วันนี้จะเป็นวันที่ศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice) จะเปิดคำพิพากษาในคดีความเลขที่ C-333/21
คดีนี้เป็นคดีที่ทางด้านบริษัทยูโรเปียนซูเปอร์ลีก (ESCL) ยื่นฟ้องร้องต่อองค์กรฟุตบอลอย่าง UEFA (ยูฟ่า) และ FIFA (ฟีฟ่า) ซึ่งถูกจับตามองว่าจะเป็นคดีที่กำหนดอนาคตของเกมฟุตบอลในระดับเดียวกับคดีของ ฌอง-มาร์ค บอสแมน นักฟุตบอลชาวเบลเยียมผู้ปลดปล่อยนักฟุตบอลทั้งโลกเมื่อปี 1995
ระหว่างการปิดฉากซูเปอร์ลีก รายการแข่งขันฟุตบอลที่เคยเขย่าวงการลูกหนังโลกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2021 กับการปิดฉาก ‘การผูกขาด’ (Monopoly) ขององค์กรทางเกมลูกหนังอย่าง UEFA และ FIFA ที่จะขัดต่อกฎหมายของสหภาพยุโรป
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้และบทสรุปจากคำพิพากษาจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง?
⚽📢 คดีประวัติศาสตร์โลกลูกหนัง
คดีหมายเลข C333/21 เป็นคดีความที่ทางด้าน ESCL ร่วมกับบริษัทเอเจนซีกีฬา ‘A22’ ยื่นฟ้องร้องต่อศาลในเมืองมาดริดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2021 หรือ 1 เดือนหลังจากที่เกิดเรื่องราว ‘ซูเปอร์ลีก’ รายการฟุตบอลที่เขย่าโลกลูกหนังทั้งใบในชั่วเวลาข้ามคืน
ในครั้งนั้นหลังการประกาศก่อตั้งซูเปอร์ลีก ซึ่งนำโดย 12 สโมสรผู้ร่วมก่อตั้งจากอังกฤษ สเปน และอิตาลี เมื่อเดือนเมษายน ปี 2021 ทำให้โลกฟุตบอลลุกฮือต่อต้านแนวคิดนี้อย่างรุนแรง กระแสจากแฟนฟุตบอลที่แสดงพลังไม่เห็นด้วยกับการแข่งขันรายการนี้ ได้ทำให้สโมสรหลายแห่งต้องถอนตัวจากการเข้าร่วมอย่างรวดเร็ว
สุดท้ายเมื่อสโมสรต่างๆ ทยอยกันถอนตัวภายในระยะเวลาวันเดียว ซูเปอร์ลีกจึงเหมือนตายตั้งแต่ยังไม่เกิด ประชาคมฟุตบอลทั่วโลกต่างได้ฉลองชัยชนะไปด้วยกัน
อย่างไรก็ดี แกนนำหลักจากสเปนอย่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา รวมถึงยูเวนตุสจากอิตาลี (ที่ถอนตัวในเวลาต่อมาด้วยความจำใจ) ไม่ได้ยอมแพ้ต่อเรื่องนี้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องของการขาดศักยภาพในการแข่งขัน ที่นับวันสโมสรจากอังกฤษจะทิ้งห่างลีกฟุตบอลอื่นไปไกลขึ้นเรื่อยๆ จากเรื่องรายได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด
นั่นนำไปสู่การยื่นฟ้องต่อ UEFA และ FIFA ในข้อหาผูกขาดในเกมฟุตบอล ซึ่งขัดต่อกฎหมายสหภาพยุโรป
เป้าหมายคือการสลายการผูกขาดขององค์กรลูกหนัง และสร้างซูเปอร์ลีกเพื่อมาแทนที่ของยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รายการที่เป็นดั่งเพชรยอดมงกุฎของ UEFA
⚽📢 การต่อสู้ที่ยืดเยื้อ
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคมปีกลาย อัยการสูงสุด อธานาซิออส แรนตอส ได้มีการสรุปสำนวนให้แก่ศาลยุติธรรมยุโรปว่า กฎของ UEFA นั้น ‘เป็นไปตามกฎหมายการแข่งขันของสหภาพยุโรป’ ซึ่งทำให้ทางด้าน UEFA ได้ประกาศชัยชนะไปแล้วครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี การตัดสินที่แท้จริงในเรื่องนี้อยู่ที่การอ่านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมยุโรปที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ โดยคณะผู้พิพากษา 15 ท่านจะขึ้นบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิพากษาในคดีที่ใช้เวลาในการพิจารณายาวนานถึง 943 วัน
ด้าน UEFA ยังมั่นใจว่าจะเป็นฝ่ายชนะในคดีนี้ เพียงแต่ยังไม่สามารถมั่นใจได้อย่างเต็มร้อย เพราะในวันเดียวกันนี้ศาลยุติธรรมยุโรปยังมีคดีความกีฬาอีก 2 คดีที่จะมีการอ่านคำพิพากษาในวันเดียวกันและมีความเชื่อมโยงกันในบางประเด็น
