 2565 จะมีอัตราโทษมากขึ้น ในข้อหาผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย จากเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท อัตราโทษใหม่ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ 1 คะแนน
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ยอดผู้เสียชีวิตสะสมในปี 2566 (1 มกราคม – 11 เมษายน 2566) มีจำนวนสูงถึง 4,478 คน ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนร้อยละ 79 เป็นผู้ขับขี่หรือผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ตามสถิติ ทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 1 คนจากการขับขี่จักรยานยนต์ ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งยังไม่สามารถสร้างวินัยจราจรหรือความตระหนักถึงความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์บางส่วนได้
สายสื่อสารที่ยุ่งเหยิงย่านอโศก
ปัญหาสายสื่อสารสุดยุ่งเหยิง ใครจะคิดว่าย่านธุรกิจแหล่งทำเงินที่มีตึกสูงระฟ้าจะมีวิวเป็นสายสื่อสารอีนุงตุงนังไปมาจนแทบจะบังแดดได้ แถมยังบังป้ายหน้าร้านค้าเกือบมิดเหมือนต้องการจะสื่อว่าอยู่มานานแล้ว อยู่มานานกว่า แม้จะมีนโยบายนำสายสื่อสารลงดินมาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งเริ่มทำจริงจังเมื่อปี 2560 ปัจจุบัน ผ่านมา 6 ปี ดูเหมือนความพยายามจะให้คนเมืองได้เห็นวิวท้องฟ้าไร้สายสื่อสารคงจะยังอีกยาวไกล ไกลเหมือนสายสื่อสารที่หาจุดเริ่มต้นเอาลงดินไม่เจอ
ป้ายรถเมล์ ทางขึ้นลงรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน พื้นที่กลุ่มผู้ขายของ หาบเร่ หรือรถเข็นต้องการพื้นที่ในการประกอบอาชีพ
กรุงเทพมหานคร ปัญหาฟุตปาธ ทางเท้าที่ไม่ได้มีเฉพาะทางเดิน ร้านค้าหาบเร่แผงลอยบนพื้นที่ของคนเดินเท้า การจัดสรรพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการตั้งร้านในจุดที่ผู้คนสัญจรไปมา ปัญหาที่ยังหาวิธีแก้ไขแบบชัดเจนไม่ได้ จนสร้างภาพจำเสมือนเนื้อคู่ หากนึกถึงเจ้าหน้าที่เทศกิจก็ต้องนึกถึงพ่อค้าแม่ค้าบนบาทวิถี
ป้ายห้ามทิ้งขยะของสำนักงานเขตจตุจักรถูกล้อมด้วยกองขยะจำนวนมาก
อีกหนึ่งปัญหาที่เชื่อมโยงกันกับปัญหาทางเท้า เรื่องขยะ ภาพที่ใครๆ ก็สามารถพบเห็นได้หากใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ยิ่งเป็นแหล่งที่มีผู้อาศัยจำนวนมากอาจตกเป็นผู้ที่ต้องประสบปัญหาด้วยตัวเอง ถึงแม้มีป้ายห้ามทิ้งขยะ และไม่ใช่จุดทิ้งขยะ ขยะกองพะเนินสูงข้างทาง ริมฟุตปาธ หรือเสาไฟฟ้า ถูกกองรวมกันไว้เหมือนอนุสาวรีย์ ด้วยปัจจัยทางสังคม เมื่อจำนวนผู้อยู่อาศัยมากขึ้น ขยะก็มากขึ้น แต่บุคลากรและพื้นที่ในการจัดการเรื่องขยะมีเท่าเดิม
PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่สร้างปัญหาใหญ่ให้หลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ด้วยความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้น การจราจรคับคั่ง ฝุ่นผงจากการก่อสร้าง เขม่าควันจากการเผาพื้นที่ทางการเกษตรและไฟป่า อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพฯ ประสบปัญหาลมพัดผ่านได้ยาก อากาศหยุดนิ่ง เพราะมีตึกสูงปิดกั้นทางลม รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ มาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลง เป็นภัยต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ และสมอง ซึ่งยังไม่มีมาตรการในการควบคุมและแก้ไขได้ชัดเจน และเป็นปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกัน
คนไร้บ้าน มีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกปี ปัญหาที่รอคอยการแก้ไข
ปิดท้ายด้วยปัญหาของคนไร้บ้าน จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและโรคระบาดโควิดที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาคนว่างงาน หรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หลังเกษียณ การขาดโอกาสในการสร้างรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นของคนไร้บ้าน ปัญหาที่ดูเหมือนจะมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นอีกปัญหาที่รอคอยการแก้ไข
คนไร้บ้าน ร้านอาหารบนทางเท้า และผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย