×

กลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงตอบโต้อิสราเอล น่ากังวลแค่ไหน

21.12.2023
  • LOADING...
กลุ่มฮูตีในเยเมน

กลุ่มกองกำลังติดอาวุธฮูตี (Houthi) ในเยเมน ประกาศใช้โดรนและมิสไซล์โจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านอ่าวเอเดนและทะเลแดง เพื่อตอบโต้กองทัพอิสราเอลที่กำลังทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา จนเป็นเหตุให้มีพลเรือนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า การโจมตีของกลุ่มฮูตีครั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากอิหร่านอีกด้วย

 

  • กลุ่มฮูตีคือใคร 

 

ฮูตีเป็นกลุ่มมุสลิมชีอะห์ที่มีอิทธิพลอยู่ทางภาคเหนือของเยเมน หรือรู้จักกันในชื่อ ‘อันซารัลเลาะห์’ ซึ่งแปลว่า ‘พรรคของพระเจ้า’ หรือ ‘กลุ่มผู้สนับสนุนพระเจ้า’ มีบทบาทในช่วงปฏิวัติอาหรับสปริงเมื่อราว 10 กว่าปีก่อน ที่มีความพยายามจะโค่นล้มบรรดาผู้นำเผด็จการของหลายชาติอาหรับจากกระแสลุกฮือของคนภายในประเทศนั้นๆ เยเมนก็เช่นเดียวกัน มีความพยายามที่จะแย่งชิงอำนาจนำ และฮูตีก็เป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งในสงครามกลางเมืองเยเมนที่ดำเนินมานานกว่าทศวรรษนับตั้งแต่นั้น 

 

กลุ่มฮูตีถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ในขณะที่กลุ่มอำนาจเก่าที่คุมพื้นที่บริเวณเมืองหลวงและทางตอนใต้ของเยเมนจะได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย สงครามภายในเยเมนยืดเยื้อและรุนแรงจนทำให้สหประชาชาติกังวลว่า เยเมนจะกลายเป็นประเทศที่ประสบวิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่ 

 

โดยกลุ่มฮูตีแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมและสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา จึงเรียกร้องให้กองทัพอิสราเอลยุติการทำสงครามในฉนวนกาซาโดยทันที

 

  • เกิดอะไรขึ้นที่ทะเลแดง

 

กลุ่มฮูตีใช้โดรนโจมตีเรือบรรทุกสินค้า MSC CLARA สัญชาติปานามา และเรือ Swan Atlantic สัญชาตินอร์เวย์ ขณะกำลังแล่นอยู่ในทะเลแดง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยฮูตีอ้างว่า เหตุโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เรือบรรทุกสินค้าทั้งสองลำไม่ตอบกลับการติดต่อของกลุ่มฮูตี เบื้องต้นเรือสินค้าทั้งสองลำไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงจนถึงขั้นแล่นเรือต่อไปไม่ได้ 

 

โดยฮูตีชี้ว่า การโจมตีเรือสินค้าครั้งนี้เป็นไปเพื่อประท้วงปฏิบัติการทางทหารของกองทัพอิสราเอลในฉนวนกาซา ทั้งยังประกาศว่าจะเดินหน้าโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านเส้นทางนี้ โดยเฉพาะเรือที่จอดแวะที่เมืองท่าสำคัญของอิสราเอล จนกว่ากองทัพอิสราเอลจะยุติสงครามและการใช้กำลังความรุนแรงในฉนวนกาซา พร้อมแนะให้เรือต่างๆ เลี่ยงการแล่นเรือผ่านทะเลแดง

 

  • ท่าทีของชาติมหาอำนาจ

 

ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา ประกาศจัดตั้งกองกำลังผสม ภายใต้ชื่อปฏิบัติการ ‘Operation Prosperity Guardian’ ซึ่งเป็นปฏิบัติการร่วมของ 10 ประเทศพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นบริเวณทะเลแดงและอ่าวเอเดน หลังเกิดเหตุกลุ่มฮูตีโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านเส้นทางดังกล่าว 

 

นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีสหราชอาณาจักร, แคนาดา, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สเปน, บาห์เรน และเซเชลส์ เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ รวมถึงยังมีอีกหลายประเทศที่มีแนวโน้มจะเข้าร่วมด้วย แต่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อต่อสาธารณะ 

 

  • การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงส่งผลกระทบอย่างไร

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า เสถียรภาพบริเวณทะเลแดงขณะนี้กำลังถูกสั่นคลอน โดยกลุ่มฮูตียืนยันว่า จะโจมตีเรือเป้าหมายที่เป็นเรือบรรทุกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอิสราเอล ไม่ใช่เรือทุกลำที่จะโดนโจมตี เพื่อกดดันให้อิสราเอลหยุดยิงในฉนวนกาซา”