คดีแรกคือเรื่องของสหภาพสเกตนานาชาติ (Internaitonal Skating Union) ที่ขู่จะลงโทษแบน มาร์ค ตุยเทิร์ต และ นีลส์ เคอร์สโธลต์ 2 นักสเกตชาวดัตช์ที่พยายามจะลงแข่งขันในรายการที่จัดโดยองค์กรคู่แข่ง
ส่วนอีกคดี สโมสรฟุตบอลรอยัล อันท์เวิร์ป ในเบลเยียม เชื่อว่ากฎเรื่องผู้เล่นท้องถิ่น (Homegrown Players) ที่สโมสรจะต้องมีการลงทะเบียนในทีมนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมายของ EU ในเรื่อง Freedom of Movement
สิ่งที่มีการจับตามองกันคือการอ่านคำพิพากษาของทั้ง 2 คดีนี้จะเกิดขึ้นก่อนคดีของ ESCL / A22 กับ UEFA / FIFA ซึ่งทั้ง 3 คดีจะต้องเป็นไปตามบรรทัดฐานเดียวกัน
ดังนั้นแม้ UEFA จะมั่นใจว่าจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ทางฟากของ ESCL / A22 ก็ยังมั่นใจเช่นกัน
เพราะสุดท้ายเรื่องราวจะถูกตัดสินโดยศาลอีกที
⚽📢 ฟุตบอลคือธุรกิจหรือวัฒนธรรม
สิ่งที่น่าสนใจคือการตีความนิยามของเกมฟุตบอล
ในมุมของ ESCL ฟุตบอลคือธุรกิจความบันเทิง (Entertainment Industry) ในขณะที่องค์กรอย่าง UEFA มองว่าฟุตบอลคือเรื่องของวัฒนธรรม (Cultural) ที่ต้องการได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ
ฟังแบบนี้อาจให้ความเห็นใจกับ UEFA มากกว่า แต่ปัญหาคือเรื่องสถานะของฟุตบอลในการเป็นวัฒนธรรมนั้นไม่เคยมีการตีตราเป็นกฎหมายอย่างชัดเจน
นั่นทำให้ครั้งหนึ่งเคยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับนักฟุตบอลในการตัดสินให้ ฌอง-มาร์ค บอสแมน นักเตะชาวเบลเยียมที่ถูกสโมสรขัดขวางการย้ายทีมเพราะติดขัดสัญญากับสโมสร แม้ว่าสัญญานั้นจะหมดอายุลงแล้วก็ตาม
ดังนั้นในประเด็นเรื่องของการแข่งขันฟุตบอลเองก็น่าสนใจว่าศาลยุติธรรมยุโรปจะมองประเด็นนี้อย่างไร จะมองว่าฟุตบอลคือวัฒนธรรมอย่างที่ UEFA บอก หรือจะมองว่านี่คือเรื่องของอุตสาหกรรมบันเทิงที่เป็นธุรกิจและจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเรื่องของการที่พรีเมียร์ลีกทรงพลังกว่าลีกคู่แข่งอื่นอย่างชัดเจนในเรื่องของรายได้ ทำให้การแข่งขันลดน้อยลง ในมุมมองของ ESCL การก่อตั้งรายการฟุตบอลใหม่อย่างยูโรเปียนซูเปอร์ลีกก็มีเพื่อดึงความสมดุลของเกมฟุตบอลให้กลับมาอีกครั้ง และคานอำนาจกับ UEFA ที่มีอำนาจมากเกินไปในฐานะผู้คุมกฎของเกมฟุตบอลยุโรปแต่เพียงผู้เดียว
ดังนั้นคำพิพากษาในวันนี้ไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใดก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะเป็นการกำหนดกรอบของเกมฟุตบอลของโลกยุคใหม่
UEFA จะได้รับการประทับตราให้เดินหน้ากับการแข่งขันแชมเปียนส์ลีกในรูปแบบใหม่
หรือซูเปอร์ลีกจะได้รับไฟเขียวให้กลับมาเป็นคำรบที่ 2 อย่างแข็งแรงและเปิดกว้างมากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งพวกเขามีการเตรียมแผนการเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และอาจเดินหน้าต่อแม้ว่าศาลจะตัดสินให้เป็นผู้แพ้ในวันนี้ก็ตาม
ไม่ว่าจะอย่างไร นี่คือวันแห่งประวัติศาสตร์ของเกมฟุตบอล
อ้างอิง:
- https://theathletic.com/5148591/2023/12/20/european-super-league-verdict/
- https://www.theguardian.com/football/2023/dec/20/uefa-braced-for-long-awaited-verdict-in-european-super-league-legal-battle
- https://www.dw.com/en/uefa-super-league-row-europes-top-court-to-rule/a-67768633
- https://www.independent.co.uk/sport/football/european-court-of-justice-football-super-league-b2467220.html