 

ดร.มาโนชญ์ ยังอ้างถึง The Times of Israel และ Reuters ที่เคยรายงานข่าวเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า อิสราเอลได้เซ็นสัมปทานให้กับบริษัทพลังงานของสหราชอาณาจักร รวมถึงอีกหลายประเทศในยุโรปเรียบร้อยแล้ว โดยให้สามารถเข้ามาสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติบริเวณฉนวนกาซาได้ พอเกิดสถานการณ์ที่สั่นคลอนเสถียรภาพในพื้นที่แถบนี้ เราจึงเห็นสหราชอาณาจักร รวมถึงอีกหลายชาติตะวันตกขยับเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองในพื้นที่บริเวณนี้มากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ดร.มาโนชญ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า “สหรัฐฯ ไม่ยอมที่จะปฏิบัติการโดยลำพัง แต่พยายามที่จะดึงเอาพันธมิตรของตัวเองเข้ามายังพื้นที่แถบนี้ด้วย ทั้งๆ ที่เยเมนเป็นประเทศขนาดเล็ก แม้จะมีความแข็งแกร่งและมีเทคโนโลยีทางอาวุธสูง แต่ถ้าเทียบกับสหรัฐฯ แล้ว ยังถือว่าเทียบชั้นกันไม่ได้ โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ จัดตั้งกองกำลังผสมเป็นเพราะ 

 

1) สหรัฐฯ อาจไม่แน่ใจว่า อาวุธที่กลุ่มฮูตีในเยเมนมีอยู่ มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน จะสามารถโจมตีเรือของสหรัฐฯ รวมถึงฐานทัพสหรัฐฯ ภายในตะวันออกกลางได้หรือไม่ เพราะในขณะนี้ฮูตีครอบครองมิสไซล์ที่สามารถยิงไปถึงอิสราเอลได้ เพราะฉะนั้น การร่วมมือกับพันธมิตรอาจจะเป็นการป้องปรามกลุ่มฮูตีในเยเมนว่า ถ้ากระทำการใดๆ ที่ร้ายแรง อาจต้องเผชิญสงครามกับอีกหลายประเทศ

 

2) การจัดตั้งกองกำลังร่วมกับพันธมิตรยังเป็นการส่งสัญญาณไปถึงอิหร่าน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนกลุ่มฮูตี รวมถึงกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา เพื่อป้องปรามไม่ให้อิหร่านกระทำการใดๆ ที่อาจจะมีส่วนทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น

 

และถ้าเราสังเกตประเทศที่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้จะพบว่า พันธมิตรของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคอื่น ขณะที่บรรดากลุ่มประเทศอาหรับที่ร่ำรวยอย่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต อาจไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมสงครามในครั้งนี้ และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาประเทศของตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศ” 

 

ดร.มาโนชญ์ ยังแสดงความเห็นอีกว่า “การที่สหรัฐฯ ตั้งกองกำลังผสมขึ้นมา เท่ากับว่าสหรัฐฯ ได้ดึงเอาตัวแสดงอีกหลายตัวเข้ามาร่วมด้วย ถ้าสมมติว่ามีการยิงถล่มกัน เรือของสมาชิกกองกำลังชาติใดชาติหนึ่งถูกโจมตี สถานการณ์ก็อาจจะลุกลามบานปลายขึ้น จนอาจกลายเป็นสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรถล่มกลุ่มฮูตีในเยเมน และอาจลากโยงไปถึงปมขัดแย้งกับอิหร่าน ขณะที่อิสราเอลเองก็มีแนวโน้มที่อาจจะบุกเลบานอน อันเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นตอนนี้ เราจึงเห็นถึงสัญญาณบางอย่างที่อาจจะยกระดับไปเป็นสงครามภูมิภาคได้ อยู่ที่ว่าหลังจากนี้การเจรจาหยุดยิงถาวรจะเกิดขึ้นได้หรือไม่”

 

นอกจากนี้ การโจมตีเรือสินค้าที่เกิดขึ้น ยังทำให้บริษัทเดินเรือและขนส่งสินค้าจำนวนมากเลี่ยงที่จะเดินทางผ่านเส้นทางดังกล่าว และอาจจำเป็นต้องไปใช้เส้นทางที่ไกลขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโลก โดยข้อมูลหอการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สินค้าที่มีการซื้อขายทั่วโลกมากกว่า 80% ขนส่งผ่านเรือเดินทะเล ส่งผลให้มูลค่าการค้าทางเรือต่อปีสูงถึง 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นราว 16% ของ GDP โลก ขณะที่เส้นทางเดินเรือแถบทะเลแดงนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นเส้นทางขนส่งทางทะเลที่มีสัดส่วนการค้าสูงถึงราว 12% ของการค้าโลก

 

ภาพ: Hyotographics / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X